กสทช.แนะทางออกบีทีเอสใช้คลื่น 800-900MHzแทน
กสทช.ชี้ใช้คลื่น 2400MHz ไม่ป้องกันความเสี่ยงทำระบบล่ม แนะทางออกบีทีเอสใช้ 800-900MHz แทน
สืบเนื่องจากกรณีที่ ระบบอาณัติสัญญานเดินรถไฟฟ้าบีทีเอสเกิดเหตุขัดข้องนับตั้งแต่วันที่ 25 มิ.ย.2561 จนถึงวันที่ 26 มิ.ย. 2561 ส่งผลให้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างแพร่หลาย ว่าเกิดจากการที่คลื่น 2300MHz ของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ไปรบกวนระบบอาณัติสัญญาณรถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งภายหลังจากการทดสอบ ปรากฏว่าคลื่นดังกล่าวไม่ได้เป็นสาเหตุของการขัดข้องในการให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส
ล่าสุด ในเมื่อวันที่ 26 มิ.ย.2561 นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระบุว่า สาเหตุระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสขัดข้อง เนื่องจากมีสัญญาณไวไฟ (wifi) เข้าไปรบกวน
โดยทาง กสทช.จะต้องทำการตรวจสอบว่าเป็นไวไฟจากแหล่งไหนอีกครั้ง ทั้งนี้เนื่องจากไวไฟ ย่าน 2400MHz เป็นสัญญานที่คนทั่วไปสามารถใช้ได้ นอกจากนี้ยังสามารถใช้กับโดรน (อากาศยานไร้คนขับ) เนื่องจากคลื่นดังกล่าวเป็นคลื่นที่ กสทช.อนุญาตและจัดสรรไว้สำหรับให้ใช้แบบสาธารณะได้อยู่แล้ว จึงมีการใช้อย่างแพร่หลาย แต่หน่วยงาน/องค์กรนั้นๆ ต้องขออนุญาตการใช้ จึงมีความเป็นไปได้ว่า ระหว่างที่รถไฟฟ้าบีทีเอสวิ่งผ่านจุดที่โดนกวน ทำให้ระบบการควบคุมและสั่งการไม่เสถียร ทาง BTS จึงจำเป็นต้องหยุดเดินรถบางสถานี หรือแช่รถที่ชานชาลานานกว่าปกติ เพื่อตรวจสอบระบบการเดินรถ หรือปล่อยรถจนแน่ใจว่าปลอดภัยจริงๆ จึงจะสั่งการได้
ทั้งนี้ เนื่องจากบีทีเอสใช้คลื่น 2400MHz ควบคุมระบบเดินรถ และสั่งการระหว่างกัน โดยที่บีทีเอสไม่ได้ทำการสร้างระบบป้องกันการโดนรบกวน ซึ่งคลื่นดังกล่าวจะไม่ได้รับการคุ้มครองการใช้จาก กสทช. โดยก่อนหน้านี้ทางบีทีเอสเคยสอบถาม กสทช. และ กสทช. มีหนังสือตอบกลับไปให้รับทราบแล้ว เพราะก่อนหน้านี้ ซึ่งทางบีทีเอสรู้ดีว่าความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น กสทช.เตือนไปก่อนหน้านี้ หลังจากบีทีเอสมีหนังสือแจ้งขอใช้งานอุปกรณ์โทรคมนาคม
สำหรับแนวทางแก้ปัญหานั้น มองว่า บีทีเอสสามารถขอเปลี่ยนย่านความถี่ ไปใช้ย่านอื่นที่ไม่ใช่ 2400 MHz เพื่อควบคุมระบบเดินรถและสั่งการ ซึ่งปัจจุบัน กสทช. กันคลื่น 5 MHz ย่าน 800- 900 MHz ไว้ให้ใช้สำหรับการควบคุมรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่กำลังจะก่อสร้างอยู่แล้วบีทีเอสสามารถประสานมาขอใช้คลื่นนี่ได้ ใน 2 รูปแบบ
รูปแบบแรก คือ กทม. เป็นเจ้าของสัมปทาน กับบีทีเอส ให้ กทม. ทำเรื่องขอมารับใบอนุญาตแทนบีทีเอส กสทช. มีย่านอื่นให้เลือกใช้ตามความเหมาะสมอยู่แล้ว
รูปแบบที่ 2 คือ กระทรวงคมนาคมเจ้าของโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง ประสานมาขอใบอนุญาต เพื่ออนุญาตให้บีทีเอส ใช้ร่วม แต่อาจต้องรอคอยช่วงปี 2562 ที่โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงน่าจะแล้วเสร็จ ซึ่งการให้ กทม. หรือกระทรวงคมนาคมขอใบอนุญาต เพราะเป็นหน่วยงานที่ต้องไปกำกับบีทีเอสมอีกทีหนึ่ง
สำหรับประเทศไทยการควบคุมการเดินรถไฟฟ้า เช่น บีทีเอส รถไฟใต้ดิน (MRT) และ แอร์พอร์ตเรล ลิ้งค์ จะเน้นใช้ระบบแบบ Communication Based Train Control (CBTC) ที่ใช้สื่อสารในการปฏิบัติงานควบคุมกับรถไฟและศูนย์ควบคุม ผ่านคลื่นความถี่ 2400 MHz (WiFi ) หรือเทคโนโลยีแบบ 5G หรืออาจจะไปใช้เครือข่าย GSM-R ซึ่งป็นที่นิยมของการควบคุมระบบรถไฟความเร็วสูงในหลายประเทศ หรือคลื่นย่าน 900 MHz ส่วนคลื่นโทรศัพท์ที่ทั่วโลกและไทยนิยมใช้คือ คลื่นย่าน 800 / 900/ 1800 และ 2100 MHz
ด้าน นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า กรณีที่รถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว ขัดข้องบ่อยก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการ
โดย BTS แถลงว่า สาเหตุเกิดจากรถไฟฟ้าถูกคลื่นสัญญาณวิทยุจากตึกสูงที่อยู่ในแนวเส้นทางการเดินรถไฟฟ้ารบกวน ทำให้ระบบอาณัติสัญญาณการเดินรถขัดข้อง นั้น สำนักงาน กสทช. ได้ส่งรถตรวจสอบการใช้งานคลื่นความถี่วิทยุและการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ออกวิ่งตรวจสอบสัญญาณตั้งแต่เวลา 7.00 น. ของวันที่ 26 มิ.ย. 2561 เพื่อตรวจสอบหาสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้รถไฟฟ้าสาย สีเขียว ขัดข้อง หลังจากตรวจสอบเสร็จสำนักงานฯ จะนำผลการตรวจสอบและบทสรุปต่างๆ มาวิเคราะห์ว่าการที่รถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว ขัดข้องบ่อยนั้นเกิดจากสาเหตุอะไร และจะส่งรถตรวจสอบออกไปตรวจสอบสัญญาณตลอดในช่วงนี้ จากนั้น สำนักงาน กสทช. จะเชิญ BTS ,DTAC และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ประมาชุมเพื่อหารือร่วมกันถึงมาตรการและแนวทางในแก้ไขปัญหาต่อไป
“สำนักงาน กสทช. พร้อมให้ความร่วมมือในการตรวจสอบเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ลุล่วง เพื่อให้ประชาชนไม่ได้รับความเดือดร้อนในการเดินทาง และการใช้ชีวิตประจำวัน” นายฐากร กล่าว