เปิดหนังสือ อดีตผอ.สวท. ค้านนโยบายกปส. ข่าวเช้าสำคัญไฉน ทำไมหลีกทาง 'คุยถึงแก่น' ไม่ได้?
"...เมื่อ กปส. จะนำเสนอรายการคุยข่าวหรือเล่าข่าวแทน ก็จะทำให้ความเป็นทางการของ สวท. ในข่าวภาคเช้าสูญสลายไป แม้จะอ้างว่า สวท.ยังคงนำเสนอข่าวภาคเช้าในช่วง 08.00-09.00 น. แต่นั่น จะไม่มีผลทำให้ สถานีวิทยุเครือข่ายอื่น ๆ รวมทั้งระบบเสียงตามสาย ไม่เห็นความจำเป็น ในการเกาะสัญญานถ่ายทอด ข่าวภาคเช้า และ การเทียบเวลาเคารพธงชาติ อีกต่อไป ดังนั้น เพลงเทียบเวลาและเสียงเคาะส้อมเสียง ที่ฟังดูแสนเชยแต่ทรงมนต์ขลัง ที่จะดังพร้อมกันทั่วประเทศ ก็จะสูญสิ้นไปด้วย..."
ข่าวภาคเช้า ของสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย (สวท.) กรมประชาสัมพันธ์ มีความสำคัญอย่างไร? ทำไมถึงเลื่อนเวลาออกอากาศไป 1 ชั่วโมง เพื่อหลีกทางให้กับรายการเล่าข่าว 'คุยถึงแก่น' มาออกอากาศแทนไม่ได้?
มีคำอธิบายไปแล้วบางส่วนจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในกลุ่มข้าราชการ สวท. อย่างหนัก ต่อนโยบายเร่งด่วนของ พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด รักษาการอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ที่สั่งการให้ปรับผังรายการ สวท.ใหม่ ในการประชุมผู้บริหารกรมประชาสัมพันธ์ เมื่อวันที่ 30 พ.ค.2561 ที่ผ่านมา โดยให้ สวท.แม่ข่าย สวท. ภูมิภาค รับสัญญาณรายการ 'คุยถึงแก่น' ซึ่งเป็นรายการเล่าข่าว ไปเผยแพร่ต่อในช่วงวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 06.30-08.00 น. และให้เลื่อนเวลารายการข่าวภาคเช้าของ สวท. ทุกวันจัทร์-ศุกร์ จากเวลา 07.00-08.00 น. ไปเป็นเวลา 08.00-09.00 น. แทน โดยห้ามมีข้ออ้างใดๆ ทั้งสิ้น และให้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.2561 เป็นต้นไป ตามข้อมูลที่สำนักข่าว www.isranews.org นำมาเสนอให้สาธารณชนรับทราบไปแล้ว ว่า แม้จะมีการเลื่อนเวลาออกอากาศรายข่าวภาคเช้าของสวท. จากเวลาเดิมเพียงแค่ 1 ชั่วโมง แต่เชื่อว่าจะมีผลกระทบตามมาอย่างมาก ทั้งเรื่องพฤติกรรมการรับฟังข่าวสารของประชาชน ที่คนในกรุงเทพ เคยรับฟังข่าวภาคเช้าขณะที่ขับรถไปทำงานในตอนเช้า เวลา 07.00-08.00 น. จะพลาดโอกาสไม่ได้รับข่าวสารเหมือนเดิม ส่วนคนในต่างจังหวัดจะหันไปฟังรายการเล่าข่าว ในช่วงเวลาเดียวกันจากคลื่นอื่นแทน เนื่องจากมีสำนวนลีลาในการเล่าข่าวที่ดีกว่า
แต่ที่น่าจะเป็นปัญหามากที่สุด คือ จุดยืนในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารภาคเช้าของ สวท. ซึ่งเป็นที่ยอมรับโดยทั่วกันว่า มุ่งเน้นการนำเสนอข่าวสารที่เป็นกลาง เป็นประโยชน์ต่อประชาชน แต่ช่วงเวลาในการนำเสนอข่าวดังกล่าว กำลังจะถูกแทนที่ ด้วยรายการเล่าข่าว ที่มีการใส่ความเห็นของผู้ดำเนินรายการเข้าไปประกอบด้วย และเป็นความเห็นด้านเดียวในฝั่งของรัฐบาลแทน ทำให้สิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นกลาง ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนได้รับผลกระทบโดยตรง (อ่านประกอบ : โวยนโยบายด่วนกรมประชาฯ สั่ง สวท. เลื่อนเวลาข่าวเช้า1ชม. หลีกทาง'คุยถึงแก่น' กระทบสิทธิปชช.)
