เล็งแก้สัญญาใหม่ค่าเช่าแผง "ตลาดนัดจตุจักร" คิดราคาตามทำเล
รฟท. เล็งแก้สัญญาค่าเช่าแผงค้าตลาดนัดจตุจักรใหม่ แบ่งตามทำเล ร้านมุมอับจ่ายถูกลง 10-15% ด้านสมาคมผู้ประกอบการค้าตลาดนัดจตุจักรเสนอผู้ค้าปูผ้าขายหลัง 2 ทุ่มแก้ปัญหาแย่งลูกค้า
เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 21 มิ.ย. ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ผศ.ดร.ศิริพงศ์ พฤทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารโครงการพัฒนาที่ดิน รฟท. และประธานกรรมการดำเนินงานบริหารจัดการพื้นที่ตลาดนัดจตุจักร กล่าวระหว่างแถลงข่าวข้อร้องเรียนและแนวทางพัฒนาตลาดนัดจตุจักร 4.0 ภายใต้การริหารงานของ รฟท. ว่า ข้อร้องเรียนเรื่องค่าเช่าแผงตลาดนัดจตุจักรแพงนั้น การเรียกเก็บค่าเช่าแผงละ 3,157 บาท ต่อพื้นที่ 5 ตารางเมตร ต่อเดือน หรือเฉลี่ยวันละ 100 บาท เรียกจากผู้ค้าเหมาะสมแล้ว เพราะเป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งผู้ค้าไม่ได้ใช้พื้นที่เพียงสัปดาห์ละ 2 วัน แต่ผู้ค้าใช้พื้นที่เก็บกองสินค้าตลอด 30 วัน จัดแต่งร้านไว้ใช้งานและเป็นเจ้าของในกรรมสิทธิ์โดยตลอด ทั้งนี้สัญญาเดิมจะหมดใน ก.พ. ปี 62 ซึ่งค่าเช่าในปัจจุบันผู้ค้าที่มีกว่า 10,000 ร้านค้า 30 โครงการ พื้นที่ 70 ไร่ อาจจะคิดว่าแพง เพราะเก็บเท่ากันทั้งหมด บางร้านพื้นที่ติดริมถนน และอยู่ด้านใน ซึ่งในสัญญาใหม่จะเก็บค่าเช่าโดยแบ่งเป็นโซนๆ หากเป็นร้านที่อยู่ในด้านในหรือมุมอับ ราคาค่าเช่าจะถูกลง 10-15% จากราคาปัจจุบันค่าเช่าแผงละ 3,157 บาทต่อเดือน ตอนนี้ให้คณะทำงานพิจารณาเรื่องต่อสัญญาและปรับราคาค่าเช่า คาดว่านำเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. ภายในสิ้นปีนี้
ผศ.ดร.ศิริพงศ์ กล่าวต่อว่า ส่วนปัญหาที่จอดรถไม่เพียงพอ เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 61 ได้ออกระเบียบเข้มงวดให้ผู้ค้าทำตามสัญญา หากนำเก้าอี้มาตั้งหน้าร้านและนำสินค้ามากองจะจัดเก็บให้เรียบร้อย รวมทั้งจัดเก็บค่าจอดรถภายในตลาดที่จอดได้ 700 คัน แบ่งเป็น 1 ชม. ฟรี 2 ชม. 20 บาท และ 6 ชม. ขึ้นไปเก็บ 400 บาท จากเดิมเก็บแค่ 100 บาท ทำให้ปัญหาลดลง ทั้งนี้เตรียมจัดทำระบบจอดรถอัตโนมัติ Smart Parking เป็นอาคาร 8 ชั้น วงเงินลงทุน 40 ล้านบาท อยู่ระหว่างร่างขอบเขตของงาน (ทีโออาร์) คาดว่าแล้วเสร็จ 1-2 เดือน และสร้างแล้วเสร็จภายในปีนี้ เมื่อแล้วเสร็จสามารถรองรับรถได้ 150 คัน ส่วนค่าจอดเบื้องต้นไม่ต่างจากเดิม คือ 1 ชม. ฟรี 2 ชม. 25-30 บาท มีจอดรถภายนอกตลาดนัดจตุจักรมีพื้นที่ให้บริการจอดรถจากเอกชนรองรับได้ 2,000 คัน และมีรถเมล์ไฟฟ้าวิ่งให้บริการภายในตลาดนัดจตุจักรลดการนำรถเข้ามาจอดภายในตลาดด้วย
