ตรวจรับงานก่อนสร้างเสร็จ! เปิดผลสอบ สตง.มัดโครงการประปา-ไฟฟ้าชุมชนกาญจนบุรี-ส่ง ป.ป.ช.แล้ว
"....การที่ผู้รับจ้างดำเนินการก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จและไม่เป็นไปตามแบบรูปรายการ แต่ผู้ควบคุมงานมีการจัดทำรายงานการควบคุมงานว่างานแล้วเสร็จตามสัญญา คณะกรรมการตรวจการจ้าง ตรวจรับงานจ้างโดยระบุว่างานถูกต้องตามรูปแบบและรายการประกอบของสัญญาจ้างทุกประการ พร้อมทั้งเสนอเรื่องการเบิกจ่ายเงินตามสัญญา เป็นการปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ซึ่งกลุ่มตรวจสอบสืบสวนได้รับไว้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปแล้ว..."
การดำเนินงานโครงการนำร่องการนำเทคโนโลยีพลังงานทดแทนมาใช้ในระบบสูบน้ำ เพื่อผลิตน้ำประปาหมู่บ้าน และผลิตไฟฟ้าสำหรับชุมชน ของ สำนักงานพลังงานจังหวัดกาญจนบุรี สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน กระทรวงพลังงาน วงเงินหลายล้านบาท ที่ถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบปัญหาผู้บริหารระดับสูงในสำนักงานพลังงานจังหวัดกาญจนบุรี และเจ้าหน้าที่อีก 2 ราย จัดทำเอกสารอันเป็นเท็จเพื่อเบิกจ่ายเงินเดินทางไปราชการ ติดตามงานโครงการ จำนวนเงิน 92,520 บาท ที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำข้อมูลมาเสนอไปแล้ว (อ่านประกอบ : ยันไปดูงานจริงแต่ สตง.ไม่เชื่อ! เปิดชื่อบิ๊กพลังงานกาญจนบุรี-พวก ถูกสอบเบิกเงินเท็จ 9.2 หมื่น) ยังถูกตรวจสอบพบปัญหากรณีคณะกรรมการตรวจรับงานเซ็นรับงานก่อน ทั้งที่การดำเนินงานโครงการก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จด้วย
สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบรายงานผลการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการนำร่องการนำเทคโนโลยีพลังงานทดแทนมาใช้ในระบบสูบน้ำ เพื่อผลิตน้ำประปาหมู่บ้าน และผลิตไฟฟ้าสำหรับชุมชน ของของ สตง. มีการระบุว่า การดำเนินงานโครงการนี้ ตามสัญญาจ้างเลขที่ 327/2557 ลงวันที่ 31 ก.ค.2557 สำนักงานพลังงานจังหวัดกาญจนบุรี ได้ว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) ทีที แคมป์ กรู๊ป เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างโครงการนำร่องการนำเทคโนโลยีพลังงานทดแทนมาใช้ในระบบสูบน้ำเพื่อผลิตน้ำประปาและผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับชุมชน จำนวน 4 แห่ง ประกอบด้วย สถานีสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ พร้อมถังบรรจุน้ำและระบบท่อ จำนวน 2 แห่ง คือ หมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 9 ตำบลลุ่มสุ่ม อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี และระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังน จำนวน 2 แห่ง คือ หมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 4 ตำบลปิล๊อก อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี แต่จากการตรวจเอกสาร พบว่า ผู้รับจ้างส่งมอบงานงวดสุดท้าย เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2557 และคณะกรรมการตรวจรับงานจ้างได้ตรวจรับงานงวดสุดท้ายเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2557 โดยแสดงความเห็นว่าถูกต้องตามรูปแบบและรายการประกอบของสัญญาจ้างทุกประการ
ขณะที่จากการตรวจสังเกตการณ์พื้นที่ก่อสร้าง เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2560 พบว่า การก่อสร้างสถานีสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ยังไม่แล้วเสร็จตามแบบรูปรายการละเอียดและข้อกำหนดในสัญญา ดังนี้
