โกงทุนเสมาต้องเยียวยา 18 ล้านคืน 40 ร.ร.
“อรรถพล” สรุปยอดเงินที่กองทุนเสมาฯ ต้องเยียวยาคืน 40 สถานศึกษากว่า 18 ล้านบาท-ตั้งกก.สอบวินัยผู้เกี่ยวข้องทุจริต 25 ราย ล่าสุดส่งหนังสือหารือ ก.พ.ขอชี้ชัดการตั้งสำนวนให้เป็นอำนาจใคร เหตุเกี่ยวพันข้าราชการหลายหน่วยงาน
เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.2561 นายอรรถพล ตรึกตรอง ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการสืบข้อเท็จจริงกรณีทุจริตกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบความเสียหายและการเยียวยาเงินให้แก่สถานศึกษา ว่า จากที่ได้สรุปผลการสืบข้อเท็จจริงกรณีโกงกองทุนเสมาพัฒนาชีวิตเสนอต่อ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัด ศธ.โดยมีผู้เกี่ยวข้องจำนวน 25 รายรวมนางรจนา สินที อดีตข้าราชการชำนาญการพิเศษระดับ 8 สำนักส่งเสริมกิจการการศึกษา ของ สป.ศธ.ที่ถูกลงโทษไล่ออกจากราชการไปก่อนหน้านี้ โดยครั้งนี้เป็นการสรุปข้อมูลครั้งสุดท้ายเรื่องการเยียวยา ภายหลังทำการตรวจทานสเตทเมนท์ของวิทยาลัยพยาบาล สังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) 26 แห่งและโรงเรียนราชประชานุเคราะห์/ศึกษาสงเคราะห์ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 41 แห่งนั้น คณะกรรมการสืบข้อเท็จจริงฯ พบว่าจะต้องเยียวยาแก่สถานศึกษาเป็นเงินทั้งสิ้น 18,655,825 บาท แบ่งเป็น โรงเรียน สพฐ. 20 แห่ง จำนวน 7,290,825 บาท และวิทยาลัยพยาบาล 20 แห่ง จำนวน 11,365,000 บาท
ขณะเดียวกัน ยังต้องเรียกเงินคืนจากวิทยาลัยพยาบาล 5 แห่งและโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 1 แห่ง รวม 6 แห่งซึ่งตรวจสอบพบว่ามีการโอนเงินเกินไปจากนางรจนาและพวก ซึ่งเมื่อหักลบหลังจากได้รับเงินเยียวยาคืนไปแล้วก็จะมียอดเงินที่กองทุนฯต้องเรียกคืนรวม 1,140,691 บาท รวมถึงให้จ่ายเงินชดเชยในส่วนที่ขาดด้วยทั้งนี้ จะเสนอคณะกรรมการบริหารกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต ที่มี นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัด ศธ. เป็นประธาน ทั้งนี้ เงินเยียวยานี้จะให้ย้อนหลังไป 10 ปี ทั้งนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ และจบการศึกษาไปแล้ว แต่ส่วนใหญ่สถาบันการศึกษามักแก้ปัญหาด้วยการจ่ายเงินเด็กกองทุนนี้ด้วยเงินส่วนอื่นไปก่อน
ด้าน นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า เรื่องการเยียวยาให้แก่ผู้รับทุนกองทุนเสมาฯนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้รับข้อมูลจาก นายอรรถพล แต่ก่อนหน้าที่มีการประชุมคณะกรรมการบริการกองทุนเสมาฯ ได้มีมติให้ทำหนังสือสอบถามไปยังกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังว่ากองทุนสามารถนำเงินที่มีอยู่ ซึ่งเป็นในส่วนของกำไรมาใช้เพื่อเยียวยาเด็กที่ไม่ได้รับทุนได้หรือไม่ ซึ่งก็ได้ทำหนังสือไปเรียบร้อยแล้ว รอทางกรมบัญชีกลางตอบกลับมา หากตอบกลับมาเช่นไรก็จะนัดประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ทันที ซึ่งถ้ากรมบัญชีกลางตอบว่าสามารถใช้เงินดังกล่าวได้ ที่ประชุมก็สามารถอนุมัติการจ่ายเพื่อเยียวยาได้ทันทีเพราะมีเงินแล้ว ขณะเดียวกัน ในการประชุมครั้งต่อไปก็จะต้องพิจารณาไปถึงการวางมาตรการสำหรับการดูแลเด็กทุนเสมาฯรุ่นใหม่ และจัดทำคู่มือการเบิกจ่ายเงินกองทุนฯด้วย
ปลัด ศธ. กล่าวต่อไปว่า ส่วนความคืบหน้าในการตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องนั้น ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างให้นิติกร ตรวจสอบสำนวนที่คณะกรรมการสืบข้อเท็จจริงฯ สรุปมา แต่เนื่องจากผู้ที่คณะกรรมการสืบข้อเท็จจริงฯชี้มูลว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตกองทุนเสมาฯ ทั้ง 25 รายนั้น เป็นข้าราชการในหลายระดับ อยู่ในหลายสังกัด เช่น สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย ฯลฯ จึงเป็นประเด็นว่ากรณีนี้เกี่ยวกับข้าราชการหลายคนและมีผู้บังคับบัญชาหลายระดับ เช่นนี้ใครจะเป็นผู้บังคับบัญชาที่สามารถดำเนินการสั่งสำนวนได้ เช่น ร้ายแรง ไม่ร้ายแรง หรือยุติ ดังนั้น ศธ.จึงได้ทำหนังสือหารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ว่ากรณีลักษณะใครจะเป็นผู้มีอำนาจในการสั่งสำนวนเพื่อให้เกิดความชัดเจนและดำเนินการที่ถูกต้อง ส่วนการสอบความผิดทางละเมิดนั้นยังอยู่ระหว่างการทาบทามกรรมการเข้ามาทำหน้าที่
“ถึงแม้จะมีข้าราชการ ศธ.เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้และสามารถเสนอ รมว.ศึกษาธิการ สั่งการได้ แต่ก็มีคนของหลายหน่วยงานมาเกี่ยวข้องต้องดูให้ละเอียด ซึ่งการหารือกับก.พ.จะได้แนวทางชัดเจน ว่าให้แต่หน่วยงานสั่งสำนวนเอง สั่งอย่างไร หรือจะทำสำนวนในภาพรวมทีเดียว จากนี้คงต้องรอทาง ก.พ.ตอบมา ซึ่งหลังจากส่งหนังสือเป็นทางการแล้วผมก็จะประสานอย่างไม่เป็นทางการขอให้ทาง ก.พ.ช่วยพิจารณาโดยเร็วด้วย” นายการุณ กล่าว