พีมูฟเตรียมเฮ! หลัง คทช.จ่อออก ก.ม.เปิดทางทำกินพื้นที่ป่า
คทช.เร่งออกกฎหมายเปิดทางให้ทำกินในพื้นที่ป่าสงวน-อนุรักษ์ มีเงื่อนไขไม่ให้กรรมสิทธิ์
เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2561 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ครั้งที่ 2/2561 โดยมีผู้บริหารจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับภารกิจด้านที่ดิน ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงกลาโหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง และสำนักนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมประชุม
ภายหลังการประชุม พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ กล่าวว่า ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าการเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. ... และร่าง พ.ร.บ.เพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่...) พ.ศ. ... โดยมีการแก้ไขบทบาทและอำนาจหน้าที่ของ คทช.ให้มีบทบาทและอำนาจหน้าที่เฉพาะการกำหนดนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศในภาพรวม รวมถึงเตรียมเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบใน 2 เรื่องสำคัญ คือ 1. ชุมชนในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่อยู่ในลุ่มน้ำชั้น 3, 4, 5 หลังมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2541 คืออนุญาตให้ชุมชนอยู่อาศัยและทำกินแบบแปลงรวม โดยออกแบบการใช้พื้นที่ร่วมกันระหว่างชุมชนและหน่วยงานรัฐ โดยชุมชนต้องดูแลรักษาและใช้ประโยชน์พื้นที่ในลักษณะที่เกื้อกูลต่อการอนุรักษ์ตามที่กำหนดร่วมกัน แต่จะไม่ให้กรรมสิทธิ์ ทั้งนี้ ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ต้องทำกินตามที่กติกากำหนด ทั้งผู้ที่อยู่ในพื้นที่สูง หรือต้นน้ำลำธาร จะต้องออกแบบร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐให้มีลักษณะพื้นที่ที่เหมาะสมกับลุ่มน้ำต่างๆ
พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า 2. ชุมชนที่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ก่อนและหลังมติ ครม. เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2541 โดยมีหลักการจัดการพื้นที่ เพื่อคงเจตนารมณ์ของการกำหนดกฎหมายเกี่ยวกับพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ชุมชนที่จะได้รับการพิจารณาต้องเป็นชุมชนที่อาศัยอยู่เดิม ไม่มีการจัดที่ดินให้แก่บุคคลภายนอกพื้นที่ มีการกำหนดขอบเขตพื้นที่ทำกินที่เป็นที่ยอมรับร่วมกัน และเป็นการให้สิทธิทำกินโดยไม่ให้เอกสารสิทธิ์ ขณะที่แนวทางการจัดการพื้นที่ ประกอบด้วย 2 ขั้นตอนหลัก คือ การสำรวจการครอบครองที่ดิน และการบริหารจัดการพื้นที่ เพื่อให้ได้ข้อตกลง แนวเขตบริหารเพื่อการอนุรักษ์ ที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายในรูปแบบของการประชาคมของชุมชน ทั้งนี้ เป็นการการเตรียมความพร้อมของชุมชนในการพิจารณาอนุญาต เมื่อร่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ... และร่าง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ... ได้รับการพิจารณาเห็นชอบ และมีผลใช้บังคับแล้ว
"แม้ยังไม่มีกฎหมายที่จะอนุญาตให้เข้าไปอาศัยทำกิน แต่ในความเป็นจริง เรามีประชาชนเข้าไปอาศัย จำนวน 2,700 ชุมชน พื้นที่ 5.9 ล้านไร่ วันนี้ที่ประชุมจึงเห็นชอบให้ผู้ที่อยู่เดิมสามารถทำกินได้ แต่เนื่องจาก กฎหมายยังมีไม่ครอบคลุม จึงสามารถอยู่อาศัยได้โดยใช้คำสั่ง คสช.ที่ 66/2557 ซึ่งสามารถผ่อนผันให้อยู่ได้ กระทรวงทรัพยากรฯ ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ... และร่าง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ... ขั้นตอนจากนี้ก็ต้องรอการพิจารณาของ สนช. ซึ่งกฎหมายใหม่นี้จะให้อำนาจแก่อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช อนุญาตให้ชุมชนที่อยู่อาศัยเดิมสามารถอยู่ทำกินได้ แต่เงื่อนไขการอยู่ในพื้นที่ทำกินที่เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ต้องมีความกลมกลืน มีการออกแบบร่วมกัน รักษาป่าและคนสามารถอยู่อาศัยได้ด้วย ทั้งนี้ เมื่อทุกอย่างทำเสร็จแล้ว จะเสนอต่อที่ประชุม ครม. เพื่อให้ความเห็นชอบอีกครั้ง จากนั้นพื้นที่ที่ประชาชนยังมีปัญหาอยู่ทั้งหมดก็คงจะได้รับการแก้ไขได้เกือบทุกพื้นที่" พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าว
เมื่อถามว่า การประชุมในวันนี้ (18 มิ.ย.) ถือว่าสอดคล้องกับกรณีที่กลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ออกมาเรียกร้องก่อนหน้านี้หรือไม่ พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับพีมูฟ มีหมู่บ้านที่เสนอไว้ 486 หมู่บ้าน ซึ่งกระจายอยู่ในพื้นที่ป่าสงวน ป่าอนุรักษ์บ้าง และพื้นที่สาธารณะ แต่เชื่อว่าจากแนวทางที่ คทช.เห็นชอบในวันนี้ จะครอบคลุมพื้นที่ของพีมูฟได้เกือบทั้งหมด หรือร้อยละ 80-90 อาจมีบ้างคือกรณีที่คดีถึงที่สุดไปแล้ว ซึ่ง ทส.จะรับมาดูแลให้เป็นรายๆ ไป
เมื่อถามว่า กรณีชุมชุนที่อยู่ในลุ่มน้ำชั้น 1 และ 2 จำเป็นต้องถูกผลักดันให้ออกไปเลยหรือไม่ พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า โดยหลักเกณฑ์ พยายามที่จะกันออกบริเวณลุ่มน้ำชั้น 1 แต่ถ้าออกไม่ได้จริงๆ จะมีการออกแบบร่วมกันว่าในพื้นที่ที่อาศัยอยู่ควรต้องมีป่าอยู่ตรงไหน โดยชาวบ้านต้องดูแลป่าตรงนั้น รัฐจึงจะอนุญาตให้ทำกิน สรุปคือยังทำกินได้เหมือนเดิมโดยถูกกฎหมาย ไม่ถูกจับกุม แต่เพียงต้องดูแลป่าเพิ่มขึ้น จึงจะถือว่าอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล แต่ไม่ใช่เป็นการออกโฉนดชุมชนอย่างที่มีการพูดถึง เป็นการอนุญาตตามอำนาจกฎหมายที่มีอยู่