ชำแหละ5ขั้วการเมือง จำแนกกลุ่มใครฝักใฝ่'ทักษิณ'-หนุน'บิ๊กตู่'นั่งเก้าอี้นายก?
เจาะ 5 ขั้วการเมืองล่าสุด ก่อนเลือกตั้งต้นปี’62 กลุ่มเพื่อไทยใต้ปีก ‘ทักษิณ’ ลำบากโดน ‘พลังดูด’ อื้อ หัวหน้ายังไม่ชัด ‘คุณหญิงหน่อย’ ถูกคลื่นใต้น้ำต้านอยู่มาก กลุ่ม ปชป. รอยร้าว ‘นายหัวชวน’ vs ‘กำนันสุเทพ’ ยังลึก กลุ่มพลังประชารัฐ-รวมพลังประชาชาติไทย ชัดดัน ‘บิ๊กตู่’ นั่งเก้าอี้อีกสมัย ‘ภูมิใจไทย’ ร่วมด้วย
พลันที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ‘มือฉมังกฎหมาย’ แห่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ยืนยันกับกลุ่มการเมือง ที่เชิญมาพูดคุยเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2561 ที่ผ่านมาที่สโมสรกองทัพบก ถ.วิภาวดี-รังสิต ว่า การเลือกตั้งอาจเกิดขึ้นได้ในวันที่ 24 ก.พ. 2562 และช้าที่สุดคือวันที่ 5 พ.ค. 2561 โดยมี 5 ปัจจัยหลักที่จะนำไปสู่การเลือกตั้ง ได้แก่ การรักษาความสงบเรียบร้อยในพระราชพิธีสำคัญ ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองโดยรวม การเปลี่ยนผ่านของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รอร่างกฎหมายลูก ส.ส. และ ส.ว. ประกาศใช้ และการเลือกตั้งท้องถิ่นเกิดขึ้นเมื่อไหร่
นับเป็นความชัดเจนครั้งแรกในการกำหนดวันเลือกตั้ง นับตั้งแต่ คสช. ยึดอำนาจรัฐประหารรัฐบาล ‘นารีขี่ม้าขาว’ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 หรือกว่า 4 ปีที่แล้ว
ดีกรีการเมืองที่กำลังร้อนแรงด้วยเรื่อง ‘พลังดูด’ ของกลุ่มพรรคการเมือง-ขั้วอำนาจทั้ง ‘เก่า’ และ ‘ใหม่’ จึงอาจร้อนแรงขึ้นไปอีก เพราะเท่ากับว่า รัฐบาลชัดเจนที่จะจัดการเลือกตั้งขึ้นอย่างแน่นอนแล้วในปี 2562 หลังจาก ‘ลึกลับดำมืด’ มายาวนาน
ภายใต้คำสั่ง คสช. หลายฉบับ และ ‘กฎหมายลูก’ ฉบับใหม่ คือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการจัดตั้งพรรคการเมือง พ.ศ.2560 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2560 รวมถึงร่างกฎหมายอีก 2 ฉบับ ที่เพิ่งทูลเกล้าฯถวาย ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มาของสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561
ส่งผลให้การเลือกตั้งที่ (อาจ) เกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2562 มีความยากลำบากมากยิ่งขึ้น เนื่องจากบรรดานักการเมืองอาชีพ เล็งเห็นว่า มีความยุ่งยากซับซ้อนหลายอย่าง โดยเฉพาะการทำ ‘ไพรมารีโหวต’ ที่มีหลายพรรค โดยเฉพาะพรรคขนาดกลาง-เล็ก ไม่พร้อม ประสานเสียงขอให้ ‘งดเว้น’ จะใช้ในการเลือกตั้งคราวนี้ไปก่อน (อ่านประกอบ : อธิบายสูตร 3-3-5 ฉบับ‘วิษณุ’ เปิด 5 ปัจจัยนำไปสู่การเลือกตั้ง, ม.44ปลดล็อคประชุมพรรค-เลือกตั้งช้าสุด พ.ค.62 นักการเมืองต้านไพรมารีโหวต)
อย่างไรก็ดีสิ่งที่น่าสนใจคือ ‘กลุ่มการเมือง’ ในห้วงเวลานี้ มีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้นกว่าการเลือกตั้งในช่วง 10 ปีหลังของเหตุการณ์วิกฤติการเมืองที่ผ่านมา
