ยังไม่สรุปอาชีพ ‘บัญชี-สถาปนิก-วิศวกร’ คนต่างด้าวทำได้หรือไม่
รมว.แรงงาน เผยผลหารือร่วม 3 สภาวิชาชีพ ยังไม่ได้ข้อสรุปการกำหนดอาชีพ ‘บัญชี-สถาปนิก-วิศวกร’ให้คนต่างด้าวทำได้หรือไม่ แต่พร้อมนำกลับมาทบทวนใหม่ให้สอดคล้องกับข้อคิดเห็นของแต่ละวิชาชีพ คาดภายในเดือนนี้ชัดเจน
พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงผลหารือเกี่ยวกับผู้ประกอบวิชาชีพตามข้อตกลงยอมรับร่วมในเรื่องคุณสมบัติของนักวิชาชีพอาเซียน(MRAs) ร่วมกับผู้แทน 3 สภา ได้แก่ สภาวิศวกร สภาวิชาชีพบัญชีและสภาสถาปนิก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และทีดีอาร์ไอ ที่กระทรวงแรงงาน วานนี้ (1มิ.ย.) ว่า ในส่วนของกระทรวงปฏิบัติตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ฉบับแก้ไข พ.ศ.2561โดยได้ทบทวนอาชีพของคนไทยที่สงวนไว้จำนวน 39 อาชีพ ซึ่งได้ข้อยุติว่าอาชีพสงวนไว้สำหรับคนไทยจำนวน 28 อาชีพ และอนุญาตให้คนต่างด้าวทำได้ ภายใต้เงื่อนไขจำนวน 11 อาชีพ
ส่วนอาชีพนักบัญชี สถาปนิก และวิศวกร ได้ทำตามเงื่อนไขของข้อตกลงระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน โดยให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานภายใต้เงื่อนไขกฎหมายของแต่ละประเทศ ซึ่งทั้ง 3 อาชีพ แรงงานต่างด้าวจะต้องไม่ได้เป็นนายจ้าง แต่เป็นลูกจ้าง ภายใต้การกำกับโดยนายจ้างคนไทยเท่านั้น
อย่างไรก็ตามจากการหารือกับทั้ง 3 สภาวิชาชีพ เพื่อต้องการให้เกิดความชัดเจน เบื้องต้นได้รับหลักการจากสภาวิชาชีพแต่ละแห่งไว้ก่อน ซึ่งจะต้องนำข้อคิดเห็นทั้งหมดกลับมาพิจารณาทบทวนให้รอบด้าน โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของแรงงานไทยและประเทศชาติ ซึ่งได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงแรงงานนำข้อคิดเห็นจากทุกฝ่ายไปประมวลและเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุมโต๊ะเล็กอีกครั้ง เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนภายในเดือนมิถุนายนนี้ .