สำรวจ 4 ปี คสช. ปูนบำเหน็จกำลังพล 2,463 นาย ก่อนจ่อชงเรื่องขออนุมัติใหม่ 600 นาย?
“...ในกรณีนี้ไม่ได้มีการเปิดเผยรายชื่อว่า คสช.ปูนบำเหน็จให้กับนายทหารยศใดบ้าง แต่การเลื่อนนอกโควตาพิเศษ 2 ขั้น ต้องเป็นนายทหารที่มียศสูงในระดับหนึ่งแล้ว เมื่อได้พิเศษ 2 ขั้น รวมกับปกติที่จะปรับขึ้นปีละ 2 ขั้นอยู่แล้ว เท่ากับว่าทหารที่ได้รับการเลื่อนขั้นพิเศษ จะได้เลื่อนขั้นปีเดียว 4 ขั้น ซึ่งปกติไม่ควรทำแบบนี้ เพราะจะส่งผลเสียต่อระบบการเงินการคลัง...”
เป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่กำลังถูกจับตามอง!
เกี่ยวกับข่าวการเลื่อนขั้นบำเหน็จ (2 ขั้น) และเลื่อนขั้นเงินเดือนกรณีพิเศษ 2 ขั้น (นอกเหนือโควตาปกติ) ให้กับกำลังพลที่ปฏิบัติงานในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ครั้งใหม่ จำนวน 600 นาย โดยล่าสุด พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาปฏิเสธข่าวไปแล้วว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังไม่เห็นชอบข้อเสนอที่ถูกชงมาจากสำนักงานเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่อย่างใด
หลังจากที่ในการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา สำนักงานเลขาธิการคสช. เสนอวาระดังกล่าวให้ครม.พิจาณาอนุมัติ เติ่มโบนัสให้กำลังพลอีก 600 นาย แต่สื่อนำเสนอข่าวก่อนการประชุม ทำให้ ครม.ยอมถอยตีกลับให้ สำนักงานเลขาธิการคสช.ไปปรับลดจำนวนลง
ไม่ว่าข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร เบื้องต้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า การเสนอเรื่องปูนบำเหน็จให้กับกำลังพลที่ปฏิบัติงานใน คสช. นั้น เคยมีการเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมครม. ผ่านความเห็นชอบวาระดังกล่าวมาแล้วกว่า 3 ครั้ง
ครั้งแรก เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2558 ครม.อนุมัติโควตาบำเหน็จประจำปี (2 ขั้น) ให้แก่ข้าราชการที่ปฏิบัติงานให้กับคสช. เพิ่มจากยอดบำเหน็จปกติ โดยใช้เงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีของส่วนราชการต้นสังกัดในโอกาสแรกก่อน หากไม่เพียงพอก็ให้เบิกจ่ายจากงบกลาง
ซึ่งสำนักเลขาธิการคสช. มีกรอบอัตราที่สามารถพิจารณาบำเหน็จประจำปี เพื่อตอบแทนผลการปฏิบัติงานได้ 37,762 นาย แบ่งเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในสำนักงานผู้บังคับบัญชาสำนักงานเลขาธิการคสช. และหน่วยงานส่วนกลาง 2,348นาย และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในกองกำลังรักษาความสงบแห่งชาติ (กกล.รส.) 35,414 นาย
โดยให้ปูนบำเหน็จปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ร้อยละ 3 ของบุคลากรทั้งหมด จึงมีกำลังพลคสช.ได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือนกรณีพิเศษ 2 ขั้น (นอกเหนือโควตาปกติ) ไปแล้ว 1,033 นาย โดยให้เหตุผลกับหน่วยงานราชการอื่นว่า ต้องการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้วยความทุ่มเทและเสียสละ ในสถานการณ์ที่มีความตรากตรำ และยากลำบากตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย
ทั้งนี้ ในการพิจารณาวาระดังกล่าว ไม่มีหน่วยงานราชการใดทำความเห็นคัดค้านแม้แต่หน่วยงานเดียว และทุกหน่วยงานราชการทำความเห็นสนับสนุนทุกหน่วยงาน อาทิ คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) คณะกรรมการพิจารณาเงินเดือนแห่งชาติ (กงช.)
สอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่มีหน้าที่ควบคุมงบประมาณแผ่นดิน ทั้งกระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ ทำความเห็นเสนอที่ประชุมครม.ในทิศทางเดียวกันว่า เนื่องจากผู้ปฏิบัติงานในคสช. ต้องรับผิดชอบภารกิจต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ ซึ่งต้องปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง และยากลำบากตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย รวมทั้งบูรณาการการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านต่างๆของคสช. ด้วยความทุ่มเทและเสียสละ ให้บรรลุตามเจตนารมณ์ของ คสช.
ดังนั้นเพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน จึงเห็นสมควรที่ ครม. จะพิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการการพิจารณาบำเหน็จความชอบประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2558 เป็นกรณีพิเศษ ให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานใน คสช.
