ผ่าองค์ประกอบ หน้าที่ อำนาจ 'คตช.' ใหม่ - วัดใจ 'บิ๊กตู่' กล้าเปลี่ยนชื่อ 'บิ๊กป้อม' ไหม?
"...ให้จับตาดู รายชื่อบุคคลที่จะเข้ามานั่งเป็นคณะกรรมการใหม่ ว่าจะยังคงปรากฏชื่อ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เหมือนเดิมหรือไม่ เนื่องจากปัจจุบันถูกตรวจสอบกรณีนาฬิกาหรู จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อยู่ ซึ่งอาจเป็นจุดอ่อน ทำให้องค์ประกอบใหม่ คตช. ถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่ทั้งนี้ ก็ต้องขึ้นอยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์ จะกล้าพอที่จะเปลื่ยนชื่อ พล.อ.ประวิตร ออกจากตำแหน่งที่ปรึกษากรรมการหรือไม่ เพราะในข้อเท็จจริง แม้ว่า พล.อ.ประวิตร จะไม่ได้นั่งอยู่ใน คตช. แล้ว แต่ก็จะยังมีอำนาจอยู่เหนือ คตช. ในนาม คสช. ตามคำสั่งฉบับใหม่ อยู่แล้ว ..."
ในช่วงค่ำวันที่ 12 มิ.ย.2561 ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ คําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 2/2561 เรื่อง การปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.)
ระบุเนื้อหาสำคัญว่า ตามที่ได้มีคําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 127/2557 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ลงวันที่ 15 ธันวาคม พุทธศักราช 2557 กําหนดให้มีคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติภายในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เพื่อทําหน้าที่ในการบูรณาการ ติดตามประสานงานและสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐหรือภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องในการป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้การดําเนินการตามนโยบายในเรื่องดังกล่าวเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ และต่อมาได้มีคําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 14/2558 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการตามองค์ประกอบคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ลงวันที่ 27 ตุลาคม พุทธศักราช 2558 กําหนดองค์ประกอบของคณะกรรมการดังกล่าวให้เกิดความชัดเจนเพื่อให้การดําเนินการเป็นไปโดยเรียบร้อยนั้น
เนื่องจากปัจจุบันได้มีการปรับปรุงองค์ประกอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ประกอบกับมีการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารราชการและการมอบหมายงานของฝ่ายบริหาร จึงสมควรปรับปรุงองค์ประกอบ ตลอดจนหน้าที่และอํานาจของคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติให้สอดคล้องกันเพื่อให้การดําเนินการเป็นไปอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้การขับเคลื่อนการดําเนินการในเรื่องของการป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบเกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง (อ่านประกอบ : บิ๊กตู่ ปรับปรุงองค์ประกอบ หน้าที่ อํานาจ คตช. สอดคล้อง คสช. ปราบทุจริตต่อเนื่อง)
น่าสนใจว่า องค์ประกอบของ คณะกรรมการ คตช. ของใหม่ แตกต่างจากของเดิมอย่างไร? และมีนัยยะอะไรที่ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดหรือไม่
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลองค์ประกอบ คตช. เดิม พบว่า นับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ ออกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 127/2557 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ลงวันที่ 15 ธันวาคม พุทธศักราช 2557 และมีการออกคําสั่ง คสช. แก้ไขปรับปรุงคำสั่งอีกหลายฉบับตามมา คือ คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 14/2558 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการตามองค์ประกอบคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ลงวันที่ 27 ตุลาคม พุทธศักราช 2558 คําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 6/2559 เรื่อง แก้ไขบุคคลตามองค์ประกอบคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ลงวันที่30 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2559 และคําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2560เรื่อง เปลี่ยนแปลงคณะกรรมการตามองค์ประกอบคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ลงวันที่7 มีนาคม พุทธศักราช 2560
พบว่า องค์ประกอบของ คตช. ก่อนจะมีการออกคำสั่งใหม่ล่าสุด มีดังต่อไปนี้
@ คณะกรรมการ คตช. ประกอบไปด้วย
1) หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ประธานกรรมการ
2) พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ปรึกษาประธานกรรมการ
3) นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาประธานกรรมการ
4) หัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ รองประธานกรรมการ
5) พลเอก อุดมเดช สีตบุตร กรรมการ
6) พลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท กรรมการ
7) พลเรือเอก ณะ อารีนิจ กรรมการ
8) พลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง กรรมการ
9) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ กรรมการ
10) นายประมนต์ สุธีวงศ์ กรรมการ
11) นายถวิล เปลี่ยนศรี กรรมการ
12) รองศาสตราจารย์จุรี วิจิตรวาทการ กรรมการ
13) รองศาสตราจารย์ต่อตระกูล ยมนาค กรรมการ
14) นางสาววลัยรัตน์ ศรีอรุณ กรรมการ
15) นายวิชัย อัศรัสกร กรรมการ
16) รองศาสตราจารย์สังศิต พิริยะรังสรรค์ กรรมการ
17) นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการ
18) เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ กรรมการและเลขานุการ
19) ผู้แทนสํานักงบประมาณ กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
20) ผู้แทนสํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
