พระไทยในสหรัฐต้านให้อำนาจ'นายกฯ'ตั้ง มส.-เจ้าคณะใหญ่-เจ้าคณะภาค
เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2561 เว็บไซต์อะลิตเติ้ลบุ๊ดด่ะดอทคอม ซึ่งเป็นเว็บของคณะสงฆ์วัดไทยลาสเวกัส ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้ขึ้นแถลงการณ์ “หมายเหตุ อะลิตเติ้ลบุ๊ดด่ะ” ในหัวข้อ “กรณีกฤษฏีกาจะดำเนินการแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ภายใน 7 วัน” มีเนื้อหาระบุว่า
จากการที่คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ออกประกาศ เรื่อง การรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ซึ่งระบุว่า รัฐบาลไทย ได้ผ่านมติ ครม.ขอแก้ไข พ.บ.คณะสงฆ์ ตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายนปีนี้ที่ผ่านมา โดยเน้นไปที่แก้ไขในหมวดมหาเถรสมาคม และเจ้าคณะผู้ปกครองอื่นๆ ได้แก่ เจ้าคณะใหญ่ และเจ้าคณะภาค โดยจะให้มีการ "เซตซีโร" คือ ล้างหน้าไพ่ใหม่หมด ดังนี้
1.กรรมการมหาเถรสมาคมโดยสมณศักดิ์ หรือโดยตำแหน่ง มาจากสมเด็จพระราชาคณะทั้ง 8 รูป รวมทั้งสมเด็จพระสังฆราชอีก 1 ก็เป็น 9 เมื่อได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชและสมเด็จพระราชาคณะ ก็พ่วงตำแหน่งกรรมการ มส.ด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง
แต่จากสภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน พบว่า สมเด็จพระราชาคณะแต่ละรูปนั้น ล้วนแต่มีพรรษายุกาลมาก บางรูปอายุยืนถึง 90 หรือ 100 ปี ทีนี้เมื่อเป็นโดยตำแหน่ง แต่ไม่สามารถไปประชุมมหาเถรสมาคมได้ ก็เลยทำให้องค์ประกอบมหาเถรสมาคมบกพร่อง เพราะมีกรรมการ แต่ทำงานไม่ได้ และรัฐบาลก็ไม่สามารถตั้งกรรมการเพิ่มเติมได้ เพราะ พ.บ.คณะสงฆ์ กำหนดจำนวนเอาไว้เพียงเท่านั้น
2.กรรมการมหาเถรสมาคมโดยแต่งตั้ง มาจากพระราชาคณะ ชั้นธรรมขึ้นไป ซึ่งสมเด็จพระสังฆราช ทรงแต่งตั้งจากทั้งสองนิกาย ฝ่ายละ 6 รูป รวมเป็น 12 รูป ซึ่งส่วนใหญ่ก็ยังสามารถทำงานได้ดี แต่มีปัญหาว่า มักจะมีการ "สืบทอดอำนาจ" แต่งตั้งคนในสายของตนเองเข้ามาครองอำนาจ มิได้สรรหาจากพระสงฆ์สามเณรทั่วประเทศ สังเกตได้ว่า วัดใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็น วัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชบพิธ วัดสระเกศ วัดปากน้ำ ฯลฯ จะมีกรรมการมหาเถรสมาคมมากกว่า 1 รูป แถมยังเป็นติดต่อกันอย่างยาวนาน
