พลิกคำวินิจฉัย ป.ป.ช.คดี 3 รมต.ยุค พล.อ.สุรยุทธ์ ถือหุ้นเกิน 5% โชว์สปิริตลาออกทันที
ย้อนคำวินิจฉัย ป.ป.ช. ยุค ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ กรณี 3 รมต. ยุค พล.อ.สุรยุทธ์ ถือครองหุ้นเกิน 5% ชี้ไม่เหมาะสม มีผลประโยช์ทับซ้อน บทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญปี 50 คุ้มครอง ก่อนเจ้าตัวโชว์สปิริตลาออกทันที
กรณีการถือหุ้นเกิน 5% ของรัฐมนตรี ที่กำลังเป็นประเด็นตรวจสอบในขณะนี้ ไม่ใช่มีแค่ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นรายแรก หากย้อนในยุครัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี มีรัฐมนตรี 8 คน ได้แก่ นายสิทธิชัย โภไคยอุดม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ,นายอารีย์ วงศ์อารยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ,นางอรนุช โอสถานนท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ , นายสวนิต คงสิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ,นายเกษม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ,นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ,นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ,นายนิตย์ พิบูลย์สงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
ในยุครัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช 2 คน คือ นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (ภรรยาถือหุ้นเกิน 5%) และ นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
ปรากฎว่า 5 คนลาออกจากตำแหน่ง คือ นายสิทธิชัย ,นายอารีย์ ,นางอรนุช , นายสวนิต และนายเกษม ที่เหลือไม่ลาออก ในจำนวนนี้ 1 คนคือ นายไชยา ศาลรัฐธรรมนูญมีคำพิพากษาว่าขาดคุณสมบัติจากความเป็นรัฐมนตรี
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำคำวินิจฉัยของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) กรณีการตรวจสอบการถือหุ้นเกิน 5% นายสิทธิชัย นายอารีย์ และ นางอรนุช โดยไม่แจ้งต่อ ป.ป.ช.ภายใน 30 วัน ตามคำแถลง เมื่อวันที่ 20 ก.ย.2550 มาเสนอ
ตามที่ คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน ได้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งได้มีการประกาศเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับทราบแล้วนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ตรวจสอบความถูกต้องและความมีอยู่จริงของทรัพย์สินและหนี้สินดังกล่าวแล้ว ปรากฏว่ามีรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลชุดนี้ได้ถือครองหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทเกินกว่าร้อยละ 5 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่จำหน่ายได้ ซึ่งเป็นการไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 ดังนี้
นายสิทธิชัย โภไคยอุดม ถือครองหุ้นในบริษัทต่างๆ 3 บริษัท ได้แก่ 1. บริษัท วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนานาชาติ จำกัด ถือครองหุ้นจำนวน 59,170 หุ้น (จากจำนวนหุ้นทั้งหมด 366,000 หุ้น) คิดเป็นร้อยละ 16.17 , 2. บริษัท อุตสาหกรรมอวกาศไทย จำกัด ถือครองหุ้นจำนวน 49,037 หุ้น (จากจำนวนหุ้นทั้งหมด 158,500 หุ้น) คิดเป็นร้อยละ 31.33 และ 3. บริษัท วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี จำกัด ถือครองหุ้นจำนวน 3,136 หุ้น (จากจำนวนหุ้นทั้งหมด 10,000 หุ้น) คิดเป็นร้อยละ 31.36
นางอรนุช โอสถานนท์ ถือครองหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัดและบริษัท 3 บริษัท ได้แก่ 1 ห้างหุ้นส่วนจำกัด บ้านดอกพุด ถือครอง จำนวน 2,000,000 หุ้น (จากจำนวนหุ้นทั้งหมด 3,000,000 หุ้น) คิดเป็นร้อยละ 66.67 ,2. บริษัท บุณยพรหม 2548 จำกัด ถือครองหุ้นจำนวน 500,000 หุ้น (จากจำนวนหุ้นทั้งหมด 1,000,000 หุ้น) คิดเป็นร้อยละ 50 และ 3. บริษัท อุดมแร่มรวย จำกัด ถือครองหุ้นจำนวน 100,000 หุ้น (จากจำนวนหุ้นทั้งหมด 200,000 หุ้น) คิดเป็นร้อยละ 50
นายอารีย์ วงศ์อารยะ ถือครองหุ้นในบริษัท ตรังซัวร์ จำกัด 2,000,000 หุ้น (จากจำนวนหุ้นทั้งหมด 10,000,000 หุ้น) คิดเป็นร้อยละ 20
คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่า นายสิทธิชัย นางอรนุช ท์ และนายอารีย์ มิได้แจ้งต่อประธานกรรมการ ป.ป.ช. ว่าประสงค์จะได้รับประโยชน์จากการเป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทในส่วนที่เกินกว่าจำนวนที่กำหนดในห้างหุ้นส่วนและบริษัทต่างๆ ดังกล่าว ที่เกินกว่าร้อยละ 5 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่จำหน่ายได้