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า ความห่วงใยต่อเรื่องนี้ของคนในกรมประชาสัมพันธ์ มิได้จำกัดวงอยู่เพียงแค่กลุ่มข้าราชการ สวท. ยุคปัจจุบันเท่านั้น หากแต่อดีตผู้บริหารระดับสูงของกรมประชาสัมพันธ์ และสวท. ก็ยังมีความห่วงใยต่อปัญหานี้เป็นอย่างมากด้วยเช่นกัน ถึงขั้นมองเห็นว่า เรื่องนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ สวท. เข้าสู่ยุคล่มสลายได้
ปรากฏข้อมูลและเหตุผลสำคัญตามหนังสือฉบับนี้
------------------
เรียน รักษาการอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ และผู้บริหาร กปส. ทุกท่าน
ผมทราบข่าวการประชุมผู้บริหาร กปส. วันนี้(30 พ.ค.61) ว่า มีมติให้ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ส่วนกลางและเครือข่าย ทั่วประเทศ ถ่ายทอด รายการ "คุยถึงแก่น" จาก สทท.11 ระหว่าง 06.30 น. - 08.00 น. ทุกวันจันทร์ ถึง วันศุกร์ โดยให้ย้าย เวลาการเสนอข่าวของ ภาคถ่ายทอด 07.00-08.00 น. ของ สวท. ไปนำเสนอในช่วงเวลา 08.00-09.00 น. ส่วนวันเสาร์และอาทิตย์ ให้เสนอข่าวภาคถ่ายทอด ในเวลา 07.00-08.00 ตาม เดิม
ผมขอเรียน ว่า รายการข่าวภาคถ่ายทอดของ สวท. ในเวลา 07.00-08.00 น. นั้น ไม่ได้นำเสนอเฉพาะในเครือข่ายของ กปส. เท่านั้น ความจริงแล้ว สถานีวิทยุเครือข่ายทหารและตำรวจทุกแห่ง เกาะสัญญานข่าว สวท. ระหว่าง 07.00-08.00 น. เป็นประจำ ด้วยถือว่า เป็นข่าวสารของทางราชการ ขณะเดียวกัน ระบบเสียงตามสายของ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ก็จะเกาะสัญญานข่าวช่วงดังกล่าว จนถึงเวลา 08.00 น. จนกระทั่งเทียบเวลา ในเวลา 08.00 น. ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของ สถานีวิทยุแห่งชาติ
การถ่ายทอดข่าวภาคเช้า จาก สวท. โดยเครือข่ายอื่นนั้น ด้วยถือว่า เป็นข่าวสารที่เป็นทางการ มีรูปแบบเชิงราชการ จึงเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ยึดถือกันมานาน โดยไม่มีข้อกฎหมายใดมาบังคับ
เมื่อ กปส. จะนำเสนอรายการคุยข่าวหรือเล่าข่าวแทน ก็จะทำให้ความเป็นทางการของ สวท. ในข่าวภาคเช้าสูญสลายไป แม้จะอ้างว่า สวท.ยังคงนำเสนอข่าวภาคเช้าในช่วง 08.00-09.00 น. แต่นั่น จะไม่มีผลทำให้ สถานีวิทยุเครือข่ายอื่น ๆ รวมทั้งระบบเสียงตามสาย ไม่เห็นความจำเป็น ในการเกาะสัญญานถ่ายทอด ข่าวภาคเช้า และ การเทียบเวลาเคารพธงชาติ อีกต่อไป
ดังนั้น เพลงเทียบเวลาและเสียงเคาะส้อมเสียง ที่ฟังดูแสนเชยแต่ทรงมนต์ขลัง ที่จะดังพร้อมกันทั่วประเทศ ก็จะสูญสิ้นไปด้วย
ถ้าท่านทั้งหลายนึกภาพไม่ออก ให้ ดู เวลาเคารพธงชาติของสถานีโทรทัศน์ต่าง ๆ ในเวลานี้ จะเห็นความเหลื่อมระหว่างแต่ละช่อง ทำให้ รายการ คืนความสุข ในช่วง 6 โมงเย็น ต้องเปิดสไลด์และขึ้นเพลงรอเพื่อให้เวลาการถ่ายทอดที่พร้อมเพรียงกัน ต่อไประบบสถานีวิทยุทั่วประเทศ ก็จะเป็นเช่นนั้น
ผม ไม่แน่ใจว่า การนำรายการเล่าข่าวมาเสนอ ในช่วงเวลาที่ควรเป็นเวลาในการเสนอข่าวอย่างเป็นทางการนั้น ผู้บริหาร กปส. มีความคิดเช่นไร
แต่อยากจะบอกว่า เวลา 07.00-08.00 น. ควรเป็นเวลาที่สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยควรเสนอข่าวสารอย่างเป็นทางการ