ใครเป็นใครกันบ้าง ? สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เรียบเรียงได้ ดังนี้
กลุ่มแรก กลุ่มพรรคเพื่อไทย และอดีตนักการเมืองใต้ปีก ‘ทักษิณ ชินวัตร’
แน่นอนว่า พรรคเพื่อไทย คือแคนดิเดต ‘เสียงข้างมาก’ ในสภา เนื่องจากยังได้บารมีทางการเมืองจากนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้อื้อฉาวที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยกลุ่มนี้มีการสนับสนุนจากกลุ่มนักธุรกิจรุ่นเก่าหน้าเดิมตั้งแต่สมัยนายทักษิณ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และกุมอำนาจในพรรคไทยรักไทย สืบทอดมาถึงช่วง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวนายทักษิณ นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี
บรรดาแกนนำพรรคเพื่อไทยหลายราย ยังคงเชื่อมั่นว่า พรรคเพื่อไทยจะได้เก้าอี้ ส.ส. เป็นเสียงข้างมาก เนื่องจากฐานเสียงสำคัญในภาคเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือ ทางพรรคยังกุมไว้ได้ ดังนั้นจึงเชื่อมั่นว่า พรรคเพื่อไทยจะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล
แต่ระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ โดยใช้ ‘บัตรเดียว สองระบบ’ คือกาบัตรเดียว แต่เป็นการเลือก ส.ส. พ่วงพรรคการเมือง ระบบนี้ค่อนข้างซับซ้อน โดยผลชี้ขาดคะแนนเสียงจะกระจุกตัวอยู่ที่ ส.ส. เขตเป็นหลัก ก่อนจะนำคะแนนทั่วประเทศมาเฉลี่ยกันเพื่อจัดลำดับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
แน่นอนว่า หากมองผิวเผินจะส่งผลกระทบต่อพรรคเล็ก แต่เมื่อพิจารณาจากพรรคเพื่อไทย ที่กุมฐานเสียงส่วนใหญ่แค่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง และตอนบน รวมถึงภาคกลางบางส่วน ดังนั้นการส่ง ส.ส. ลงพื้นที่เขตเลือกตั้งในภาคกลาง และภาคใต้ ที่ไม่ใช่ฐานเสียงพรรคตัวเอง จึงเป็นเรื่องยากลำบากมากที่จะชนะ และได้คะแนนนำมาคิดคำนวณในระบบเลือกตั้งแบบใหม่นี้
มีสูตรคาดคะเนกันว่า พรรคเพื่อไทย อาจใช้ ‘คอนเนคชั่น’ กับบรรดา ‘พรรคขนาดกลาง-ขนาดเล็ก’ ในพื้นที่ต่าง ๆ ที่ยึดกุมฐานเสียงตามจังหวัดใหญ่ ๆ เพื่อช่วยเพิ่มฐานที่มั่นในสภา แต่สูตรนี้ ปัจจุบันมีการคุยกัน ‘หลังไมค์’ หรือไม่ ยังไม่ปรากฏข้อมูลออกมา
อย่างไรก็ดี ณ ปัจจุบัน บรรดากลุ่มทุนบางแห่ง และอดีต ‘บิ๊กเนม’ นักการเมืองที่เคย ‘ซุกตัว’ อยู่ใต้ปีก ‘ทักษิณ’ มาก่อน ได้เริ่มถูก ‘พลังดูด’ จาก พรรคการเมืองใหม่พรรคหนึ่ง เพื่อมาฐานค้ำยันการต่อท่ออำนาจให้รัฐบาลทหารชุดนี้แล้ว ดังนั้นต้องรอดูผลต่อไปว่า ‘พลังดูด’ ครั้งนี้ จะสามารถดึงนักการเมืองออกจากพรรคเพื่อไทยไปกี่ราย และจะเหลือนักการเมืองที่ยังจงรักภักดีต่อพรรคกี่ราย
ส่งผลให้ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ต้องเปิดปากกับบรรดาลูกพรรคว่า ไม่กังวลที่อดีต ส.ส. บางรายถูก ‘พลังดูด’ นัยว่าได้เปิดทางคนรุ่นใหม่เข้ามา แต่ในใจลึก ๆ เชื่อได้ว่า ‘ทักษิณ’ ย่อมหวั่นไหวไม่น้อย เพราะอดีต ส.ส. ที่ถูกดูดไปต่างเป็น ‘บิ๊กเนม’ ในพื้นที่ฐานเสียงสำคัญเกือบทั้งสิ้น ?
