เทียบคดี ‘เมียดอน-เมียไชยา’ เหมือนกันเป๊ะ ปมถือหุ้นเกิน 5%
พลิกคดีเมียไชยา สะสมทรัพย์ อดีต รมว.สาธารณสุข ถือหุ้น บ.ทรัพย์ฮกเฮง เกิน 5% เทียบเคียง เมียดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ เหมือนกันเป๊ะ ไม่แจ้ง ป.ป.ช.ใน 30 วัน ก่อนศาลรัฐธรรมนูญฟันให้พ้นตำแหน่ง 30 วัน ตั้งแต่วันได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี
การถือหุ้นเกิน 5% ของ นางนรีรัตน์ ปรมัตถ์วินัย ภรรยา นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เหมือนหรือต่างกันกับการถือหุ้นเกิน 5% ของนางจุไร สะสมทรัพย์ ภรรยา นายไชยา สะสมทรัพย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช อย่างไร?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำข้อมูลมาเทียบเคียง!
กรณี นายดอน ปรมัตถ์วินัย
นางนรีรัตน์ ปรมัตถ์วินัย ถือหุ้น บริษัท ปานะวงศ์ จำกัด จำนวน 7,200 หุ้น มูลค่า 3,600,000 บาท จากจำนวนทั้งหมด 60,000 หุ้น มูลค่า หุ้นละ 500 บาท หรือคิดเป็น 12 % ของทุนจดทะเบียน และ บริษัท ปานะวงศ์ รีแอลที่ จำกัด จำนวน 3,500 หุ้น จากจำนวนทั้งหมด 20,000 หุ้น มูลค่า หุ้นละ 500 บาท หรือคิดเป็น 17.50 % ของทุนจดทะเบียน
นายดอนไม่ได้แจ้งให้ ป.ป.ช.ทราบว่าประสงค์จะได้รับผลประโยชน์ จากการที่ภรรยาถือหุ้นในบริษัท ปานะวงศ์ จำกัด และ บริษัท ปานะวงศ์ รีแอลที่ จำกัด เกินกว่าร้อยละ 5 ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี (ทั้งสองบริษัทประกอบธุริจอสังหาริมทรัพย์)
กรณีนายไชยา สะสมทรัพย์
นางจุไร สะสมทรัพย์ ถือหุ้นบริษัท ทรัพย์ฮกเฮง จำกัด จำนวน 25,000 หุ้น มูลค่า 2,500,000 บาทจดทะเบียน 5 ล้านบาท แบ่งเป็น 50,000 หุ้น หุ้นละ 100 บาท เท่ากับนางจุไรถือหุ้น 50% ( บริษัท ทรัพย์ฮกเฮง ประกอบกิจการโรงแรมม่านรูดของครอบครัว ตระกูลสะสมทรัพย์มีธุรกิจหลายประเภท)
นายไชยาไม่ได้แจ้งให้ ป.ป.ช.ทราบว่าประสงค์จะได้รับผลประโยชน์ จากการที่ภรรยาถือหุ้นในบริษัท ทรัพย์ฮกเฮง จำกัด เกินกว่าร้อยละ 5 ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี
จากข้อมูลเห็นได้ว่าทั้งสองคนมีข้อเท็จจริงคล้ายกัน เป็นกรณีการถือหุ้นของคู่สมรส เกินจำนวนกว่ากฎหมายกำหนด และไม่แจ้งต่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ภายในเวลาที่กำหนด ตามพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 แต่มีความแตกต่างกันตรง ต้นเรื่องในการตรวจสอบ (คนชง)
กรณีของนายไชยา คณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นผู้ตรวจสอบแล้วลงมติ ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ารัฐมนตรีขาดคุณสมบัติหรือไม่ ส่วน กรณีของนายดอน คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้ตรวจสอบและลงมติ ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ทั้งสองกรณีเกิดขึ้นในช่วงเวลาต่างกัน และใช้หลักการตัดสินใจเหมือนกันคือ ไม่ได้ลาออกจากตำแหน่ง ทั้งคู่ (ณ ขณะนี้)
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีนายไชยา
วันที่ 9 ก.ค. 2551 ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่านายไชยาขาดคุณสมบัติจากความเป็นรัฐมนตรี เพราะกระทำอันเป็นลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 269 รัฐธรรมนูญ 2550 โดยศาลวินิจฉัยว่า ข้อโต้แย้ง 4 ประเด็น ของนายไชยา ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นเหตุผลที่ “ฟังไม่ขึ้น”
“...ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติ จึงมีมติกรณีนายไชยาได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2551 และได้ยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สิน พร้อมเอกสารประกอบของตนเอง และคู่สมรสต่อ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2551 กรณีการเข้ารับตำแหน่งดังกล่าว และไม่ปรากฎว่านายไชยาได้แจ้งให้ป.ป.ช.ทราบว่าประสงค์จะได้รับผลประโยชน์ จากการที่ภรรยาถือหุ้นในบริษัท ทรัพย์ฮกเฮง จำกัด เกินกว่าร้อยละ 5 ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี ตามมาตรา 269 ซึ่งบัญญัติว่าจะต้องแจ้งให้ประธาน ป.ป.ช.ทราบจึงมีหน้าที่ต้องแจ้งตามที่กฎหมายบัญญัติด้วย
จึงถือว่าการกระทำของนายไชยา เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 269 เป็นการกระทำการอันต้องห้าม ตามมาตรา 182 วรรค 1 (7) ประกอบมาตรา 269”
“ มีกรณีต้องวินิจฉัยต่อไปว่าผู้ถูกร้อง ต้องพ้นจากตำแหน่งเมื่อใด เห็นว่าความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้อง สิ้นสุดลงเมื่อพ้นกำหนด 30 วัน ตั้งแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 วรรค 1 (7) บัญญัติให้ความเป็นรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัว เมื่อกระทำการอันต้องห้ามตามมาตรา 269 หมายถึงว่าเมื่อมีเหตุการณ์ใด เหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้น ความเป็นรัฐมนตรีย่อมต้องสิ้นสุดลงทันที ไม่ใช่ในวันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ส่วนมาตรา 92 เป็นการบัญญัติถึงการออกจากตำแหน่งไว้ เพื่อแก้ปัญหาอันเกี่ยวกับกิจการที่รัฐมนตรีได้ทำไป หลังจากความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงแล้ว จนถึงวันที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัย ไม่ให้กระทบกระเทือนกิจการ ที่กระทำไปในระหว่างนั้น หากความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ย่อมไม่มีความจำเป็นบัญญัติรับรองกิจการที่ทำไปก่อนการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ ปี2550 มาตรา 182 วรรค 1 (7) ประกอบมาตรา 269 ตั้งแต่วันที่พ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี”
เพราะฉะนั้น รอดูผลคำวินิจฉัยคดีนายดอน
อ่านประกอบ:
เมีย‘ดอน’ลดสัดส่วนเหลือ 4% เพิ่งโอนหุ้นส่วนเกินให้ลูกชาย หลังนั่ง รมต.2 ปี