แอมเนสตีเรียกร้อง เทเรซา เมย์ วิจารณ์ปัญหาสิทธิมนุษยชนในไทย
แอมเนสตีเรียกร้อง นายกฯอังกฤษอย่าเกรงใจวิพากษ์รัฐบาลไทยปมสถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนในไทย
(เทเรซา เมย์ และ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา)
เนื่องในโอกาสการเดินทางมาเยือนของนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา วันที่ 20 มิ.ย. 2561 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องเทเรซา เมย์ ให้แสดงข้อกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่ถดถอยลงในประเทศไทย
ที่ผ่านมา แอมเนสตี้ได้ประณามอย่างต่อเนื่อง ต่อการจำกัดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยนับแต่รัฐประหารปี 2557 ซึ่งเป็นเหตุให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชาเข้าสู่อำนาจ
แอมเนสตี้ระบุว่า การพบปะกันครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดีที่จะพูดคุยเกี่ยวกับข้อกังวลด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศนี้ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบ ซึ่งส่งผลให้มีการควบคุมตัวและดำเนินคดีกับหลายร้อยคน แอมเนสตี้ยังเรียกร้องนายกฯ เมย์ให้ประณามการประหารชีวิตเป็นครั้งแรกของไทยนับแต่ปี 2552 ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา
เคท อัลเลน ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สหราชอาณาจักรเผยว่า เทเรซา เมย์ต้องไม่เกรงใจและวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา เมื่อประณามสถานการณ์ที่เลวร้ายด้านสิทธิมนุษยชนในไทย ในสัปดาห์นี้เอง ประเทศไทยมีการประหารชีวิตเป็นครั้งแรกในรอบเกือบทศวรรษ เป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงความถดถอยด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศ
“ช่วงสี่ปีหลังรัฐประหาร รัฐบาลทหารไทยได้ออกมาตรการควบคุมอย่างเข้มงวดมากขึ้นในประเทศ รวมทั้งการออกกฎหมายเพื่อขัดขวางผู้วิพากษ์วิจารณ์ และขู่ให้ประชาชนหวาดกลัวจนต้องยอมจำนน การประชุมระดับสูงเช่นนี้ ไม่ควรเป็นเพียงการเจรจาค้าขายด้วยการเซ็นเช็คและทำใบสั่งซื้อ หรือเพียงเพื่อหาความตกลงทางการค้ามาชดเชยผลกระทบด้านธุรกิจภายหลังการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ อังกฤษต้องไม่ยอมแลกเปลี่ยนความสามารถในการวิพากษ์วิจารณ์ต่อการปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเลวร้าย กับผลประโยชน์ใดๆ”
ก่อนหน้านี้รัฐบาลสหราชอาณาจักรเน้นย้ำถึงความประสงค์ในการเจรจาทางการค้ากับประเทศไทย
แอมเนสตี้ย้ำว่า เทเรซา เมย์อย่าพูดเพียงว่า เธอได้แสดงข้อกังวลด้านสิทธิมนุษยชนเท่านั้น แต่ควรให้รายละเอียดเพิ่มเติมอย่างชัดเจน รวมทั้งท่าทีของนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นหลักฐานกดดันให้เขาต้องรับผิดชอบต่อพันธกิจที่แสดงไว้ให้ได้
สิทธิมนุษยชนถูกโจมตี
นักกิจกรรม ผู้สื่อข่าว นักการเมือง นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ต่างถูกจับกุม ควบคุมตัวและดำเนินคดีอย่างสม่ำเสมอ สืบเนื่องจากการแสดงความเห็นเกี่ยวกับรัฐบาลและราชวงศ์อย่างสงบ ประเทศไทยมีกฎหมาย “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ที่เข้มงวด ซึ่งเอาผิดกับความเห็นใดๆ ที่ถูกมองว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ราชวงศ์ กฎหมายเหล่านี้ได้ถูกใช้เพื่อดำเนินคดีและคุมขังผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล
ทางการไทยยังคงใช้มาตรการควบคุมจำกัดจนเกินกว่าเหตุต่อเสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุมอย่างสงบ และการสมาคม นอกจากนั้น ยังเพิ่มบทบาทของทหารในการบริหารงานยุติธรรม ซึ่งเห็นได้จากการให้อำนาจเจ้าพนักงานทหารในการจับกุมและควบคุมตัว และการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อสิทธิที่จะมีอิสรภาพและความมั่นคงของบุคคลและสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม
ข้อห้ามทางการเมือง
ทางการไทยปฏิเสธที่จะยกเลิกคำสั่งห้ามจัดกิจกรรมทางการเมือง ก่อนการเลือกตั้งที่คาดว่าจะมีขึ้นในปี 2562 หลังจากรัฐประหาร มีการควบคุมตัวบุคคลหลายร้อยคนเพื่อให้เข้ารับ “การปรับทัศนคติ” ซึ่งเป็นการลงโทษเชิงบังคับรูปแบบหนึ่ง โดยมีเป้าหมายเป็นผู้ที่ถูกมองว่าวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล และพวกเขายังต้องยอมรับเงื่อนไขที่เข้มงวดเพื่อแลกกับการปล่อยตัวออกมา
นับแต่เข้าสู่อำนาจ รัฐบาลทหารได้ปราบปรามเสรีภาพในการแสดงออกอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งการใช้กฎหมายที่ควบคุมจำกัด การออกกฎหมายและคำสั่งใหม่ ๆ ที่จำกัดการใช้สิทธิอย่างเข้มงวด
การรื้อฟื้นโทษประหารชีวิต
วันจันทร์ที่ผ่านมา ทางการไทยได้ประหารชีวิตชายวัย 26 ปีที่ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยทารุณ นับเป็นการประหารชีวิตครั้งแรกตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2552 จากตัวเลขของกระทรวงยุติธรรมเมื่อเดือนมีนาคม 2561 ระบุว่า ไทยมีนักโทษประหารอยู่จำนวน 510 คน เป็นผู้หญิง 94 คน ในจำนวนนี้ 193 คนเป็นนักโทษเด็ดขาดที่ผ่านกระบวนการอุทธรณ์คดีหมดสิ้นแล้ว เชื่อว่ากว่าครึ่งหนึ่งของนักโทษเหล่านี้ต้องโทษประหารในคดียาเสพติด
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก thaienews.blogspot.com