ประเด็นสำคัญของพรรคเพื่อไทยคือ ยังคงไม่มีบุคคลใดขึ้นมาการันตีตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนใหม่แบบ 100% แม้ว่าที่ผ่านมา ‘คุณหญิงหน่อย’ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีหลายสมัยยุครัฐบาลนายทักษิณ และเป็นนักการเมืองอีกรายที่นายทักษิณไว้วางใจ จะออกมามีบทบาทนำพรรค แต่ยังต้องเสี่ยงเผชิญกับความแตกแยกภายในพรรคอีก
เพราะมีนักการเมืองหลายราย ยังไม่ไว้ใจฝีมือ ‘คุณหญิงหน่อย’ นอกจากนี้ในช่วงที่พรรคระส่ำระส่ายและมีปัญหา ‘คุณหญิงหน่อย’ กลับไม่เคยมาสนใจใยดีพรรค ปล่อยให้เชิญชะตากรรมอย่างเดียวดาย แทบจะเคยพลิกขั้วไปอยู่กับ ‘ลายพราง’ ด้วยซ้ำ แต่กลับอยากมากุมบังเหียนพรรคในช่วงที่สถานการณ์ ‘นิ่ง’ แล้ว ?
กลุ่มที่สอง พรรคประชาธิปัตย์ และรอยร้าวความสัมพันธ์ในพรรค
พรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยนับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองทางการเมืองเมื่อปี 2475 กำลังคุกรุ่นไปด้วย ‘ศึกภายใน’ แบ่งเป็น 2 ขั้วใหญ่ ๆ ได้แก่ ขั้วของ ‘นายหัวชวน’ นายชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาพรรคฯ ที่มี ‘เด็กในคาถา’ อย่าง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคฯ อดีตนายกรัฐมนตรี กับกลุ่มนักการเมือง ‘ชนชั้นธุรกิจ’ เป็นแนวร่วม
เปิดหน้าชนกับ ‘ขั้วกำนันสุเทพ’ ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคฯ แม้จะลาออกจากพรรคไปตั้งแต่ปี 2556 และขณะนี้เปิดตัวเป็นหนึ่งในสมาชิกพรรครวมพลังประชาชาติไทยแล้วก็ตาม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘อิทธิพล’ ของ ‘ลุงกำนัน’ ยังคงมีอยู่เยอะ โดยเฉพาะนักการเมือง ‘บิ๊กเนม’ ในพื้นที่ภาคใต้ที่เป็นฐานเสียงใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์ ต่างอยู่ใต้กำกับดูแลของ ‘ลุงกำนัน’ เป็นจำนวนมาก
ข้อเท็จจริงนี้เห็นได้จาก แม้ ‘หน้าม่าน’ นายสุเทพ จะทำทีหันหลังให้กับ ‘พรรคสีฟ้า’ ไปแล้วก็ตาม และยืนยันว่าไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวใด ๆ กับพรรคอีก แต่ในช่วง 2 ปีหลังสุด เต็มไปด้วยข่าวซุบซิบว่า ‘ลุงกำนัน’ ต้องการ ‘ฮุบพรรค’ ออกมาเป็นระลอก แต่ไม่มีใครกล้ายืนยันข้อเท็จจริงใด ๆ อย่างเป็นทางการ จนกระทั่งนายสุเทพออกมาจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ว่า รวมพลังประชาชาติไทย โดยรวมอดีต ‘บิ๊กเนม’ ทางการเมืองมาไว้หลายราย เช่น นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นต้น
และการจัดตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทยของ ‘ลุงกำนัน’ และเครือข่าย ‘ซูเปอร์คอนเนคชั่น’ นี้ เชื่อเหลือเกินว่า จะสร้างความปั่นป่วนให้กับพรรคประชาธิปัตย์เป็นแน่แท้ เพราะพื้นที่ภาคใต้ที่เป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์มาทุกยุค ทุกสมัย จะต้องถูกพรรครวมพลังประชาชาติไทยแย่งโควตาเก้าอี้ ส.ส. ไปหลายตัวแน่นอน
สำคัญที่สุดกลุ่มอดีตแกนนำ กปปส. ที่เปิดหน้าร่วมสู้กับ ‘ลุงกำนัน’ ขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ จนนำไปสู่การรัฐประหารโดย คสช. เกือบทุกรายต่างไม่ลาออกมา ‘ล่มหัวจมท้าย’ กับนายสุเทพ แต่ยืนยันอยู่พรรคประชาธิปัตย์ต่อ ตรงนี้มีการวิเคราะห์กันว่า เพื่อเป็นฐานให้ ‘ลุงกำนัน’ ที่ยังเหลืออิทธิพลในพรรคไว้ชี้ขาดตอนเลือกนายกรัฐมนตรีคนต่อไป
เพราะพรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่จัดเป็นพรรคการเมืองขนาดกลาง และถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นพรรคการเมืองที่อาจสนับสนุน ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน และหัวหน้า คสช. ได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอีกสมัย การมีฐานเสียงทั้งจากพรรคเอง และบางส่วนในพรรคประชาธิปัตย์ ย่อมการันตีเก้าอี้ให้ ‘บิ๊กตู่’ ได้ค่อนข้างแน่นอน
และอาจทำให้พรรคประชาธิปัตย์ ‘แห้ว’ อีกสมัยก็เป็นไปได้สูง แม้ว่าอาจวางตัวนายกรัฐมนตรีให้ชื่อ ‘นายหัวชวน’ อีกคำรบก็ตาม ?
กลุ่มที่สาม พรรคพลังประชารัฐ การรวมตัวของอดีตกลุ่มทุนใต้ปีกทักษิณ ในนาม ‘สามมิตร’
พรรคพลังประชารัฐ เป็นพรรคที่กำลังโดดเด่นมากในขณะนี้ เพราะมีการเปิดประเด็นว่าเกิดขึ้นจากความร่วมมือของ ‘3 ส.’ ได้แก่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ และอดีตรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลนายทักษิณเช่นกัน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตบิ๊กรัฐมนตรียุคนายทักษิณ และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มมัชฌิมา และอดีตแกนนำกลุ่มวังน้ำยมในพรรคไทยรักไทย ซึ่งทั้งหมดล้วนเคยเป็น ‘ทุนใหญ่-บิ๊กเนม’ ใต้ปีก ‘ทักษิณ’ ทั้งสิ้น
และพรรคนี้เองที่ถูกนักการเมืองจากฝ่ายพรรคเพื่อไทย เปิดโปงว่าใช้ ‘พลังดูด’ บรรดาอดีต ส.ส. ชื่อดัง ของพรรคเพื่อไทยไปเข้าร่วม โดยอาศัย ‘ซูเปอร์คอนเน็คชั่น’ ในอดีตของกลุ่ม 3 ส. หรือ ‘สามมิตร’ เบื้องต้นมีการเปิดเผยชื่ออดีต ส.ส. ที่ ‘พลิกขั้ว-ย้ายข้าง’ แล้วกว่า 50 ราย โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือตอนบน พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคกลางตอนบน ไม่เว้นแม้แต่ใจกลางจังหวัดเสื้อแดงอย่าง ‘เชียงใหม่’ ก็ถูกพรรคนี้ ‘ดูด’ ไปแล้วเช่นกัน ?
