ปภ.เน้นหนักขับเคลื่อนนโยบายยกระดับจัดการสาธารณภัย ปี 61
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขับเคลื่อนนโยบายเน้นหนัก ปี พ.ศ 2561 มุ่งยกระดับการจัดการสาธารณภัยของประเทศ ด้วยการพัฒนาระบบการแจ้งเตือนภัยให้รวดเร็ว ทั่วถึง พร้อมบูรณาการการจัดการในภาวะฉุกเฉินอย่างเป็นระบบและมีเอกภาพ ควบคู่กับการสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยและฟื้นฟูฟื้นที่ประสบภัยอย่างรอบด้าน รวมถึงเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายให้มีความพร้อมในการจัดการสาธารณภัย เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลด้านความปลอดภัยจากภัยพิบัติอย่างดีที่สุด และสร้างประเทศไทยเป็นเมืองปลอดภัยอย่างยั่งยืน
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีแนวโน้มเกิดสาธารณภัยบ่อยครั้ง และทวีความรุนแรง ประกอบกับรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบการเตรียมพร้อมรับมือสาธารณภัย และวางกลไก
การจัดการสาธารณภัยที่มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างประเทศไทยเป็นเมืองปลอดภัยอย่างยั่งยืน กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้กำหนดนโยบายเน้นหนักประจำปี พ.ศ. 2561 เพื่อยกระดับการจัดการสาธารณภัยของประเทศ
ให้ครอบคลุมทุกมิติ และเชื่อมโยงทุกระดับอย่างรอบด้านตามแนวทาง ปภ. 4.0 โดยประสานพลัง “ประชารัฐ” เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเชิงรุกที่เข้มแข็งและยั่งยืน ดังนี้ 1.พัฒนาการแจ้งเตือนภัยให้รวดเร็ว ทั่วถึง
โดยปรับปรุงและจัดหาอุปกรณ์ เครื่องมือ และเทคโนโลยีมาสนับสนุนการแจ้งเตือนภัยให้มีความแม่นยำมากขึ้น พร้อมพัฒนากระบวนการแจ้งเตือนภัยที่เป็นระบบและมีเอกภาพ ควบคู่กับการเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญด้านการแจ้งเตือนภัย
อีกทั้งขยายช่องทางการสื่อสารให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลการแจ้งเตือนภัยอย่างรวดเร็วและครอบคลุมทุกพื้นที่ 2.บูรณาการระบบการจัดการในภาวะฉุกเฉินอย่างมีมาตรฐานและเป็นเอกภาพ โดยนำระบบการบัญชาการเหตุการณ์ (Incident Command System: ICS) มาเป็นเครื่องมือสำคัญในการอำนวยการ สั่งการ และแก้ไขปัญหาสาธารณภัย พร้อมวางแนวทางการบูรณาการ
การจัดการในภาวะฉุกเฉินที่มีมาตรฐานเดียวกัน รวมถึงนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการรายงานสาธารณภัย เพื่อให้สามารถสนธิกำลัง เชื่อมต่อพื้นที่ และภารกิจได้ทันที 3.ประสานการช่วยเหลือและฟื้นฟูอย่างรอบด้าน มุ่งเน้นการสงเคราะห์ และช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างรวดเร็ว ทั่วถึง และเป็นธรรม ภายใต้ระเบียบกฎหมายที่กำหนด พร้อมพัฒนาระบบการประเมินความต้องการ
หลังเกิดสาธารณภัย (Post – Disaster Need Assessment : PDNA) เพื่อกำหนดรูปแบบการช่วยเหลือที่สอดคล้องกับสถานการณ์ภัยและความจำเป็นขั้นพื้นฐานในเบื้องต้น 4.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมเครือข่ายอาสาสมัครทุกภาคส่วนในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันด้านการจัดการสาธารณภัยแก่ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย พร้อมส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีขีดความสามารถในการรับมือภัยพิบัติ รวมถึงพัฒนาศักยภาพ อปพร. ให้พร้อมรองรับการจัดการสาธารณภัย
ในระดับพื้นที่และเป็นต้นแบบเครือข่ายอาสาสมัครจิตอาสา ควบคู่กับการวางระบบงานอาสาสมัครด้านการกู้ภัยให้มีเอกภาพ อีกทั้งส่งเสริมการเรียนรู้และปลูกฝังจิตสำนึกด้านความปลอดภัยแก่เยาวชน ตลอดจนสร้างการมีส่วนร่วมในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยผ่านกลไกการสื่อสารทุกรูปแบบ