รวมทั้งมิได้โอนหุ้นส่วนหรือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทดังกล่าวให้แก่นิติบุคคลที่มีอำนาจจัดการกองทุนส่วนบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือนิติบุคคลซึ่งจัดการทรัพย์สิน เพื่อประโยชน์ของผู้อื่นตามกฎหมายแต่อย่างใด ซึ่งเดิมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้กำหนดโทษในกรณีรัฐมนตรีถือหุ้นเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดแล้วไม่โอนไปให้นิติบุคคลตามที่กฎหมายกำหนดจัดการแทน คือ ให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามมาตรา 209 ประกอบมาตรา 216 (6)
@บทเฉพาะกาล รธน.ปี 50 อุ้มพ้นผิด
แต่เนื่องจากประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 19 กันยายน 2549 ให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 สิ้นสุดลง จึงไม่สามารถนำบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาใช้บังคับได้
ประกอบกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ก็มิได้บัญญัติเรื่องความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวในกรณีนี้ไว้ เช่นเดียวกับรัฐธรรมแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 อีกทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้บัญญัติไว้ในบทเฉพาะกาลมาตรา 298 วรรคสาม มิให้นำบทบัญญัติเรื่องให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวในกรณีที่รัฐมนตรีถือหุ้นเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดแล้วไม่โอนไปให้นิติบุคคลตามที่กฎหมายกำหนดจัดการแทน ตามมาตรา 182 (7) มาใช้บังคับกับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ความเป็นรัฐมนตรีของบุคคลทั้งสามจึงไม่สิ้นสุดลง
สำหรับกรณีที่บุคคลทั้งสามได้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทต่างๆ เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดและไม่ได้ทำการโอนหุ้นส่วนหรือหุ้นไปให้นิติบุคคลตามกฎหมายจัดการแทนนี้ หากปรากฎว่าบุคคลทั้งสามได้เข้าไปกระทำการใดอันมีลักษณะเป็นการเข้าไปบริหารครอบงำหรือออกคำสั่งเกี่ยวกับการจัดการหุ้นส่วนหรือหุ้นหรือจัดการหาผลประโยชน์ในหุ้นส่วนหรือหุ้นของตนดังกล่าวแล้ว จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 มาตรา 11 ซึ่งกำหนดห้ามมิให้รัฐมนตรีกระทำการใดอันมีลักษณะเป็นการเข้าไปบริหารครอบงำ หรือออกคำสั่งเกี่ยวกับการจัดการหุ้นส่วนหรือหุ้นหรือการจัดหาผลประโยชน์ในหุ้นส่วนหรือหุ้น ซึ่งมีโทษตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว หรือไม่นั้น
@ชี้พฤติกรรมไม่เหมาะสม
คณะกรรมการ ป.ป.ช.เห็นว่า ตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ข้อความว่า "การเข้าไปบริหารครอบงำหรือออกคำสั่งเกี่ยวกับการจัดการหุ้นส่วนหรือหุ้น หรือจัดหาผลประโยชน์ในหุ้นส่วนหรือหุ้น" ต้องเป็นกรณีที่รัฐมนตรีได้โอนหุ้นส่วนหรือหุ้นไปให้นิติบุคคลตามกฎหมายจัดการแทนแล้วรัฐมนตรีเข้าไปบริหารครอบงำหรือออกคำสั่งเกี่ยวกับการจัดการหุ้นส่วนหรือหุ้น หรือจัดหาผลประโยชน์ในหุ้นส่วนหรือหุ้นนั้น แต่บุคคลทั้งสามได้ถือครองหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทต่างๆ ดังกล่าว เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดและไม่ได้ทำการโอนหุ้นส่วนหรือหุ้นไปให้นิติบุคคลตามกฎหมายจัดการแทน บุคคลทั้งสามจึงไม่อาจกระทำการใดอันมีลักษณะเป็นการเข้าไปบริหารครอบงำหรือออกคำสั่งเกี่ยวกับการจัดการหุ้นส่วนหรือหุ้น หรือ จัดการ หาผลประโยชน์ในหุ้นส่วนหรือหุ้นได้ การกระทำของบุคคลทั้งสามจึงไม่ครบองค์ประกอบ ความผิด ตาม มาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว
อย่างไรก็ดี โดยที่ปรากฏว่า มีรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดนี้บางคนซึ่งถือครองหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทเกินกว่าร้อยละห้าของจำนวนหุ้นทั้งหมด ได้โอนหุ้นส่วนหรือหุ้นไปให้นิติบุคคลตามกฎหมายจัดการแทนและได้แจ้งให้ประธานกรรมการ ป.ป.ช.ทราบ อันเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 ดังนั้น การที่รัฐมนตรีทั้งสามคนนี้มิได้ดำเนินการเช่นเดียวกับรัฐมนตรีบางคนดังกล่าว จึงถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม และขัดต่อหลักการในเรื่องของการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับผลประโยชน์ส่วนรวม คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงมีมติให้รายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบ เพื่อพิจารณาดำเนินการตามควรแก่กรณีต่อไป
ทั้งนี้ คณะกรรมการชุดนี้ มีนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ เป็นประธาน กรรมการ ป.ป.ช. ปัจจุบันเป็น ประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ในรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา กรรมการ ป.ป.ช.ชุดนี้ อาทิ นายกล้านรงค์ จันทิก ปัจจุบัน เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นต้น
อ่านประกอบ:
เทียบคดี ‘เมียดอน-เมียไชยา’ เหมือนกันเป๊ะ ปมถือหุ้นเกิน 5%
เมีย‘ดอน’ลดสัดส่วนเหลือ 4% เพิ่งโอนหุ้นส่วนเกินให้ลูกชาย หลังนั่ง รมต.2 ปี