เกาะติด! ปลดล็อก 3 อาชีพเสรี เอื้อต่างด้าว ‘บัญชี-วิศวกร-สถาปนิก’ ไร้ข้อสรุปทำได้หรือไม่
เกาะติดใกล้ชิด! ปลดล็อก 3 อาชีพเสรี เอื้อต่างด้าว ยึด ‘บัญชี-วิศวกร-สถาปนิก’ ไร้ข้อสรุปทำได้หรือไม่ ‘พล.ต.อ.อดุลย์’ มอบหมายปลัด ก.แรงงาน ประมวลความคิดเห็น ดันเข้าที่ประชุมอีกรอบ คาดมีคำตอบชัดเจน มิ.ย. 61
ยังไม่ได้ข้อสรุปที่แน่ชัด! สำหรับการพิจารณาหารือเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 61 ระหว่างพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ร่วมกับ 3 สภาวิชาชีพ ได้แก่ สภาวิศวกร สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ สภาสถาปนิก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับการพิจารณาให้คนต่างด้าวประกอบอาชีพวิศวกร นักบัญชี และสถาปนิก อย่างเสรีในประเทศไทยได้หรือไม่
โดยเบื้องต้น พล.ต.อ.อดุลย์ รับปากจะนำหลักการของสภาวิชาชีพกลับไปพิจารณา พร้อมมอบหมายให้ปลัดกระทรวงแรงงาน ประมวลข้อคิดเห็นและเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนภายใน มิ.ย. นี้ (อ่านประกอบ:ยังไม่สรุปอาชีพ ‘บัญชี-สถาปนิก-วิศวกร’ คนต่างด้าวทำได้หรือไม่)
ในส่วนวิศวกรรมโยธานั้น ศ.ดร.อมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกร ระบุยังมั่นใจในจุดยืนเดิมที่ว่า สภาวิศวกร “ไม่เห็นด้วย” กับการเปิดเสรีให้คนต่างด้าวเข้ามาประกอบวิชาชีพวิศวกรรมโยธา เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนและสาธารณะ เนื่องจากอาชีพดังกล่าว ถือว่าเป็นอาชีพสงวนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ. 2522 และตามพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ.2542 กำหนดให้วิศวกรรมโยธา เป็นวิศวกรรมควบคุม
อีกทั้งในมาตรา 45 ระบุว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากสภาวิศวกร อันเป็นเจตนารมณ์ของ พระราชบัญญัติวิศวกรที่ต้องการคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชนและสาธารณะเป็นสำคัญ”
หากมีความจำเป็นที่ต้องให้มีคนต่างด้าวเข้ามาประกอบวิชาชีพวิศวกรรมโยธา เช่น ในกรณีที่เกิดความขาดแคลนวิศวกรอย่างมาก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศหรือความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือกรณีที่ต้องรับถ่ายโอนเทคโนโลยีจากต่างชาติ หรือเป็นกรณีที่เป็นข้อผูกผันตามข้อตกลงระหว่างประเทศ เช่น ข้อตกลงยอมรับร่วมในเรื่องคุณสมบัติของนักวิชาชีพอาเซียนหรือ MRAs ที่ไทยได้ทำไว้ก้บชาติสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ก็ต้องกำหนดเงื่อนไขให้ชัดเจนโดยคำนึงประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ
“จะต้องกำหนดเงื่อนไขให้ชัดเจน ว่าสามารถเข้ามาได้ในกรณีใดบ้าง และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เพื่อขอรับใบอนุญาตหรือใบรับรองจากสภาวิศวกรเสียก่อน เพื่อให้สภาวิศวกรมีมาตรการควบคุมและกำกับการทำงาน และจะต้องเข้ามาในฐานะลูกจ้างในสาขาที่ขาดแคลนเท่านั้น และเสนอให้มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่าง กระทรวงแรงงาน และสภาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดเงื่อนไขในการเข้ามาของต่างด้าวให้ชัดเจน” เลขาธิการสภาวิศวกร กล่าว
ต้องปฏิบัติตามกฎ MRAs -ถือใบอนุญาตเฉพาะงาน
ขณะที่ก่อนหน้าที่จะมีการหารือกันเพียงหนึ่งวัน (31 พ.ค. 61) วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ได้จัดประชุมเพื่อคัดค้านแนวความคิดให้คนต่างด้าวเข้ามาประกอบอาชีพดังกล่าวได้อย่างเสรีด้วย นำโดยดร.ธเนศ วีระศิริ นายก วสท., รศ.เอนก ศิริพานิชกร ประธานคณะกรรมการสาขาวิศวกรรมโยธา วสท., นายสมจิตร์ เปี่ยมเปรมสุข อุปนายก วสท. และรศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ อดีตเลขาธิการ วสท.
ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่จะให้เสรีกับคนต่างด้าวเข้ามาประกอบอาชีพวิศวกรรม แต่ควรสงวนอาชีพดังกล่าวไว้ให้แก่คนไทย “ยกเว้น” ปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างประเทศหรือที่เกี่ยวข้อง
ขณะที่รศ.สิริวัฒน์ อธิบายว่า ปัจจุบันไทยมีช่องทางสำหรับนำเข้าคนต่างด้าวมาประกอบอาชีพวิศวกรรมผ่าน ข้อตกลงยอมรับร่วมในเรื่องคุณสมบัติของนักวิชาชีพของอาเซียน ( MRAs) 10 ประเทศ ให้สามารถโยกย้ายได้ แต่ไม่ใช่อยู่ดี ๆ จะเข้ามาได้เลย จำเป็นต้องมีพาสปอร์ตจากประเทศต้นทาง และผ่านวีซ่าจากไทย เพื่อให้มีใบอนุญาตเข้าทำงาน และมีข้อแม้ว่า จะต้องเป็นวิศวกรต่างด้าวถือใบอนุญาตแต่ละงานไป
ทั้งนี้ ได้ยกตัวอย่าง ‘จีน’ เข้ามาควบคุมโครงการรถไฟความเร็วสูงในประเทศไทย แต่ติดปัญหาข้อกฎหมาย ดังนั้น จึงต้องสอบภาคีพิเศษ เพื่อให้ได้ใบอนุญาต โดยมีมาตรา 44 ปลดล็อก เพราะปกติจีนไม่สามารถเข้ามาทำได้ เนื่องจากไม่ได้อยู่ในข้อตกลง 10 ประเทศอาเซียน
แต่กรณีขณะนี้ไม่รู้รายละเอียดว่า ขั้นตอนเป็นอย่างไร
เช่นเดียวกับดร.เอนก แสดงความเห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในใจคือความกังวล ความไม่เข้าใจ และสุดท้ายคิดว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมีผลกระทบ จึงตั้งคำถามว่า เพราะเหตุใดจึงไม่ทราบเรื่องหรือสอบถามความคิดเห็นมาก่อน ทั้งที่เป็นประเด็นใหญ่และไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะการนำเข้าแรงงานมาในประเทศเท่านั้น
การตัดสินใจขึ้นอยู่กับบอร์ดฯ จัดการคนต่างด้าว
นายสมบัติ นิเวศรัตน์ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ชี้แจงที่ผ่านมาได้มีการสำรวจความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 300 หน่วยงาน ซึ่งได้คำตอบพอสมควร และยังได้จัดประชุมอีก 2 ครั้ง คือ 26 ก.ย. 2560 และ 20 เม.ย. 2561 มีจำนวนผู้เข้าประชุมรวม 500 คน
โดยยืนยันว่า ในการจัดประชุมนั้น ได้มีผู้แทนของ ‘สภาวิศวกร’ เข้าร่วม และยังมีการรับฟังความคิดเห็นผ่านระบบออนไลน์ของกรมการจัดหางาน เกือบ 500 ความคิดเห็นด้วย
อย่างไรก็ตาม การพิจารณาไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเห็นของอธิบดีกรมการจัดหางานหรือปลัดกระทรวงแรงงาน แต่ขึ้นอยู่กับมติของคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการของคนต่างด้าว
ทั้งนี้ ล่าสุด ข้อมูลจากกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ระบุว่า ร่างประกาศกฎกระทรวงยังคงบัญญัติให้ อาชีพวิศวกรรม บัญชี และสถาปัตยกรรม ถูกจัดอยู่ในหมวดงานห้ามทำ โดยมีเงื่อนไขเป็นงานที่ประเทศไทยมีความผูกพันหรือพันธกรณี ซึ่งต้องปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างประเทศ
-งานให้บริการทางวิชาชีพบัญชี ตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพบัญชี แต่ไม่รวมถึงงานตรวจสอบภายใน ยกเว้นผู้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีตามข้อตกลงยอมรับร่วมคุณสมบัตินักวิชาชีพของอาเซียน (MRAs)
-งานในวิชาชีพวิศวกรรม สาขาวิศวกรรมโยธาฯ ที่เกี่ยวกับงานออกแบบและคำนวณ จัดระบบ วิจัย วางโครงการทดสอบ ควบคุมการก่อสร้าง หรือให้คำแนะนำ ยกเว้นผู้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมและวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามตามข้อตกลงยอมรับร่วมคุณสมบัตินักวิชาชีพของอาเซียน (MRAs) รวมถึงข้อตกลงระหว่างประเทศอื่นที่เกี่ยวกับการให้บริการวิศวกรรมข้ามแดนหรือผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมโยธา ตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกร
-งานในวิชาสถาปัตยกรรม ที่เกี่ยวกับงานออกแบบ เขียนแบบ ประมาณราคา อำนวยการก่อสร้าง หรือให้คำแนะนำ ยกเว้นผู้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมตามข้อตกลงยอมรับร่วมคุณสมบัตินักวิชาชีพของอาเซียน (MRAs)
ส่วนสุดท้าย ข้อสรุปจะออกมาเป็นอย่างไร คงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับอาชีพที่ควรสงวนให้เป็นของคนไทย ซึ่งยากจะให้คนต่างด้าวทำได้อย่างเสรี .
อ่านประกอบ:กรมการจัดหางานแจง วสท. ไม่ปลดล็อก ‘วิศวกรรมโยธา’ ให้คนต่างด้าวทำ ยกเว้นผ่านข้อตกลงข้ามแดน