สนช.ถกงบปี62วงเงิน3ล้านล้าน7มิ.ย.
สนช.ถกงบปี 62 วงเงิน 3 ล้านล้าน 7 มิ.ย. ศธ.ฟันงบสูงสุด 4.8 แสนล้าน
เมื่อวันที่ 31 พ.ค. ที่รัฐสภา นายยุทธนา ทัพเจริญ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(วิปสนช.) แถลงภายหลังการประชุมวิปสนช.นัดพิเศษว่า ที่ประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 วงเงิน 3,000,000,000,000 บาท (3ล้านล้านบาท) ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2561 จำนวน 1 แสนล้านบาท โดยจะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสนช. ในวันที่ 7 มิ.ย. มีทั้งหมด 61 มาตรา แบ่งเป็นรายจ่ายประจำ จำนวน 2,261,488.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบประมาณปี 2561 จำนวน 108,226 ล้านบาท รายจ่ายลงทุน จำนวน 660,305.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบประมาณปี 2561 จำนวน 510 ล้านบาท รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 78,205.5 ล้านบาท ลดลงจากงบประมาณปี 2561 จำนวน 8,736.8 ล้านบาท และวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 450,000 ล้านบาท
นายยุทธนา กล่าวอีกว่า งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 จำแนกตามกลุ่มงบประมาณ 6 กลุ่มคือ 1.กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบุคลากรภาครัฐ จำนวน 1,060,869 ล้านบาท 2.กลุ่มงบประมาณรายจ่ายกระทรวงหรือหน่วยงาน จำนวน 764,257.4ล้านบาท (ไม่รวมเงินอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งรวมอยู่ในกลุ่มงบประมาณรายจ่ายพื้นที่) 3.กลุ่มงบประมาณรานจ่ายบูรณาการ รวม 21 แผนงาน จำนวน 487,662.8 ล้านบาท 4.กลุ่มงบประมาณรายจ่ายพื้นที่ รวม 3 แผนงาน จำนวน 325,600.9 ล้านบาท 5.กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ จำนวน 259,609.9 ล้านบาท และ6.กลุ่มงบกลาง จำนวน 102,000 ล้านบาท (ไม่รวมค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ จำนวน 70,000 ล้านบาท)
ทั้งนี้ สำหรับกระทรวงที่ได้รับงบประมาณสูงที่สุดคือ 1. กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 489,789.6 ล้านบาท 2.งบกลาง จำนวน 468,032 ล้านบาท และ3.กระทรวงมหาดไทย จำนวน 373,519.7 ล้านบาท ส่วนกระทรวงที่ได้รับงบประมาณเพิ่มมากที่สุดคือ 1.งบกลาง เสนอตั้ง 768,032 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 52,448.8 ล้านบาท 2.กระทรวงมหาดไทย เสนอตั้ง 373,519.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19,216.1 ล้านบาท และ3.กระทรวงคมนาคม เสนอตั้ง 183,732.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14,964.5 ล้านบาท
นายยุทธนา กล่าวด้วยว่า งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 จำแนกตามยุทธศาสตร์ได้แก่ 1.ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง จำนวน 329,273.2 ล้านบาท 2.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จำนวน 406,564.6 ล้านบาท 3.ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน จำนวน 560,896.3 ล้านบาท 4.ยุทธศาสตร์ด้านการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างการเติบโตจากภายใน จำนวน 397,501.4 ล้านบาท
5.ยุทธศาสตร์ด้านการจัดการน้ำ และการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน จำนวน 117,266 ล้านบาท 6.ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ จำนวน 838,388.6 ล้านบาท และ7.รายการค่าดำเนินการภาครัฐ จำนวน 350,109.9 ล้านบาท ทั้งนี้ ที่ประชุมสนช.จะตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จำนวน 50 คน แบ่งเป็นสมาชิกสนช. 40 คน และจากคณะรัฐมนตรี 10 คน.
ที่มาข่าว: https://www.dailynews.co.th/politics/646611