3.เจ้าคณะใหญ่ ฝ่ายธรรมยุตนั้นมีเพียงรูปเดียว แต่ปกครองพระในนิกายธรรมยุตทั่วประเทศ แต่ของมหานิกายนั้นมี 4 รูป แบ่งประเทศไทยออกเป็น 4 ภาค หรือ 4 หน ได้แก่ หนกลาง หนเหนือ หนตะวันออก (อีสาน) และหนใต้ ส่วนนี้ มีปัญหาว่ามีการแต่งตั้งบุคคลไม่เหมาะสมกับตำแหน่ง เช่น พระในภาคเหนือ ได้เป็นเจ้าคณะใหญ่หนใต้ พระในภาคใต้ได้เป็นเจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก เป็นต้น ส่งผลให้การบริหารพระศาสนามีปัญหา เพราะไม่รู้ปัญหาในท้องถิ่นนั้นๆ
4.เจ้าคณะภาค ซึ่งก็ถือว่าเป็นพระสังฆาธิการในระดับสูง เป็นเหมือนผู้ตรวจราชการกระทรวง แต่ภายหลังมานั้น ตำแหน่งนี้ถูกพระใน มส.มองเห็นเป็นเพียง "บันได" จึงเอาตำแหน่งไว้เพื่อไต่เต้าขึ้นเป็น "กรรมการมหาเถรสมาคม" รวมทั้งการดำรงตำแหน่งในต่างถิ่นฐาน ทำให้ทำงานไม่สอดคล้องกับสภาพของวัฒนธรรมท้องถิ่นนั้นๆ อีกด้วย
ใช่แต่เท่านั้น กรรมการมหาเถรสมาคมแทบจะทุกรูป ล้วนแต่มีตำแหน่ง "ซ้ำซ้อน" กันมากมาย ไล่ตั้งแต่ กรรมการ มส. เจ้าคณะหน เจ้าคณะภาค เจ้าอาวาส อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงฆ์ ฯลฯ ยังไม่นับตำแหน่งอิสระอีกมากมาย ราวกะเทวดา
สรุปปัญหาอยู่ที่ 1.สุขภาพร่างกาย 2.เล่นเส้นเล่นสาย 3.ดำรงตำแหน่งซ้ำซ้อน 4.เป็นคนต่างถิ่น ไม่คุ้นชินกับปัญหา ทั้งสี่ประการนี้ จึงต้องมีการชำระสะสาง "โครงสร้าง" ของมหาเถรสมาคม ไล่ตั้งแต่กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะหน และเจ้าคณะภาค ส่วนโครงสร้างระดับล่างนั้น ยังเห็นว่าไม่เสียหายอะไร คงต้องคงเอาไว้ก่อน
รัฐบาลไทย "ขีดกรอบ" ปัญหาของคณะสงฆ์ไทยไว้ตรงนี้ ก็ถือว่ามองไกลกว่าที่ "เรา-อะลิตเติ้ลบุ๊ดด่ะ" เคยเรียกร้องให้ปรับปรุงเฉพาะ "มหาเถรสมาคม" เท่านั้น
แต่จากการที่รัฐบาลขอแก้ไขให้ "การแต่งตั้งและถอดถอน กรรมการมหาเถรสมาคม-เจ้าคณะใหญ่-เจ้าคณะภาค" ต้องเป็น "พระราชอำนาจ" เท่านั้น ฟังดูก็ดูดี เพราะต่อไปนี้ พระสงฆ์ทุกระดับ จะไม่มีโอกาสในการเลือก หรือแต่งตั้งกรรมการ มส. เจ้าคณะใหญ่ และเจ้าคณะภาค อีกต่อไป แต่ปัญหาจะมาถึงข้อที่ว่า "แล้วใครจะเป็นผู้เลือกและนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงโปรดแต่งตั้ง"
ยกตัวอย่าง กรณีการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งรัฐบาลได้แก้ไข พ.บ.คณะสงฆ์ มาตรา 7 ให้เป็นพระราชอำนาจโดยสมบูรณ์ แต่ความจริงแล้ว ยังมีเรื่องของ "การรับสนองพระบรมราชโองการ" เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย คือนายกรัฐมนตรีเป็นทั้งผู้ทูลเกล้าฯ และผู้รับสนองพระบรมราชโองการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช เรียกว่าอำนาจอยู่ในมือนายกรัฐมนตรี แต่เพียงผู้เดียว เพราะพระเจ้าอยู่หัวคงจะไม่ทรงลงมาพิจารณาด้วยพระองค์เอง และมีพระบรมราชโองการลอยมาโดยที่ไม่มีการทูลเกล้าฯ