พรรคพลังประชารัฐ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อีกเช่นกันว่า เป็นพรรคที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขยายฐานอำนาจมาค้ำยันให้รัฐบาลทหาร และเปิดช่องต่อท่อให้ ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอีกสมัย อย่างไรก็ดีฝ่ายรัฐบาลออกมายืนยันว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้
กลุ่มที่สี่ พรรคอนาคตใหม่ ‘จึงรุ่งเรืองกิจ’ แตก 2 ขั้ว สลัดภาพ ‘ทักษิณ’ สร้างความก้าวหน้า
พรรคอนาคตใหม่ เป็นอีกพรรคการเมืองหนึ่งที่น่าจับตาเป็นอย่างมากในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น เพราะหัวหน้าพรรคคือนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ทายาทธุรกิจหมื่นล้าน ‘กลุ่มไทยซัมมิท’ ที่บริหารงานโดยคนตระกูล ‘จึงรุ่งเรืองกิจ’ โดยเชิญนักวิชาการหัวก้าวหน้าอย่าง นายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตนักวิชาการด้านกฎหมายกลุ่ม ‘นิติราษฎร์’ มาเข้าร่วม พ่วงด้วยนักวิชาการ นักเคลื่อนไหว-นักกิจกรรม รวมถึงอดีตสื่อมวลชน ฟอร์มทีม ‘คนรุ่นใหม่’ มาเข้าร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก เพื่อขับเคลื่อนนโยบายใหม่ ๆ ที่ดูก้าวหน้า
ภารกิจแรกของพรรคอนาคตใหม่คือต้องการ ‘สลัดทิ้ง’ ภาพของนายทักษิณ ที่ผูกโยงกับตระกูล ‘จึงรุ่งเรืองกิจ’ ออกไปให้ได้ เห็นได้จากนายธนาธร ที่ลาออกจากกรรมการบริษัทในเครือ ‘ไทยซัมมิท’ เพื่อกระโจนลงสนามการเมือง ท่ามกลางกระแสข่าวว่ากันว่า เกิดรอยร้าวขึ้นระหว่างนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดานายธนาธร กับ ‘คุณอา’ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ด้วย ทำให้ ‘จึงรุ่งเรืองกิจ’ จำเป็นต้อง ‘เดินคนละทาง’
นายธนาธร จึงจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่ ตามความฝันที่เป็นนักกิจกรรมมาตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษา ส่วนนายสุริยะ ไปร่วมกับ ‘สามมิตร’ ตามการ ‘ดีล’ ของคนใน ‘บิ๊กรัฐบาล’
ประเด็นที่น่าสนใจคือ หากพรรคอนาคตใหม่ ได้ ส.ส. จำนวนหนึ่ง จะ 'จับมือ' กับพรรคใด จัดตั้งรัฐบาล เพราะเป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอนว่า ในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ พรรคอนาคตใหม่จะได้เก้าอี้ ส.ส. ข้างมาก และไม่ต้องร่วมมือกับพรรคใดเพื่อจัดตั้งรัฐบาล โดยที่ผ่านมาแกนนำพรรคอนาคตใหม่ ยัง 'แบะท่า' ไม่ปริปากพูดประเด็นนี้ บอกแค่เพียงว่าจะสนับสนุนนายธนาธร เป็นนายกรัฐมนตรีเท่านั้น ?
กลุ่มที่ห้า พรรคขนาดกลางอื่น ๆ
พรรคขนาดกลางที่หลงเหลือในปัจจุบัน เหลือไม่กี่พรรค ที่มีบทบาทความเคลื่อนไหวในทางการเมือง เช่น พรรคพลังชล ที่ว่ากันว่าการเลือกตั้งคราวหน้าอาจโหวตตามใจ ‘ลายพราง’ เนื่องจากผู้บริหารในพรรคมาทำงานร่วมกับรัฐบาลทหารแล้ว