ผศ.ดร.ศิริพงศ์ กล่าวอีกว่า ส่วนมีผู้บุกรุกวางแผงขายของบังทางเข้า-ออก นั้น รฟท. มาตรการชัดเจนในเรื่องการขายสินค้าในพื้นที่ ตีเส้นกำหนดขอบเขตชัดเจน ซึ่งเจ้าหน้าที่เข้มงวดอยู่แล้ว และต้องมีใบอนุญาตจาก รฟท. ส่วนหากหมายถึงผู้ค้าที่เป็นรถเข็นตอนนี้มี 82 ราย ที่เป็นผู้ค้าเก่าที่ได้รับการส่งมอบมาจาก กทม. และได้รับใบอนุญาตก่อนรับช่วงต่อด้วย ซึ่งให้ตั้งขายในจุดเดิม อยู่ในเขตพื้นที่กำหนดและห้ามเคลื่อนย้ายจุดเด็ดขาด ส่วนผู้ค้าตลาดนักจตุจักรกว่า 1,000 ราย ที่มีเรื่องฟ้องร้องศาลปกครองว่าค่าเช่าแพงและ รฟท. ไม่มีอำนาจบริหารตลาดนัดจตุจักรนั้น ทำให้ผู้ค้าเหล่านี้เป็นหนีกว่า 500 ล้านบาท ปัจจุบันผู้ค้าบางรายทยอยชำระหนี้แล้ว 200 ล้านบาท หากผู้ค้าเหล่านี้จะไม่จ่ายศาลปกครองสูงสุดได้ระบุให้ รฟท. ยกเลิกสัญญาได้ ซึ่งปัญหาหนี้ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เช่าค่าเช่าแพง แต่เป็นการเช่าช่วงต่อที่แพง ซึ่งมีมากกว่า 80% ส่วนนี้ รฟท. ต้องตรวจสอบสัญญา พยายามตรวจสอบหนี้สินให้เสร็จก่อน ทั้งนี้ในสัญญาใหม่จะออกระเบียบกฎเกณฑ์การเช่าช่วง เช่น ให้สามารถเช่าช่วงได้ แต่จะมีค่าธรรมเนียมและต้องเปลี่ยนชื่อผู้ค้าเป็นปัจจุบัน ไม่ใช่ปล่อยให้เช่าต่อ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อราคาค่าสินค้าที่นำมาขายในราคาแพงขึ้น
ผศ.ดร.ศิริพงศ์ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเที่ยวตลาดนัดจตุจักรมากกว่า 4 แสนคนต่อวัน ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีนมากสุด รองลงมาคือมาเลเซีย และญี่ปุ่นตามลำดับ ทำให้เงินสะพัดในไทยมากกว่า 500 ล้านบาทต่อเดือน ทั้งนี้มีแผนปรับปรุงภูมิทัศน์ อาทิ ป้าย และเพิ่มจุดถ่ายรูป ทางประตู 1, 2 และ 3 ดึงดูดนักท่องเที่ยว รวมทั้งพัฒนาแอพพิลเคชั่น จตุจักรไกด์ (Chatuchak Guide) เพื่ออำนวยความสะดวกค้นหาตำแหน่งร้านค้าและประหยัดเวลา รวมทั้งจ่ายเงินค่าชำระสินค้าผ่านคิวอาร์โค้ด สู่ยุค 4.0 สังคมที่ไร้เงินสด และมีบริการ Chatuchak Free WiFi และเปิดกิจกรรมให้นานาชาติแสดงออกศิลปะ อย่างไรก็ตามสำหรับข้อร้องเรียนจากผู้ค้าตลาดนัดจตุจักร
ด้าน น.ส.สุกัญญา มีบุญ อุปนายกสมาคมผู้ประกอบการค้าตลาดนัดจตุจักร กล่าวว่า ตอนนี้รายได้ลดลงจากเดิมมากจากเมื่อก่อนมีรายได้ 1 แสนบาทต่อ 2 วัน (เสาร์-อาทิตย์) แต่ตอนนี้เศรษฐกิจไม่ดีทำให้กระทบการค้าขาย รายได้ลงลงเหลือ 2-3 หมื่นบาทต่อ 2 วัน ดังนั้นสัญญาเช่าที่จะหมด ก.พ. 62 ตนเห็นด้วยที่ รฟท. จะต่อสัญญากับผู้ค้าโดยพิจารณาค่าเช่าตามทำเล และยังคงค่าเช่า 3,157 บาทต่อเดือนต่อล็อกเหมือนเดิม ส่วนผู้ค้าที่ปูผ้าขาย ตอนนี้ รฟท. กำหนดให้ผู้ค้าปูผ้ามาขายช่วงเวลา 19.00 น. ส่วนมากผู้ค้าปูผ้าจะนำสินค้าเสื้อผ้าและเครื่องประดับ ซึ่งผู้ค้าในตลาดนัดจตุจักร 70% ที่เป็นผู้ประกอบการสินค้าเหล่านี้ ซึ่งทำให้ผู้ค้าปูผ้าแย่งลูกค้า ทั้งนี้จ่ายค่าเช้าปูผ้าแค่ 100 บาทต่อวัน ขายไม่กี่ ชม. สามารถทำรายได้มากกว่าผู้ค่าที่มีร้านประจำ ซึ่งต้องการเสนอให้ขยายระยะเวลาให้ผู้ค้าที่ปูผ้านำสินค้ามาขายช่วง 20.00 น. เป็นต้นไป และสามารถอยู่ร่วมกันได้ นอกจากนี้ต้องการให้มีจุดรับส่งรถแท็กซี่ภายในตลาดจตุจักร เนื่องจากปัจจุบันลูกค้าที่มาท่องเที่ยวส่วนมากเป็นชาวต่างชาติเวลาช็อปปิ้งเสร็จ จะนั่งรถไฟฟ้าไม่สะดวก เพราะมีสินค้าจำนวนมาก ซึ่งเวลามาโบกเรียกแท็กซี่ก็ไม่รับ ปฏิเสธ และคิดค่าโดยสารแบบเช่าเหมา ไม่กดมิเตอร์ ทำให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ หากมีจุดรับส่งแท็กซี่จะทำให้ช่วยอำนวยความสะดวกให้ลูกค้า
ที่มาข่าว: https://www.dailynews.co.th/economic/650555