เวทีเสวนาเสนอทางแก้ปัญหาพลาสติกล้นเมือง ปลุกจิตสำนึก-ใช้ถุงผ้าให้มากขึ้น
4 ผู้ร่วมเสวนางาน “เลิกใช้พลาสติกแล้วใช้อะไร” เผยการเร่งสร้างจิตสำนึก การริเริ่มลงมือทำเป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงการใช้คนดัง การตลาดช่วยดึงดูดอาจปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ ชี้ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเป็นทางเลือก
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า วันที่ 7 มิ.ย. 2561 กลุ่มเซ็นทรัล (CENTRAL Group) จัดงานเสวนา “เลิกใช้พลาสติกแล้วใช้อะไร” เนื่องวันในสิ่งแวดล้อมโลก ณ ลานเอเดน ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิร์ลด์ โดยมีนายสินชัย เทียนสิริ ผู้อำนวยการสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (TIPMSE นายอเล็กซ์ เรนเดล ผู้ก่อตั้งองค์กร ผู้ก่อตั้งองค์กร EEC (Environment Education Center Thailand (ECC Thailand) นพ. วีรฉัตร กิตติรัตนไพบูลย์ ผู้ประกอบธุรกิจเจ้าของกิจการภาชนะจากไยพืชทดแทนโฟม และนายเอกดนัย วงษ์วัฒนะ ผู้ก่อตั้งโครงการมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าร่วมการเสวนา
นายสินชัย เทียนสิริ ผู้อำนวยการสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (TIPMSE) ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ “ตาวิเศษ” กล่าวว่า สาเหตุหลัก ๆ ของปัญหาการใช้พลาสติกอย่างล้นเกินในประเทศไทยเกิดจาก 2 ประเด็น คือ 1. การขาดการวางแผนปริมาณการใช้บรรจุภัณฑ์ กล่าวคือ ใช้พลาสติกตามใจชอบโดยไม่คำนึงถึงผลที่ตามมา 2. การขาดจิตสำนึกในการคัดแยกขยะพลาสติก ส่งผลให้นำพลาสติกกลับมารีไซเคิลใหม่ได้ไม่มากเท่าที่ควรเนื่องจากถูกทิ้งไปพร้อมขยะประเภทอื่นหรือปนเปื้อนขยะประเภทอื่น รวมถึงต้นทุนในการรีไซเคิลที่สูงขึ้นเนื่องจากต้องนำพลาสติกที่ถูกทิ้งปนกับขยะประเภทอื่นไปผ่านกระบวนการล้างก่อน
ผู้อำนวยการสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวอีกว่า ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ต้องเร่งสร้างคือการสร้างจิตสำนึกสาธารณะของคน เมื่อคนมีจิตสำนึกสาธารณะเห็นแก่ส่วนรวมแล้วก็จะเริ่มดำเนินการณ์ต่าง ๆ อย่างวางแผนเพื่อประโยชน์สูงสุดของส่วนรวม ซึ่งจะเป็นปัจจัยหลักในการแก้ไขปัญหาการใช้พลาสติกเกินควรและการคัดแยกพลาสติกเพื่อประสิทธิภาพในการรีไซเคิลได้
ด้านนายอเล็กซ์ เรนเดล ผู้ก่อตั้งองค์กร EEC (Environment Education Center Thailand (ECC Thailand) กล่าวว่า องค์กรของเขาเป็นองค์กรที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและลดการใช้พลาสติกอย่างยั่งยืนโดยการปลูกฝังความรู้และจิตสำนึกรักสิ่งแวดล้อมให้แก่ผู้คนตั้งแต่เด็ก โดยนายอเล็กซ์เห็นว่า การปลูกฝังจิตสำนึกรักสิ่งแวดล้อมแต่เด็กจะติดตัวไปจนถึงวัยผู้ใหญ่
ผู้ก่อตั้งองค์กร EEC กล่าวอีกว่า การใช้ผู้มีความสามารถในการชักจูงโน้มน้าว เช่น คนดังในสังคม มาช่วยชักจูงโน้มน้าวให้คนรักสิ่งแวดล้อมจะช่วยให้การสร้างเสริมพฤติกรรมสัมฤทธิ์ผลดีขึ้น ซึ่งการกระทำดังกล่าวต้องทำไปพร้อม ๆ กับการรณรงค์บ่อย ๆ รวมถึงการมีส่วนร่วมทั้งจากภาครัฐซึ่งเป็นหนึ่งในผู้มีอำนาจในสังคม และการร่วมมือกันของภาคประชาสังคม
ด้าน นพ. วีรฉัตร กิตติรัตนไพบูลย์ ผู้ประกอบธุรกิจเจ้าของกิจการภาชนะจากไยพืชทดแทนโฟม กล่าวว่า การใช้วัสดุจากผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรซึ่งประเทศไทยมีมากเป็นอีกทางหนึ่งในการลดการใช้พลาสติก เช่น การใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากชานอ้อย ซึ่งย่อยสลายได้ง่ายและไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์ที่กินเข้าไป
นพ. วีรฉัตร ยังกล่าวอีกว่า การใช้หลักการตลาดเข้าช่วยอาจทำให้การสร้างเสริมกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกระทำได้ง่ายขึ้น โดยเสนอว่า ควรสร้างอุปสงค์ต่อกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้นเช่น การใช้บรรจุภัณฑ์จากธรรมชาติแทนการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก ซึ่งจะส่งผลให้มีผู้ประกอบการเข้ามาทำตลาดที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ส่งผลให้มูลค่าทางเศรษฐกิจถูกลงและผู้คนสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
ขณะที่ นายเอกดนัย วงษ์วัฒนะวัฒนะ ผู้ก่อตั้งโครงการมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในฐานะที่ปีนี้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนของไทยปี 2561 จึงได้จัดตั้งโครงการเลิกการใช้ถุงพลาสติกในรั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นโครงการสืบเนื่องจากปี 2560 ซึ่งทางมหาวิทยาลัยได้จัดโครงการลดการใช้ถุงพลาสติก และหันมาใช้ถุงผ้าแทน อย่างไรก็ตาม การขยายโครงการออกไปนอกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อาจจะเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แต่ได้มีการเรียกร้องให้ผู้คนมาช่วยกันลดการใช้พลาสติกโดยกล่าวว่า เมื่อมีผู้ริเริ่มก็จะมีผู้ทำตาม
นอกจากนี้นายเอกดนัยยังกล่าวว่า ในขณะนี้มีหลายภาคส่วนในสังคมซึ่งกำลังพยายามขับเคลื่อนนโยบายลดการใช้พลาสติก เช่น ตลาดบางแห่งเริ่มยกเลิกแจกถุงพลาสติก หรือโรงพยาบาลที่เริ่มงดการแจกถุงยาง รวมถึงขณะนี้ก็มีการลงนามของกลุ่มมหาวิทยาลัยในโครงการลดการใช้ถุงพลาสติกในสถาบัน