สุดคึก! แต่งชุดมลายูวันอีฎิลฟิตริ กับบรรยากาศรายอแนที่ชายแดนใต้
แม้ว่าวันฮารีรายอ (วันเฉลิมฉลองหลังสิ้นสุดเดือนรอมฎอน) จะตรงกับวันศุกร์ที่ 15 มิ.ย.61 ที่ผ่านมา แต่บรรยากาศการเฉลิมฉลองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่สิ้นสุด พี่น้องชาวไทยมุสลิมยังคงเดินทางไปเยี่ยมญาติพี่น้องกันอย่างต่อเนื่อง และท่องเที่ยวกับครอบครัวกันทั้งสัปดาห์
เป็นที่น่าสังเกตว่าในปีนี้มีผู้คนหันมาสวมใส่เสื้อผ้าแบบมลายูกันมากขึ้น เพราะในพื้นที่มีการรณรงค์ให้หันมาสวมใส่ชุดมลายู เพื่อร่วมสืบสานเครื่องแต่งกายตามแบบฉบับวัฒนธรรมดั้งเดิมของดินแดนแห่งนี้
มูฮัมหมัดรุสดี เช็คฮารูน ผู้ริเริ่มจัดทำแคมเปญรณรงค์สวมชุดมลายูในวันฮารีรายาอ เล่าว่า ปกติแล้วชาวไทยมุสลิมในภาคใต้มักสวมใส่เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของวัฒนธรรมต่างชาติที่แผ่อิทธิพลเข้ามา เช่น "ชุดโต๊ป" ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของชาวอาหรับ หรือ "ชุดปากี" เป็นวัฒนธรรมของชาวปากีสถาน ทุกๆ ปีที่ผ่านมามีน้อยคนมากที่จะสวมใส่ชุดมลายูในวันฮารีรายอ ตนจึงทำแคมเปญรณรงค์ให้ผู้คนสวมใส่เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายมลายูในวันฮารีรายอขึ้น เพื่อสืบสานเรื่องวัฒนธรรมการแต่งกายของชาวมลายูในภาคใต้ให้คงอยู่สืบไป
กิจกรรมสำคัญคือการประกวดภาพถ่ายโพสต์ลงเฟสบุ๊ค ติดแฮชแท็ก "จินตาบาจูมลายู" #CintaBajuMelayu เพื่อลุ้นรับของรางวัลจากร้านค้าต่างๆ ที่ร่วมสนับสนุน รวมมูลค่ากว่า 30,000 บาท ส่งผลให้บรรยากาศวันฮารีรายาปีนี้เต็มไปด้วยผู้คนที่หันมาสวมใส่เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายมลายู นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมชื่อเดียวกันที่โรงแรมปาร์ควิว อ.เมืองปัตตานี ด้วย ซึ่งปรากฏว่ามีคนแต่งกายด้วยชุดวัฒนธรรมพื้นถิ่นดั้งเดิมมาร่วมงานอย่างหนาแน่น
"ปีนี้คุยกันว่าต้องทำให้จริงจัง ทำให้สังคมรู้จักและรับรู้ว่าชุดมลายูเป็นสิ่งสำคัญ มีทีมงานมาช่วยกัน มีคนมาร่วมงานร่วมกิจกรรมเยอะมาก ถือเป็นการพบปะสังสรรค์และร่วมสื่อสารให้คนไทยมุสลิมทั่วประเทศร่วมกันร้องเพลงสุขสันต์วันฮารีรายอไปพร้อมๆ กัน" มูฮัมหมัดรุสดี บอก
ในอดีตสุภาพบุรุษมลายูจะสวมชุด "ตือโละบลางอ" ซึ่งมีลักษณะเป็นเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว และมีผ้าคาดเอวลวดลายวิจิตรงดงาม เรียกว่า "ผ้าซัมปิน" และสวมหมวกทรงแข็งสีดำเรียกว่า "ซอเกาะ" ส่วนสตรีจะสวม "ชุดกุรง" ซึ่งเป็นเสื้อคลุมยาวถึงเข่า สวมทับกระโปรงยาว และสวมผ้าคลุมศีรษะสีสันสดใสสวยงาม เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในวันฮารีรายออีฎิ้ลฟิตริ ซึ่งเป็นวันตรุษอิสลามหลังสิ้นสุดการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน
นายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา อดีตประธานรัฐสภา เป็นหนึ่งในผ้รู่วมสนับสนุนการรณรงค์สวมชุดมลายู เขาเผยความรู้สึกว่า ปลื้มใจที่เห็นคนรุ่นใหม่หันมาใส่ใจการสืบสานวัฒนธรรมมลายู จึงขอเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์ เพราะวัฒนธรรมลายูจะไม่มีวันสูญหาย หากช่วยกันรักษาและสืบสานไว้ให้ยั่งยืน
นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ อดีต ส.ส.นราธิวาหลายสมัย และแกนนำกลุ่มวาดะห์ที่มีข่าวตั้งพรรคประชาชาติ บอกระหว่างไปร่วมกิจกรรมรณรงค์ว่า สนับสนุนไอเดียของคนหนุ่มที่มีสำนึกในตัวตนของตนเอง มนุษย์ทุกเชื้อชาติมีวัฒนธรรมสำคัญ คือ ภาษา การแต่งกาย และอาหาร ขอให้ทำดีเช่นนี้ต่อไป
ด้าน อัตฟาล อาหะมะ และ บังบาส อาลีบาบา สองหนุ่มที่เข้าร่วมงาน บอกว่า รู้สึกประทับใจกับการรวมพลังเช่นนี้ โดย บังบาส ซึ่งเป็นมุสลิมจากกรุงเทพฯ ได้ไปร่วมงานฮารีรายอที่ปัตตานี และเห็นการแต่งกายแบบมลายู เห็นการร่วมแรงร่วมใจของเยาวชนคนที่รักในวัฒนธรรมมลายู ก็สนับสนุนให้มีการจัดงานแบบนี้ต่อไป
"ประทับใจมาก มุสลิมที่กรุงเทพฯไม่มีแบบนี้ เป็นอัตลักษณ์ที่ควรส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ให้มากกว่านี้ เพื่อให้เป็นชุดที่สามารถสวมใส่ได้ในทุกสถานการณ์ ไม่จำเป็นต้องรอวันรายอ ต้องช่วยกันรณรงค์ให้มากๆ" บังบาส กล่าว
หลังจากวันรายอปอซอ (ฮารีรายอหลังสิ้นสุดเดือนรอมฎอน) เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ที่ชายแดนใต้มีการถือศีลอดต่ออีก 6 วัน จากนั้นจึงมีรายอ (เฉลิมฉลอง) อีกครั้ง เรียกว่า "รายอแน" หรือ "รายอ 6" ซึ่งเป็นประเพณีที่อยู่คู่สังคมชายแดนใต้มานานนับศตวรรษ และน่าจะเป็นแห่งเดียวในโลก โดยวันรายอแนปีนี้ตรงกับวันที่ 22 มิ.ย.61
ในความเป็นจริง "วันอีด" หรือ "วันตรุษ" ในศาสนาอิสลามมีเพียง 2 วัน คือ วันอีฎิ้ลฟิตริ (เฉลิมฉลองหลังสิ้นสุดเดือนรอมฎอน) และ วันอีฎิ้ลอัฎฮา (เฉลิมฉลองหลังประกอบพิธีเมกกะ หรือ มักกะฮ์) ส่วนวันรายอแนของชายแดนใต้ คือ ช่วงวันอีฎิ้ลฟิตริ ชาวบ้านมักจะทำอาหารคาวหวานไว้เลี้ยงฉลองกันไม่มาก เพราะในวันรุ่งขึ้น (หลังจากวันอิฎิ้ลฟิตริไปแล้ว) ชาวบ้านมักจะถือศีลอดสุนัตเซาวาลติดต่อกันไปจนครบ 6 วัน จึงทำอาหารเลี้ยงกันเต็มที่ภายหลังจากถือศีลอด 6 วันไปแล้ว เรียกว่า "รายอ 6" หรือ "รายอแน" บ้างก็เรียก "รายออานัม"
วันรายอแน จะมีกิจกรรมเยี่ยมกุโบร์ (สุสาน) ถือเป็นสิ่งที่ศาสนาส่งเสริมให้ปฏิบัติ จะกระทำในช่วงเวลาไหนก็ได้ เพื่อทำความสะอาดกุโบร์ ขอดุอาให้บรรพบุรุษ รับประทานอาหารร่วมกัน เยี่ยมเยียนญาติพี่น้อง เพราะส่วนใหญ่ยังเยี่ยมเยียนในวันอิฎิ้ลฟิตริไม่ครบ วันนี้จึงเป็นวันรื่นเริงอีกวันของพี่น้องมุสลิมชายแดนใต้
------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1-3 บรรยากาศงานจินตาบูจูมลายู
4 กิจกรรมในวันรายอแน