21) ผู้แทนสํานักงานคณะกรรมการ นโยบายรัฐวิสาหกิจ กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
@ หน้าที่และอำนาจ กำหนดไว้ 8 ข้อ คือ
(1) จัดทําแนวทางและมาตรการในการบูรณาการเพื่อเสริมสร้างและประสานความร่วมมือในการป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบระหว่างหน่วยงานของรัฐหรือภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดําเนินการตามนโยบายในเรื่องดังกล่าวเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมและไปในทิศทางเดียวกันและเสนอให้คณะรัฐมนตรีทราบเพื่อดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ต่อไป
(2) ติดตาม ประสานงาน และสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือในการดําเนินงานของคณะกรรมการตามกฎหมาย หรือหน่วยงานของรัฐที่มีอํานาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ตลอดจนพิจารณาข้อเสนอของภาคเอกชนในการต่อต้าน ป้องกัน และขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบ
(3) จัดทําผลการดําเนินการและเสนอแนะความเห็นหรือกลไกในการดําเนินการที่จําเป็นในการป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน หรือเพื่อมีมติสั่งการให้หน่วยงานของรัฐดําเนินการ
(4) จัดทําข้อเสนอแนะในการป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบไปยังคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อประกอบการพิจารณาตามที่เห็นสมควร
(5) ในกรณีที่เห็นสมควรอาจแจ้งต่อหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเพื่อขอให้มีการประชุมร่วมกันของคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคณะรัฐมนตรี เพื่อปรึกษาหารือหรือพิจารณาแนวทางการดําเนินการเพื่อให้การแก้ไขปัญหาในเรื่องของการป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น
(6) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทํางานเพื่อพิจารณาหรือช่วยเหลือในการปฏิบัติงานตามความจําเป็น
(7) เชิญเจ้าหน้าที่ บุคคล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงให้ข้อเท็จจริง ความเห็นหรือคําแนะนําทางวิชาการ หรือเรียกเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาได้ตามความจําเป็น
(8) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติมอบหมาย
ทั้งนี้ จากการเปรียบเทียบองค์ประกอบ คตช. ตามที่มีการออกคำสั่งใหม่ พบข้อสังเกตดังนี้
1. โครงสร้างคณะกรรมการ คตช. ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก โดยในส่วนของตำแหน่งที่ปรึกษากรรมการ แม้จะไม่ได้มีการระบุเอาไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ในคำสั่งใหม่ ว่า ต้องมี แต่ภายใต้คำสั่งเดิม ก็ไม่ได้มีการระบุไว้ เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ก็มีตำแหน่งนี้เพิ่มขึ้นมาเช่นกัน
2. เรื่อง หน้าที่และอำนาจ นั้น พบว่า ในคำสั่งใหม่ มีการเพิ่มเรื่อง ประสาน เร่งรัด ติดตามการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐให้เป็นไปตามกฎหมายกฎ ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และอยู่ภายใต้กรอบธรรมาภิบาล เข้ามาอยู่ในข้อที่ 2
และตัดประเด็นเรื่องการจัดทําข้อเสนอแนะในการป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบไปยังคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อประกอบการพิจารณาตามที่เห็นสมควร ในข้อที่ 4 เดิมออกไป ส่วนข้ออื่นๆ ยังคงตามหลักการเดิม
แต่ที่น่าสนใจอยู่ตรงที่ การปรับเนื้อหาในข้อ 8 ที่กำหนดให้ คตช. ดําเนินการอื่นใดตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติมอบหมาย จากของเดิม ที่ให้ ปฏิบัติการอื่นใดตามที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติมอบหมายเท่านั้น
อย่างไรก็ดี สำนักข่าวอิศรา ได้รับการแจ้งข้อมูลจากแหล่งข่าวในทำเนียบรัฐบาล ว่า การปรับปรุงองค์ประกอบ คตช. ใหม่ ครั้งนี้ ให้จับตาดู รายชื่อบุคคลที่จะเข้ามานั่งเป็นคณะกรรมการใหม่ ใน 2 ส่วนหลัก คือ ที่ปรึกษาประธานกรรมการ ว่าจะยังคงปรากฎชื่อ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เหมือนเดิมหรือไม่ เนื่องจากปัจจุบันถูกตรวจสอบกรณีนาฬิกาหรู จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อยู่ ซึ่งอาจเป็นจุดอ่อน ทำให้องค์ประกอบใหม่ คตช. ถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่ทั้งนี้ ก็ต้องขึ้นอยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์ จะกล้าพอที่จะเปลื่ยนชื่อ พล.อ.ประวิตร ออกจากตำแหน่งที่ปรึกษากรรมการหรือไม่
เพราะในข้อเท็จจริง แม้ว่า พล.อ.ประวิตร จะไม่ได้นั่งอยู่ใน คตช. แล้ว แต่ก็จะยังมีอำนาจอยู่เหนือ คตช. ในนาม คสช. ตามคำสั่งฉบับใหม่ อยู่แล้ว
ขณะที่ตำแหน่งที่ปรึกษากรรมการ จะมีหรือไม่มีก็ได้ เพราะไม่ได้กำหนดเอาไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ว่า ต้องมีอยู่แล้ว
ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง คือ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก เนื่องจากที่ผ่านมา ผู้มีอำนาจในรัฐบาลบางราย ไม่ค่อยพอใจกับบทบาทท่าที ของกรรมการบางราย ที่มักออกมาวิพากษ์วิจารณ์หรือยื่นเรื่องให้ตรวจสอบผู้มีอำนาจบางคนในคสช.ด้วย
และนั้นอาจเป็นเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้ รายชื่อคณะกรรมการ คตช. ใหม่ ที่จะประกาศออกมาในเร็วๆ นี้ อาจจะไม่มีชื่อของกรรมการบางราย อยู่ร่วมอีกแล้วก็เป็นไปได้
ส่วนข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไรนั้น สาธารณชนคงต้องติดตามดูกันต่อไปอย่างใกล้ชิด
โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการทำงานของ คตช. ภายใต้การปรับปรุง องค์ประกอบใหม่ ว่า จะมีประสิทธิภาพเดินหน้าขับเคลื่อนงานป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบเกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง ได้ตามที่ ท่านผู้นำ คาดหวังไว้ได้หรือไม่?