ถ้ามองให้ตลอดก็จะเห็นว่า ถ้ารัฐบาลสามารถแก้ไข พ.บ.คณะสงฆ์ ได้ตามที่กฤษฎีกาประกาศออกมานี้สำเร็จ อำนาจในการเสนอตั้งพระสังฆาธิการระดับสูงในพระพุทธศาสนา นับตั้งแต่เจ้าคณะภาค ไปถึงสมเด็จพระสังฆราช ก็จะเป็นของ..นายกรัฐมนตรี แต่เพียงผู้เดียว
ปัจจุบันนี้ นายกรัฐมนตรีเป็นชาวพุทธ และเป็นพุทธสายกลาง คือทำบุญได้ทุกวัด ไม่เป็นลูกศิษย์วัดใดวัดหนึ่งโดยเฉพาะ ก็ถือว่าน่าไว้วางใจในระดับหนึ่ง แต่..แต่ถ้าในอนาคต นายกรัฐมนตรีเป็นศิษย์สายวัดใดวัดหนึ่ง เช่น ธรรมกาย สันติอโศก ก็อาจจะใช้อำนาจนายกรัฐมนตรี นำความขึ้นทูลเกล้า "ยกครูบาอาจารย์" ให้เป็นใหญ่ในวงการสงฆ์
ยังมิรวมถึงปัญหาข้อที่ว่า "ถ้านายกรัฐมนตรีนับถือศาสนาอื่น มิใช่พุทธศาสนิกชน" แต่กลับมีอำนาจในการเสนอตั้งสมเด็จพระสังฆราช ไปจนถึงเจ้าคณะภาค ถึงตอนนั้นจะทำอย่างไร
เพราะในร่างแก้ไขที่กฤษฎีกาเปิดเผยออกมานั้น "ไม่มีคณะกรรมการสรรหา" แต่ให้เป็นพระราชอำนาจโดยสมบูรณ์ ซึ่งทุกอย่างจะตกอยู่ที่ "นายกรัฐมนตรี" แต่เพียงผู้เดียว
รัฐบาลอาจจะอ้างว่า "ก็ใช้หลักการเดียวกับการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชนั่นแหละ" แต่ดูไปแล้วมันจะเยอะเกินไป เพราะในการตั้งสมเด็จพระสังฆราชนั้น ชาวพุทธทั้งประเทศล้วนแต่จับจ้องมองด้วยความสนใจ จึงเชื่อว่าจะเป็นกลไกช่วยตรวจสอบการใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรีไปในตัว แต่สำหรับกรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่ และเจ้าคณะภาค ร่วมๆ 100 ตำแหน่ง เหล่านี้ ถือว่ามีความหลากหลายมาก จะให้นายกรัฐมนตรีทำบัญชีขึ้นทูลเกล้าแต่เพียงผู้เดียวนั้น มองยังไงก็อันตราย
ดังนั้น เรา-อะลิตเติ้ลบุ๊ดด่ะ ดอทคอม และคณะสงฆ์วัดไทยลาสเวกัส และวัดในเครือ ในประเทศสหรัฐอเมริกา จึงไม่เห็นด้วยที่จะให้อำนาจแก่ "นายกรัฐมนตรี" ในการเสนอนาม "สมเด็จพระสังฆราช-กรรมการมหาเถรสมาคม-เจ้าคณะใหญ่-เจ้าคณะภาค" แต่เพียงผู้เดียว เพราะนั่นจะทำให้นายกรัฐมนตรี เป็นสังฆราชอีกตำแหน่งหนึ่ง เพราะเมื่อมีอำนาจเสนอตั้งตั้งแต่สมเด็จพระสังฆราชลงมา ถามว่า สมเด็จพระสังฆราช จะทรงมีอำนาจอะไร ก็จะกลายเป็นเพียง "เจว็ด" หรือรูปปั้นบนศาลเจ้าเท่านั้น เพราะลำพัง "สมเด็จพระสังฆราช" ทรงแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคม-เจ้าคณะใหญ่-เจ้าคณะภาค เรายังไม่ไว้วางใจ แล้วจะไว้วางใจนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวได้อย่างไร
เราจึงขอเสนอให้มี "คณะกรรมการสรรหากรรมการมหาเถรสมาคม-เจ้าคณะใหญ่-เจ้าคณะภาค" ไว้ในการแก้ไข พรบ.คณะสงฆ์ ฉบับนี้ด้วย