ปปง.อายัดเงินสด 98 ล. คดีขนจาก จ.หนองคาย ไป สปป.ลาว
ปปง.แถลงมีมติให้ยึดและอายัดเงินสด 98 ล้านบาท ศุลกากรยึดได้คาด่านหนองคายขณะขนไปลาว อีกคดียึดทรัพย์ผู้ต้องหาอ้างตัวเป็นหลานสาวพระนางเจ้าท่านหนึ่ง ตุ๋นเงินกลุ่มเกษตรกร มูลค่ากว่า 4 ล้านบาท
พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์ วีริยาสรร รองเลขาธิการฯ รักษาราชการแทนเลขาธิการ ปปง. กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 11/2561 เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.61 คณะกรรมการธุรกรรม ได้มีมติให้ยึดและอายัดทรัพย์สิน ในคดีที่สำคัญ ดังนี้ 1.รายท้าวสุบัน เตียสิริ กับพวก ยึดและอายัดทรัพย์สิน จำนวน 1 รายการ เงินสด รวมมูลค่ากว่า 98,000,000 บาท สืบเนื่องจาก ด่านศุลกากรหนองคาย รายงานผลการจับกุมลักลอบนำเงินตราออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต กล่าวคือ มีชายชาวลาวลักลอบนำเงินตราไทยจำนวนมากออกนอกราชอาณาจักร โดยใช้ยานพาหนะรถยนต์ ต่อมาเมื่อวันที่ 12 ธ.ค.60 เจ้าหน้าที่ศุลกากร ด่านศุลกากรหนองคาย ได้แจ้งว่ารถยนต์เป้าหมายเข้าไปยังด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทยลาวแห่งที่ 1 จึงได้เรียกรถยนต์ทำการตรวจสอบ พบตัวผู้ต้องหา และ เงินตราธนบัตรไทย จำนวน 98,000,000 บาท เจ้าหน้าที่จึงได้แจ้งให้ทราบว่าเงินของกลางดังกล่าวเป็นของอันพึงต้องริบหรือพิสูจน์ความผิดตาม พรบ.ศุลกากร การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (7) แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 จึงมีมติให้ยึดทรัพย์สินไว้ชั่วคราว มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน จำนวน 1 รายการ คือ เงินสด มูลค่ากว่า 98,000,000 บาท
ก่อนหน้านี้ ในการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 9/2561 เมื่อวันที่ 8 พ.ค.2561 คณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติให้ยึดทรัพย์สินขบวนการลักลอบขนเงินข้ามแดน มาแล้ว จำนวน 3 คดี ได้แก่ นายมาซาโตะ คิคุชิ นายลอบซัง โซดา และราย MR.MSAFIRI JUSTIN รวมมูลค่า 9,500,000 บาท
พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับรายที่ 2 คดี น.ส.ชลดา หรือสมัญญา วัฒโน กับพวก ยึดและอายัดทรัพย์สิน จำนวน 6 รายการ รวมมูลค่ากว่า 4,433,000 บาท สืบเนื่องจาก ปปง. ได้รับเรื่องร้องเรียนจาก นายจรูญ ติรวงศาโรจน์ กับพวก รวม 4 คน กรณี ผู้ต้องหา กับพวก หลอกลวงจนหลงเชื่อและได้ทรัพย์ไป ประมาณ 68,000,000 บาท กล่าวคือ ระหว่างปลายปี 2551 ถึงประมาณกลางเดือน พ.ค.2556 ผู้ต้องหา กับพวก ร่วมกันหลอกลวง นายภูชิดย์ แซ่ซั้น ประธานกลุ่มเกษตรกรทำสวนธารน้ำทิพย์ (ในขณะนั้น) ตั้งอยู่อ.เบตง จ.ยะลา ซึ่งเป็นญาติของ นายจรูญ ทราบว่า น.ส.ชลดา อ้างเป็นหลานสาวพระนางเจ้าท่านหนึ่ง มีทรัพย์มรดกเป็นจำนวนมาก ซึ่งอยู่ระหว่างการฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งในและต่างประเทศ ต้องการผู้สนับสนุนทางการเงินเพื่อใช้ในการดำเนินคดี
เมื่อคดีเสร็จสิ้นแล้วจะมอบเงินและที่ดินทางภาคเหนือให้เป็นค่าตอบแทนแก่ผู้สนับสนุนทางการเงินเป็นจำนวนหลายเท่าตัว พร้อม มอบที่ดินอีกจำนวนประมาณ 1,000 ไร่ ให้สำหรับทำสวนยางพารา กระทั่ง นายภูชิดย์ เกิดหลงเชื่อ ระหว่างนั้น นายจรูญ กับพวก ไปสืบทราบว่า น.ส.ชลดา ถูกจับดำเนินคดีอาญา ม.112 และในฐานความผิดฉ้อโกง ซึ่งศาลอาญา มีคำพิพากษาจำคุก 30 ปี จึงเข้าแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกับ น.ส.ชลดา กับพวก ในการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (18) แห่ง พรบ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 คณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติให้ยึดและอายัดทรัพย์สินไว้ชั่วคราว มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน จำนวน 6 รายการ ได้แก่ รถยนต์ ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง และเบี้ยประกันชีวิตที่ชำระแล้ว หรือสิทธิเรียกร้องตามกรมธรรม์ประกันภัย มูลค่ากว่า 4,433,000 บาท นอกจากนี้ ยังมี นางถนัตถ์อร แซ่ลก หลงเชื่อ ได้รับความเสียหายทั้งสิ้น 557,000 บาท นายอรุณ จงมีลักษมี หลงเชื่อ ได้รับความเสียหายทั้งสิ้น 5,245,000 บาท นางวันทนา แซ่ว่อง ได้รับความเสียหายทั้งสิ้น 9,470,000 บาท
"เพื่อเป็นการตัดวงจรอาชญากรรมและเส้นทางการเงินของผู้กระทำความผิด สำนักงาน ปปง. จะเน้นการสืบสวนสอบสวนขยายผลและบูรณาการกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย เพื่อยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดในมูลฐานต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงาน และเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในเรื่องของการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย เนื่องจากทรัพย์สินใดเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน ทรัพย์สินนั้นต้องกลับคืนสู่แผ่นดินโดยไม่มีเงื่อนไข ด้วยกฎหมายฟอกเงิน"พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์กล่าว
ที่มาข่าว:https://mgronline.com/crime/detail/9610000061668