ทปอ.ราชมงคล เห็นชอบตั้งกระทรวงใหม่ผลิตบัณฑิตนักปฎิบัติ
ทปอ.ราชมงคล เห็นชอบตั้งกระทรวงใหม่ผลิตบัณฑิตนักปฎิบัติ นพ.อุดม พร้อมเสนอพิจารณา มทร. เป็นมหาวิทยาลัยเฉพาะทางเช่นเดียวกับสามพระจอม
เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2561 ณ Wecosystem ชั้น 9 เกษรทาวเวอร์ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (รวท.) พร้อมด้วยนพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และคณะผู้บริหารหน่วยงานกระทรวงวิทย์ฯ ร่วมประชุมหารือกับ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงล (มรท.) เรื่องการจัดตั้งกระทรวงใหม่ พร้อมดำเนินงานตอบโจทย์นโยบายรัฐบาล เรื่อง การสร้างคน สู่ “Thailand 4.0”
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (รวท.) เปิดเผยหลังการประชุมหารือ ทปอ.มหาวิทยาลัยราชมงคล ว่า ทปอ.ราชมงคล ไม่ขัดข้องกับแนวคิดการผนวกรวมกระทรวงฯ ตามชื่อที่เสนอ คือ “กระทรวงการอุดมศึกษา การวิจัย และนวัตกรรม”โดยเห็นว่าการผลิตกำลังคนคุณภาพเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งกระทรวงใหม่จะต้องมุ่งผลิต บัณฑิตนักปฏิบัติให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด อาทิ โครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ นอกจากนี้ ที่ประชุมมีข้อสังเกตว่ามหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกส่วนใหญ่จะเป็นเอกชนที่มีความคล่องตัวสูง ดังนั้น การจัดตั้งกระทรวงใหม่จึงควรสร้างความคล่องตัวในการบริหารงานและวิจัยของมหาวิทยาลัยด้วย เพื่อเสริมสร้างศักยภาพขององค์กร และควรกำหนด เป้าหมายของการอุดมศึกษาให้ชัดเจน
ดร.สุวิทย์ฯ รวท. กล่าวต่อว่า นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ ชี้แจงว่า ร่าง พ.ร.บ.อุดมศึกษา กำหนดเรื่องดังกล่าวไว้แล้ว โดยแบ่งสถาบันอุดมศึกษาตาม ภารกิจและแต่ละสถาบันจะต้อง มีจุดยืนจองตัวเองตามความเชี่ยวชาญโดยรัฐอาจจะยังต้องอุดหนุนเรื่องการวิจัยของสถาบันอุดมศึกษาเพื่อประโยชน์ของประเทศอยู่ ทั้งนี้ 9 ราชมงคล จะเป็นส่วนเติมเต็มของระบบอุดมศึกษาไทยได้ – ในช่วงที่ผ่านมา ศธ. เคยกำหนดให้มีการเทียบโอนระหว่างหลักสูตรได้ ทำให้เกิดค่านิยมการเรียนสายสามัญเพื่อปริญญาเท่านั้น ซึ่งจะไม่สร้างความแตกต่างของสถาบันการศึกษา โดยเฉพาะในสายราชมงคลหรืออาชีวศึกษา ควรบูรณาการการเรียนการสอนระหว่าง ม.ราชมงคล ให้นักศึกษาสามารถเรียนข้าม มทร. ได้ และเห็นด้วยกับแนวคิด “มหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนา” ซึ่งจะสร้างความเข้มแข็งให้กับแต่ละพื้นที่ได้ เช่น มทร.ล้านนา มีโครงการเกษตรอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก ที่ทำวิจัยพืชเกษตรในท้องถิ่น (กล้วย) ส่งโรงงานอุตสาหกรรม สร้างรายได้ให้กับคนในท้องถิ่นได้
ดร.สุวิทย์ กล่าวอีกว่า ตนได้ ฝาก ทปอ.ราชมงคล ให้พิจารณาถึงจุดยืนของ มทร. ในอนาคต ว่าต้องการให้เป็นไปในทิศทางใด จะมุ่งผลิตนักนวัตกรใช่หรือไม่ ขณะที่ นพ.อุดม เสนอว่าจะพิจารณา มทร. เป็นมหาวิทยาลัยเฉพาะทาง ซึ่งอาจจัดกลุ่มรวมกับสามพระจอมและมหาวิทยาลัยในพื้นที่บางแห่ง เช่น ม.แม่โจ้ ซึ่งกลุ่มนี้จะเป็น บทบาทที่สำคัญในการพัฒนาเชิงพื้นที่ของประเทศ และจะต้องสร้างเครือข่ายหรือเชื่อมโยงระหว่างกันให้เกิดขึ้นอย่างมีพลัง