1. ไม่มีการเชื่อมต่อท่อส่งน้ำ (PE) ระหว่างจุดพักน้ำจุดที่ 8 กับจุดพักน้ำจุดที่ 9 ลอดถนนทางหลวงหมายเลข 3343 สายเก่าลงเขา ซึ่งเป็นพื้นที่รับผิดชอบของแขวงการทาง
2. จุดสิ้นสุดโครงการซึ่งท่อส่งน้ำต้องส่งน้ำเข้าหอถังสูงซึ่งเป็นถังจ่ายน้ำประปาของหมู่บ้านไม่มีการต่อเชื่อมท่อส่งน้ำเข้าสู่หอถังสูงแต่อย่างใด
3. มีการเปลี่ยนแปลงแบบรูปรายการ โดยในจุดเริ่มต้นโครงการ มีการย้ายถังพักน้ำไปติดตั้งที่จุดพักน้ำจุดที่ 1
ทั้งนี้ สตง.ระบุว่า การที่ผู้รับจ้างดำเนินการก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จและไม่เป็นไปตามแบบรูปรายการ แต่ผู้ควบคุมงานมีการจัดทำรายงานการควบคุมงานว่างานแล้วเสร็จตามสัญญา คณะกรรมการตรวจการจ้าง ตรวจรับงานจ้างโดยระบุว่างานถูกต้องตามรูปแบบและรายการประกอบของสัญญาจ้างทุกประการ พร้อมทั้งเสนอเรื่องการเบิกจ่ายเงินตามสัญญา เป็นการปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ซึ่งกลุ่มตรวจสอบสืบสวนได้รับไว้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปแล้ว
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า งานว่าจ้างก่อสร้างตามสัญญาเลขที่ 327/2557 ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2557 ระหว่างสำนักงานพลังงานจังหวัดกาญจนบุรี กับ หจก.ทีที แคมป์ กรุ๊ป ระบุวงเงินว่าจ้างไว้ทั้งสิ้น 6,350,000 บาท กำหนดให้ดำเนินการก่อสร้างงานจำนวน 4 แห่งประกอบด้วย
1. ก่อสร้างสถานีสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ พร้อมถังบรรจุน้ำและระบบท่อ จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ หมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 9 ตำบลลุ่มสุ่ม อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี วงเงิน 5,600,000 บาท
2. ก่อสร้างระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังน้ำ จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ หมู่ที่ 2 และ หมู่ที่ 4 ตำบลปิล๊อก อำเภอทองผาภูมิจังหวัดกาญจนบุรี วงเงิน 750,000 บาท
เบื้องต้น โครงการกำหนดเป้าหมายว่า เมื่อมีการก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถช่วยให้ ประชาชนในพื้นที่หมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 9 ตำบลลุ่มสุ่ม อำเภอไทรโยค ได้มีน้ำสำหรับอุปโภค บริโภคเพียงพอในราคาที่เหมาะสม โดยมีเป้าหมายให้กับประชาชนในหมู่ที่ 2 จำนวน 446 ครัวเรือน 1,256 คน และหมู่ที่ 9 จำนวน 502 ครัวเรือน 1,202 คน ส่วนประชาชนในพื้นที่หมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 4 ตำบลปิล็อค อำเภอทองผาภูมิ ได้มีไฟฟ้าใช้ในชีวิตประจำวัน โดยมีเป้าหมายให้กับชุมชนในหมู่ที่ 2 จำนวน 541 ครัวเรือน 970 คน และหมู่ที่ 4 จำนวน 397 ครัวเรือน 1,111 คน
อย่างไรก็ตาม สตง.ตรวจสอบพบว่า เมื่อโครงการก่อสร้างเสร็จสิ้นประชาชนในพื้นที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากโครงการให้บรรลุวัตถุประสงค์โครงการได้ รัฐต้องสูญเสียงบประมาณในการบริหารประเทศ เป็นจำนวนเงิน 6,350,000 บาท เกิดความไม่คุ้มค่าและเสียโอกาสในการที่จะนำเงินงบประมาณไปแก้ไขปัญหาในพื้นที่ที่เดือดร้อนและมีความจำเป็น
ทั้งนี้ มีรายงานข่าวแจ้งว่า สตง. ได้ส่งรายงานผลการตรวจสอบโครงการนี้ ไปให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รับไปสอบสวนตามขั้นตอนกฎหมายแล้ว