เขตสุขภาพที่ 5 แจกชุดคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักอีกกว่า 1 แสนชุด เน้นตรวจกลุ่มเสี่ยง ชี้หากเจอเร็วรักษาได้หายขาด สปสช.พร้อมหนุนทั่วประเทศตรวจคัดกรอง
เมื่อเร็วๆ นี้ที่โรงพยาบาลนครปฐม มีการประชุมสนับสนุนคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ในเขตสุขภาพที่ 5 รวม 8 จังหวัดในพื้นที่ โดยมี นพ.พิศิษฐ ศรีประเสริฐ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 5 พร้อมด้วย ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ.วีรศักดิ์ ครองลาภเจริญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครปฐม และเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
โดยก่อนการประชุม ได้มีการมอบชุดทดสอบการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักให้กับเจ้าหน้าที่ รพ.สต.และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องรวมกว่า 100,000 ชุด เพื่อไปแจกจ่ายให้กับประชาชนในชุมชนกลุ่มเป้าหมายการตรวจคัดกรอง ซึ่งอยู่ในช่วงอายุ 50-70 ปี
นพ.พิศิษฐ ศรีประเสริฐ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 5 กล่าวว่า มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักถือเป็นปัญหาอย่างมากในพื้นที่ภาคกลางที่พบผู้ป่วยเยอะ ดังนั้น การคัดกรองเพื่อหาค่าความเสี่ยงเริ่มต้นจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะหากพบในระยะเริ่มแรกถึงระยะที่ 1 การรักษาให้หายขาดสามารถทำได้
“แต่ที่ผ่านมาผลพบว่าผู้ป่วยมะเร็งมาพบแพทย์ในระยะ 3 หรือระยะที่ 4 ส่งผลให้การรักษาเป็นไปได้ยากและมีค่าใช้จ่ายสูง ขณะที่หากตรวจคัดกรองแล้วพบในระยะแรกก็สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายซึ่งถูกลงกว่ามาก และยังช่วยชีวิตประชาชนได้ด้วย” นพ.พิศิษฐ กล่าว
อย่างไรก็ตาม นพ.พิศิษฐ กล่าวอีกว่า แต่นับตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา เขตสุขภาพที่ 5 ได้เริ่มตรวจคัดกรองอย่างต่อเนื่อง และทำให้สามารถพบผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง และผู้ป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักที่สามารถพบตั้งแต่ต้นจึงสามารถรักษาไว้ได้ และทำให้การคัดกรองระยะแรกของเขตสุขภาพที่ 5 เป็นพื้นที่ต้นแบบในการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก เพื่อให้พื้นที่อื่นๆ ได้นำไปใช้ดูแลประชาชน
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ปัจจุบัน สปสช.สนับสนุนให้การคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักกระจายไปทั่วประเทศ โดยจุดเริ่มต้นอยู่ที่เขตสุขภาพที่ 5 ซึ่งดำเนินการได้ดีและมีผลที่เป็นรูปธรรม โดยพบว่าตั้งแต่ปี 2559 ได้ใช้งบประมาณราว 2 ล้านบาทเพื่อคัดกรองผู้ป่วยได้ 30,000 คน ขณะที่ปี 2560 มีการคัดกรองมากยิ่งขึ้นและทำให้พบผู้ป่วยและกลุ่มเสี่ยงมากพอสมควร
“แต่ผลสำคัญของการคัดกรองคือทำให้เกิดการรักษาได้อย่างรวดเร็ว และคาดว่าในอนาคตเขตสุขภาพแต่ละแห่งทั่วประเทศจะใช้โมเดลของเขตสุขภาพที่ 5 ในการคัดกรรองต่อไป” ทพ.อรรถพร กล่าว
ด้าน นพ.วีรศักดิ์ ครองลาภเจริญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครปฐม กล่าวว่า ในฐานะโรงพยาบาลนครปฐมเป็นโรงพยาบาลต้นแบบที่กระจายการคัดกรองออกไปยังโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพตำบล พร้อมกับต่อยอดถ่ายทอดให้ความรู้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อออกพื้นที่แนะนำประชาชนกลุ่มเสี่ยงให้สามารถจัดเก็บตัวอย่างอุจจาระผ่านอุปกรณ์การตรวจคัดกรองเบื้องต้น พร้อมกับส่งให้เจ้าหน้าที่ตรวจทันที
ทั้งนี้ หากพบว่าผลเป็นบวกคือมีความเสี่ยงจะเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ จะมีการนัดหมายให้เข้ามาส่องกล้องตรวจที่โรงพยาบาลนครปฐม และหากพบชิ้นเนื้อก็จะมีการตัดไปตรวจพิสูจน์ก่อนจะทำการรักษาต่อไป โดยทั้ง 3 ขั้นตอนตรวจสอบตั้งแต่ต้นทางคือประชาชนมาถึงโรงพยาบาลกระทั่งทราบว่าป่วยจริงหรือไม่นั้น ใช้เวลาราว 2 สัปดาห์ก็จะทราบผล
“ทำให้ผู้ป่วยหรือผู้ที่ผลเป็นบวกให้ไม่มีข้อกังวล เพราะอย่างที่กล่าวว่าหากพบเจอเร็วก็สามารถรักษาให้หายขาดได้เร็วเช่นกัน และผลการตรวจก็แม่นยำ รวมถึงการทำงานของทีมแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ก็มีความเข้มแข็งอย่างมาก” นพ.วีรศักดิ์ กล่าว
ขณะที่ นพ.ชัยพร สุชาติสุนทร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครปฐม กล่าวทิ้งท้ายว่า ได้ดำเนินการ 3 เร่งเกี่ยวกับมะเร็งคือ 1.เร่งตรวจค้นหากลุ่มเสี่ยงให้ครอบคลุม 2.เร่งวินิจฉัยโรคเพื่อให้เกิดการรักษาที่รวดเร็วและการตรวจพิสูจน์ที่แม่นยำ และสร้างกำลังใจและเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ป่วยในการรักษา และ 3.เร่งรักษา อย่างไรก็ตาม โรคมะเร็งสามารถป้องกันได้ตั้งแต่ต้นทางคือที่ประชาชน โดยเฉพาะมะเร็งลำไส้และทวารหนักจะเกี่ยวพันกับอาหารการกิน รวมถึงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ด้วย
“ประชาชนควรระมัดระวังสุขภาพ หลีกเลี่ยงความเสี่ยงทั้งการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา และรับประทานอาหารที่สะอาดปลอดภัย รวมถึงให้ควบคุมเรื่องของอารมณ์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ก็จะช่วยให้สุขภาพแข็งแรง จิตใจแข็งแรง และลดความเสี่ยงป่วยเป็นมะเร็ง” นพ.ชัยพร กล่าว