ท้ายสุดครม.มีมติอนุมัติเลื่อนขั้นบำเหน็จ (2 ขั้น) และเลื่อนขั้นเงินเดือนกรณีพิเศษ 2 ขั้น (นอกเหนือโควตาปกติ) ให้กับกำลังพลที่ปฏิบัติงานในคสช. ไปแบบไม่มีใครรับรู้ข้อมูล เพราะถูกปิดเป็นความลับ
นอกจากนี้ สำนักเลขาธิการคสช. นำมาเสนอวาระเลื่อนขั้นบำเหน็จ (2 ขั้น) และเลื่อนขั้นเงินเดือนกรณีพิเศษ 2 ขั้น (นอกเหนือโควตาปกติ) ให้กับกำลังพลที่ปฏิบัติงานในคสช. เพิ่มเติ่มอีกเมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2559 จำนวน 709 นาย และเมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2560 จำนวน 721 นาย โดยครม.ได้อนุมัติได้ 2 ครั้ง
ดังนั้น เมื่อรวมกำลังพลคสช.ที่ได้รับการปูนบำเหน็จ 3 ชั้น เป็นกรณีพิเศษทั้ง 3 ครั้ง จะมีกำลังพลของคสช.ที่ได้รับโบนัสไปแล้วทั้งหมด 2,463 นาย
นายวันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ วิทยาลัยรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิศราว่า โดยปกติฐานเงินเดือนของทหารยศ พันตรี-พันเอก จะอยู่ 30,000-50,000 บาท ไม่รวมเงินค่าตำแหน่งและเบี้ยเลี้ยง ส่วนทหารยศพลตรี-พล.อ.อยู่ที่ 50,000-80,000 บาท ไม่รวมเงินค่าตำแหน่งและเบี้ยเลี้ยง ทำให้เงินเดือนทหารเกือบเทียบเท่ากับบริษัทเอกชน
“ในกรณีนี้ไม่ได้มีการเปิดเผยรายชื่อว่า คสช.ปูนบำเหน็จให้กับนายทหารยศใดบ้าง แต่การเลื่อนนอกโควตาพิเศษ 2 ขั้น ต้องเป็นนายทหารที่มียศสูงในระดับหนึ่งแล้ว เมื่อได้พิเศษ 2 ขั้น รวมกับปกติที่จะปรับขึ้นปีละ 2 ขั้นอยู่แล้ว เท่ากับว่าทหารที่ได้รับการเลื่อนขั้นพิเศษ จะได้เลื่อนขั้นปีเดียว 4 ขั้น ซึ่งปกติไม่ควรทำแบบนี้ เพราะจะส่งผลเสียต่อระบบการเงินการคลัง”
"หากจะปรับเลื่อนขั้นพิเศษควรพิจารณาจากข้าราชการที่เสียสละจริงๆ ให้ปลัดกระทรวงเสนอรายชื่อแล้วคัดเลือกมาจะเป็นกำลังใจในการทำงานของข้าราชการได้มาก แต่การทำแบบนี้ยิ่งทำให้ข้าราชการที่ไม่ใช่ทหารเขาจะน้อยใจ" นายวันวิชิตระบุ
ขณะเดียวกันมีรายงานว่า ตั้งแต่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ปรับเปลี่ยนแจกจ่ายแฟ้มวาระครม.ใหม่ จากเดิมที่จะแบ่งเป็น 3 ช่วงเวลาคือ วันพุธช่วงเย็น วันศุกร์ช่วงเย็น และวันจันทร์ช่วงเย็น เพื่อให้รัฐมนตรีมีเวลาได้ศึกษาข้อมูลทั้งความเห็นสนับสนุน และความเห็นแย้ง ขอหน่วยงานต่างๆ
โดยพล.อ.ประยุทธ์ ให้ลดระยะเวลาการแจกจ่ายวาระครม.ลงเหลือเพียง 2 ช่วงเวลา คือ วันศุกร์ช่วงเย็น และวันจันทร์ช่วงเย็น โดยสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) จะส่งแฟ้มเอกสารทั้งหมดให้กับรัฐมนตรีถึงที่ทำงานและบ้าน เพื่อป้องกันไม่ให้วาระการประชุมครม.หลุดออกไปปรากฏตามหน้าสื่อ
ดังนั้น ข่าวคราวเกี่ยวกับวาระการเสนอเลื่อนขั้นบำเหน็จ (2 ขั้น) และเลื่อนขั้นเงินเดือนกรณีพิเศษ 2 ขั้น (นอกเหนือโควตาปกติ) ให้กับกำลังพลที่ปฏิบัติงานในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ครั้งใหม่ ว่าจะมีจำนวนลดลงจาก 600 นายหรือไม่ หรือไม่ลดเลย
สาธารณชนคงต้องรอรับฟังการแถลงข่าวผลประชุมครม. เพียงช่องทางเดียวเท่านั้น
หมายเหตุ : อินโฟทหารจาก http://oknation.nationtv.tv/blog/nidnhoi/2013/12/19/entry-1