นักวิจัยชี้แผ่นดินไหว 'โอซากา' เกิดจากรอยเลื่อนมีพลังซ่อนตัว-เตือนไทยอย่าประมาท
นักวิชาการแผ่นดินไหว สกว. ชี้การเสียชีวิตจากเหตุธรณีพิโรธที่ 'โอซากา' เกิดจากการละเลยมาตรฐานการออกแบบก่อสร้าง ไม่เสริมเหล็กให้แข็งแรง พร้อมวิเคราะห์เหตุความรุนแรงเกิดจากรอยเลื่อนมีพลังซ่อนตัวอยู่ สภาพพื้นที่เป็นแอ่งตะกอนขนาดใหญ่ใกล้เคียงแอ่งในกรุงเทพฯ ส่งผลคลื่นแผ่นดินไหวถูกขยายตัวได้อีกหลายเท่าเตือนไทยไม่ควรประมาท เร่งสำรวจและให้ความรู้เตรียมพร้อมรับมือ
ดร.อมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกร และนักวิจัยชุดโครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเผยถึงสาเหตุการเสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวที่โอซากา ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของนักท่องเที่ยวชาวไทย โดยมีผู้เคราะห์ร้ายถูกฝาผนังบ้านล้มทับจนเสียชีวิต ว่าผนังหรือกำแพงที่ก่อสร้างจากอิฐบล็อกหรือคอนกรีตบล็อกอาจก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีการเสริมเหล็กในกำแพงหรือเสริมเหล็กน้อยเกินไป จึงถือว่าเป็นจุดบกพร่องของการออกแบบและก่อสร้าง เนื่องจากอาจมองว่าไม่ใช่ส่วนของโครงสร้างที่รับน้ำหนัก ทำให้ละเลยเรื่องนี้และเกิดอันตรายขึ้น
เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ผ่าน ๆ มา ไม่ใช่เฉพาะส่วนของโครงสร้าง คานหรือเสา เท่านั้นที่พังถล่มทับคนเสียชีวิต แต่โครงสร้างประเภทผนังอิฐ ทั้งอิฐบล็อก อิฐมอญ และคอนกรีตบล็อก ล้วนอาจเป็นอันตรายได้ทั้งสิ้น เนื่องจากโครงสร้างเหล่านี้มีวัตถุประสงค์เพื่อกั้นบริเวณเท่านั้น ไม่ได้ใช้รับน้ำหนัก จึงมักละเลยการเสริมเหล็กในกำแพง เมื่อมีแรงสั่นสะเทือนก็ทำให้ล้มลงมาทับคนจนเสียชีวิต ดังเช่นแผ่นดินไหวที่เชียงรายเมื่อปี 2557 มีกำแพงคอนกรีตบล็อกล้มทับคนจนพิการ ดังนั้นปัญหาผนังกำแพงไม่แข็งแรงจึงเกิดขึ้นได้ในทุกประเทศ แม้แต่ในประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีการป้องกันที่ดีก็ตาม ขณะนี้ทางการญี่ปุ่นน่าจะสั่งให้มีการสำรวจความแข็งแรงของผนังกำแพง และคงจะกำหนดมาตรการเสริมความแข็งแรงต่อไป
ขณะที่ ผศ. ดร.ภาสกร ปนานนท์ นักวิจัยในชุดโครงการเดียวกันจากภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่าประเด็นที่น่าสนใจคือเหตุใดแผ่นดินไหวขนาดปานกลาง จึงก่อให้เกิดความเสียหายในประเทศที่จัดได้ว่ามีความพร้อมในการรับมือแผ่นดินไหวดีมากที่สุดในโลกได้ ซึ่งในมุมมองของนักวิชาการด้านแผ่นดินไหวพบว่า อันดับแรกคือแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหว ในภาพใหญ่ประเทศญี่ปุ่นเป็นบริเวณที่มีการชนกันและมีการมุดกันของแผ่นเปลือกโลก ทำให้เป็นบริเวณที่มีการสะสมพลังงานจำนวนมาก และจัดเป็นพื้นที่ที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก สำหรับแผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดใกล้ ๆ กับบริเวณที่พบรอยเลื่อนมีพลังมาตัดกัน 2 แนว แนวหนึ่งเป็นแนวรอยเลื่อนที่วางตัวในแนวตะวันออกเฉียงเหนือตะวันตกเฉียงใต้ที่ต่อเนื่องมาจากรอยเลื่อนที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวโกเบ ในปี 2538 ที่สร้างความเสียหายอย่างมาก ส่วนอีกแนวเป็นกลุ่มลอยเลื่อน Uemachi ที่วางตัวในแนวเกือบเหนือใต้ ซึ่งมองไม่เห็นจากบนพื้นดิน เป็นรอยเลื่อนที่ซ่อนตัวอยู่ เนื่องจากบริเวณนี้เป็นแอ่งตะกอนขนาดใหญ่ แต่ทางการประเทศญี่ปุ่นได้สำรวจธรณีฟิสิกส์รอยเลื่อนดังกล่าวทำให้ทราบว่ามีรอยเลื่อนนี้อยู่จริง และเนื่องจากเป็นรอยเลื่อนที่มีพลัง จึงสามารถทำให้เกิดแผ่นดินไหวได้ ดังนั้นแผ่นดินไหวครั้งนี้จึงไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมาย
อันดับต่อมาแผ่นดินไหวครั้งนี้ส่งผลกระทบได้ค่อนข้างมาก จากการศึกษาของนักวิชาการประเทศญี่ปุ่นเองทำให้ทราบว่าบริเวณนี้มีลักษณะเป็นแอ่งตะกอนขนาดใหญ่ลึกมากถึง 1 กิโลเมตร คล้ายกับแอ่งกรุงเทพฯ ของไทย จึงทำให้คลื่นแผ่นดินไหวถูกขยายตัวได้อีกหลายเท่า จากข้อมูลตรวจวัดอัตราเร่งของพื้นดิน ในรัศมีประมาณ 20 กิโลเมตรจากศูนย์กลางแผ่นดินไหว พบว่าค่าอัตราเร่งของพื้นดินมีค่ามากกว่า 20%จี และมีค่ามากที่สุดกว่า 80% จี ทั้งที่การคำนวณเบื้องต้นแผ่นดินไหวครั้งนี้น่าจะมีอัตราเร่งสูงสุดประมาณ 12%จี เท่านั้น ซึ่งค่าจี (g) เป็นค่าอัตราเร่งของพื้นดิน 1 จี มีค่าเท่ากับการการตกอย่างอิสระของวัตถุ สำหรับอาคารทั่วไปที่ไม่ได้แข็งแรงมากเป็นพิเศษ ความเสียหายอาจจะเริ่มปรากฏเมื่อพื้นดินเริ่มสั่นสะเทือนตั้งแต่ 10%จี ขึ้นไป ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของอาคาร ดังนั้นจะเห็นได้ว่าพื้นดินบริเวณนี้ขยายสัญญาณคลื่นแผ่นดินไหว 5-7 เท่า และแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นครั้งนี้ยังเกิดค่อนข้างตื้น ลึกจากพื้นดินเพียง 13 กิโลเมตร ทำให้การสั่นสะเทือนที่รุนแรงและเกิดความเสียหายมากขึ้น
นักวิจัยผู้รับทุน สกว. กล่าวว่า บทเรียนที่เราควรจะคิดถึงคือ เราทราบหรือยังว่าพื้นที่ใดของไทย โดยเฉพาะตามเมืองใหญ่ ๆ มีรอยเลื่อนที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวได้หรือไม่ โดยเฉพาะรอยเลื่อนที่ซ่อนตัวอยู่ เพราะไม่สามารถตรวจพบได้นอกจากการสำรวจธรณีฟิสิกส์ที่ต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูง เท่าที่ทราบในประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานใดที่สำรวจรอยเลื่อนมีพลังระดับลึกด้วยวิธีการทางธรณีฟิสิกส์ เช่นการสำรวจหาน้ำมัน ดังนั้นเรายังขาดองค์ความรู้อีกมากเกี่ยวกับรอยเลื่อนขนาดใหญ่ใกล้เมือง และหากเกิดขึ้นจริงจะนำมาซึ่งความสูญเสียที่สูงมาก และอีกสิ่งหนึ่งที่แทบจะไม่ทราบเลยคือ เมืองใหญ่ของไทยที่ตั้งอยู่ในที่ราบจะได้รับผลกระทบจากชั้นตะกอนที่หนาและรูปร่างของแอ่งอย่างไร เพราะความแข็งของตะกอน ความลึกของแอ่งตะกอนและรูปร่างของแอ่งตะกอน ล้วนทำให้เกิดการขยายคลื่นแผ่นดินไหว ส่งผลให้พื้นดินสั่นแรงขึ้นและทำความเสียหายมากขึ้น เราไม่รู้แบบชัดเจนทำให้การประเมินผลกระทบจากแผ่นดินไหวทำได้ยากมาก ซึ่งจะโยงไปถึงการเตรียมความพร้อมในการรับมือแผ่นดินไหวของประเทศในอนาคต การศึกษาทางด้านนี้ให้ครอบคลุมทั้งประเทศจึงเป็นเรื่องที่สำคัญพอ ๆ กับการสำรวจรอยเลื่อนในเมืองใหญ่
ประการสุดท้ายคือ การอบรมและเตรียมความพร้อมต่อการรับมือแผ่นดินไหวของประเทศไทย ให้เอาตัวรอดได้เมื่อเกิดภัยพิบัติเป็นเรื่องสำคัญมากเท่า ๆ กับการก่อสร้างหรือปรับปรุงอาคารให้สามารถต้านทานแผ่นดินไหวได้ ซึ่งจะช่วยในการวางแผนรับมือแผ่นดินไหวและเกิดความสูญเสียน้อยที่สุด ถึงเวลาที่เราต้องเลิกคิดว่าประเทศไทยปลอดภัยจากแผ่นดินไหว เพราะจะทำให้เราตั้งตนอยู่ในความประมาท เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นจะเกิดความสูญเสียอย่างมากดังเช่นแผ่นดินไหวเชียงรายที่ผ่านมา .
ภาพประกอบ:https://www.thairath.co.th/content/1311097