ชง “อาคม”เคาะสร้างทางด่วนทีเอฟเอฟ 1.5 หมื่นล้านบาท
กทพ.ชง ‘อาคม’ เคาะแผนก่อสร้างทางด่วนทีเอฟเอฟ 1.5 หมื่นล้านบาท เร่งก่อสร้างN2 เฟสแรกควบรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล
แหล่งข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.)เปิดเผยว่าความคืบหน้าโครงการก่อสร้างทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอน N2 เฟส 1 ช่วงแยกเกษตร-วงแหวนรอบนอก วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท ช่วงวงแหวนรอบนอก-แยกเกษตร ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการทางด่วนที่ต้องเปิดระดมทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ (TFF) หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร(บอร์ด)ได้มีมติเห็นชอบให้ชะลอโครงการทางด่วน N2 ออกไปก่อนตั้งแต่ขั้นตอนการเปิดประกวดราคาไปจนถึงการก่อสร้าง เนื่องจากต้องการให้กระทรวงคมนาคมเสนอรายละเอียดการพัฒนาทางด่วนสายเหนือเป็นภาพรวมทั้งทางด่วนสายเหนือ ตอนN1 (N1) และ N2เพื่อแก้ปัญหาจราจรภายในเมืองหลวงโดยขณะนี้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)ได้ดำเนินการศึกษาแผนภาพรวมไปได้มากแล้ว ดังนั้นในสัปดาห์หน้ากทพ.จะนัดประชุมร่วมกับสนข.และกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอแนวทางเลือกในการก่อสร้างโครงการดังกล่าวให้ทันกับปัญหาจราจรในเส้นทางดังกล่าวที่ทวีความรุนแรงมากเพิ่มขึ้นเรื่อยๆอีกทั้งยังต้องเร่งเดินหน้าโครงการเพื่อให้สอดรับกับช่วงเวลาการเปิดระดมทุนTFF ทั้งนี้กทพ.ยืนยันว่าการก่อสร้างช่วงดังกล่าวสามารถดำเนินการได้ทันทีในเฟส1 โดยไม่ต้องรอผลการทบทวนความเหมาะสมภาพรวมของกระทรวงคมนาคม ขณะที่การก่อสร้างเฟส 2 ช่วงแยกเกษตร-ต่างระดับรัชวิภา นั้นขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการออกแบบรายละเอียดของโครงการควบคู่ไปกับจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมคาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมออกเอกสารเงื่อนไขการประกวดราคา(ทีโออาร์)ในปี 2562
แหล่งข่าวกล่าวต่อว่าสำหรับแนวทางที่จะเสนอให้กระทรวงคมนาคมและนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคมเป็นผู้ตัดสินใจนั้นประกอบด้วย 1.การสร้างทางด่วนร่วมกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล โดยให้รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลใช้ตอหม้อเดิมตามแนวถนนเกษตร-นวมินทร์ ส่วนทางด่วนต้องสร้างเสาตอหม้อใหม่สลับกับเสาตอหม้อเดิม ซึ่งจะออกมาในรูปแบบทางด่วนอยู่ข้างบนและรถไฟฟ้าอยู่ใต้ทางด่วน 2. การสร้างทางด่วนแยกกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล โดยใช้ตอหม้อเดิมตามแนวถนนเกษตร-นวมินทร์ เพื่อก่อสร้างทางด่วน N2 ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลจะต้องวิ่งขนานตามแนวข้างถนนมิใช่บนเกาะกลางถนน อย่างไรก็ตามหากกระทรวงคมนาคมตัดสินใจเลือกแนวทางที่ 1 จะต้องสั่งเริ่มการเปิดประมูลและการก่อสร้างไปพร้อมกันเพราะใช้พื้นที่หน้างานลักษณะเดียวกัน แต่ถ้าหากเลือกแนวทางที่ 2 ก็จะทำให้แยกย้ายกันไปก่อสร้างโครงการได้เลยเพราะพื้นที่หน้างานไม่ซ้ำซ้อนกัน ทั้งนี้กทพ.ต้องการให้ทุกฝ่ายเร่งสรุปแผนพัฒนาทางด่วนเส้นทางดังกล่าวเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กทพ.ได้ตั้งไว้คือเริ่มเปิดประมูลโครงการต้นปีหน้าและก่อสร้างโครงการภายในปี 2562นอกจากนี้โครงการดังกล่าวยังต้องเร่งเสนอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)ให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)พิจารณาเห็นชอบก่อนเสนอแบบโครงการที่ปรับปรุงแล้วเสร็จเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)อีกครั้งหนึ่งเพื่อเห็นชอบโครงการให้แล้วเสร็จทุกขั้นตอนเพื่อเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอและก่อสร้างต่อไป
ที่มา : https://www.posttoday.com/economy/555858