ส่วนพรรคภูมิใจไทยที่ฉากหน้าอยู่ในการกำกับดูแลของ ‘เสี่ยหนู’ นายอนุทิน ชาญวีรกุล หัวหน้าพรรคฯ และบิ๊กบอส ‘ซิโนไทย’ ส่วนหลังฉากเชื่อกันว่ายังอยู่ในการกำกับดูแลของนายเนวิน ชิดชอบ อดีตนักการเมืองชื่อดัง เบื้องต้นมีการปล่อยข่าวในแวดวงการเมืองว่า หากยังคงมีความขัดแย้งเกิดขึ้นอยู่ ‘เสี่ยหนู’ พร้อมนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ‘คนกลาง’ ให้ และมีการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ อย่างไรก็ดีประเด็นนี้ค่อย ๆ เงียบหายไป แต่มีประเด็นใหม่ซุบซิบกันว่า พรรคภูมิใจไทย อาจโหวตเลือก ‘บิ๊กตู่’ ให้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอีกสมัย จากการดีลกันระหว่าง ‘เนวิน ชิดชอบ’ และ ‘สุเทพ’ ที่เคยทำสำเร็จมาแล้วเมื่อปี 2551 ‘เนวิน’ ยอมโผจากอ้อมอก ‘นายใหญ่’ จัดตั้งรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์ ดันนายอภิสิทธิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งหมดทั้งมวลล้วนมาจากการ ‘ซูเปอร์ดีล’ ของนายสุเทพทั้งนั้น
ส่วนพรรคขนาดกลางที่เหลือ ยังคงไม่มีความชัดเจนว่าจะผลักดันใครเป็นนายกรัฐมนตรี เช่น พรรคชาติไทยพัฒนา หรือพรรคชาติพัฒนา แต่ที่ผ่านมาบทบาทของพรรคเหล่านี้ มักเป็นรอดูท่าทีก่อนว่าใครมีวี่แววเป็น ‘ผู้ชนะ’ เพื่อจะได้เข้าไปร่วมงานได้อย่าง ‘ถูกจังหวะ’ และรอ ‘หารตำแหน่ง’ รัฐมนตรี เหมือนอย่างในอดีตที่แล้วมา ?
ยังไม่นับพรรคเล็ก ๆ ที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะ เช่น พรรคประชาชนปฏิรูป ที่มีนายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เป็นแกนนำ รวมถึงพรรคพลังธรรมใหม่ นำโดย นพ.วีระ มาศฉมาดล ร่วมกับอดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯรุ่นแรกบางส่วน และอดีตสมาชิกพรรคพลังธรรมยุค พ.ต.จำลอง ศรีเมือง เป็นหัวหน้าพรรคฯ ส่วนพรรคเพื่อนไทย ที่อยู่ระหว่างการยื่นจัดตั้งโดยแกนนำคนเสื้อแดง จ.สกลนคร อย่าง นายสิระ พิมพ์กลาง ที่คาดว่าสนับสนุนการเคลื่อนไหวตามพรรคเพื่อไทย
นี่คือ 5 ขั้วการเมืองล่าสุด ก่อนที่จะเกิดการเลือกตั้งในช่วงต้นปี 2562 มีการสนับสนุนบุคคลขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อย่างน้อย 5 ราย ได้แก่
กลุ่มพรรคเพื่อไทย พรรคเพื่อนไทย กลุ่ม นปช. และนักการเมืองสายเสื้อแดง สนับสนุนคุณหญิงสุดารัตน์ นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี แต่ยังไม่ 100%
กลุ่มพรรคประชาธิปัตย์ บางส่วนสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ หรือนายชวน เป็นนายกรัฐมนตรี บางส่วนจากกลุ่ม กปปส. เก่า อาจสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี
กลุ่มพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังธรรมใหม่ และพรรคประชาชนปฏิรูป จุดยืนชัดเจนว่า สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี
กลุ่มพรรคอนาคตใหม่ สนับสนุนนายธนาธร เป็นนายกรัฐมนตรี
กลุ่มพรรคขนาดกลาง-เล็กที่เหลือ รอดูท่าทีว่าฝั่งไหนจะชนะ และร่วมสังฆกรรมทางการเมืองกับฝั่งนั้น
กล่าวให้ถึงที่สุดคือ 5 ขั้วการเมืองข้างต้น แยกเป็น 2 ฝ่ายได้ชัดเจน คือ กลุ่มหนึ่งไม่เอาทักษิณ สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ อีกกลุ่มนิยมทักษิณ ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ เว้นแต่พรรคอนาคตใหม่ ที่ยังแบะท่า บอกเบื้องต้นแค่ว่า จะสนับสนุนนายธนาธรเป็นนายกฯเพียงรายเดียว แต่ไม่ปริปากพูดว่า จะร่วมกับพรรคใดจัดตั้งรัฐบาลบ้าง ?
ส่วนใครจะเป็นผู้ชนะ ต้องรอดูเกมกันต่อไป ยาว ๆ ?