ผมเคยเป็นคนเขียนข่าวยามเช้า ให้ พี่ปรีชา ทรัพย์โสภาระหว่างปี 2528 - 2532 ในช่วงนั้นข่าวยามเช้า (06.00-06.30น.แล้วขยายเป็น 06.00-07.00น.)ของ วิทยุประเทศไทย ถือว่าเป็นรายการที่ดังที่สุดของประเทศ ไม่ว่าจะรายการเพลง รายการเล่าข่าว หรือรายการใด ๆ ก็สู้ไม่ได้ ที่เขียนนี้ไม่ได้จะอวดอ้างว่าตนเองเก่ง เพราะความจริงรายการข่าวยามเช้าที่ดังนั้น เกิดจาก องค์ประกอบหลายประการมาก สำคัญที่สุดคือพี่ปรีชา ที่มีเอกลักษณ์ของตนเองชัดเจน อ่านข่าวไปร้องเพลงแทรกก็ยังทำออกบ่อยไป นอกจากนั้น ยังมีเรื่อง เนื้อหาของข่าวที่ไม่เสนอข่าวราชการทั้งหมด เอาข่าวหนังสือพิมพ์บางข่าวมาแทรก รวมทั้งมีเครือข่ายของ กปส. คอยส่งข่าวในต่างจังหวัดเข้ามามากมาย
ผมต้องบอกเรื่องนี้เพื่อให้เข้าใจว่า ผมรู้เรื่องการเล่าข่าวเป็นอย่างดีคนหนึ่ง ดีพอที่จะบอกได้ว่า การนำเสนอข่าวอย่างไม่เป็นทางการ และ การเสนอข่าวอย่างเป็นทางการนั้น ต่างก็มีข้อดีและข้อเสีย ทั้งสองฝ่าย ดังนั้น บรรพบุรุษ กปส. ผู้บริหาร ในยุคนั้น ถึง ไม่เอารายการเล่าข่าวที่ดังที่สุดของประเทศ มานำเสนอในเวลา 07.00 น. แต่เลือกที่จะใช้ การนำเสนอข่าวอย่างทางการ เพราะเห็นว่า การเสนอข่าวสารนั้น อะไรควรจะทำในเวลาไหน และเช่นไร
หากมองในแง่การตลาด ลักษณะ 1+1 ได้มากกว่า 1 คือ เมื่อ NBT มี RATING ต่ำเรี่ยดิน จึงควรเอา เวลาภาคถ่ายทอดของ สวท. มาเกาะสัญญาน รายการ"คุยถึงแก่น" เพื่อเพิ่มจำนวนผู้รับได้มากขึ้นอีกหลาย ๆ เท่านั้น ผมอยากจะบอกว่า คนที่เสียที่สุด คือ กปส. เพราะจะได้คำตอบที่ว่า 1+1 ได้เท่ากับ 0 เพราะอย่างแรกก็คือ ปริมาณผู้ฟัง เครือข่ายวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยภาคถ่ายทอดตอนเช้าจะหายไป จากการที่สถานีวิทยุเครือข่ายต่าง ๆ รวมถึงระบบเสียงตามสาย จะเลิกการถ่ายทอด สวท. ทันที และตลอดไป
ถึงเวลานั้น สวท. ก็ถึงกาลล่มสลายครับ
นายไพฑูรย์ หิรัญประดิษฐ์
อดีตรองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์
อดีตผู้อำนวยการสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย
------------------
หากพิจารณาสาระสำคัญในหนังสือฉบับนี้ จะพบคำตอบหลายประการ ว่า ข่าวภาคเช้า ของสวท. กรมประชาสัมพันธ์ มีความสำคัญอย่างไร? ทำไมถึงเลื่อนเวลาออกอากาศไป 1 ชั่วโมง เพื่อหลีกทางให้กับรายการเล่าข่าว 'คุยถึงแก่น' มาออกอากาศแทนไม่ได้?
และถ้าหากผู้บริหาร กปส. ในยุคปัจจุบัน มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ไม่ลุ่แก่อำนาจ เปิดใจกว้าง ยอมรับเคารพสิทธิการแสดงความเห็นของคนในองค์กรที่ตนเองกำกับดูแลอยู่ รวมไปถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นกลาง ท่ามกลางในยุคสื่อปัจจุบัน ที่กำลังให้ความสำคัญกับเรื่องความเห็นมากกว่าข้อเท็จจริง และเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ระบบการสื่อสารของประเทศ มีปัญหาความวุ่นวาย ไม่รู้จักจบสิ้นดังที่เห็นและเป็นอยู่ในปัจจุบัน
ก็น่าจะตัดสินใจได้ไม่ยากเย็นหนัก ว่า ควรจะหาหนทางแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างไร?
โดยเฉพาะเมื่อเราตั้งโจทย์สำคัญอยู่บนพื้นฐานความจริงที่ว่า สื่อของรัฐ ก็มีที่มาจากเงินภาษีประชาชน ดังนั้น จึงควรจะยึดถือการทำงานเพื่อผลประโยชน์สาธารณะของประชาชนเป็นหลัก
มากกว่าการถูกนำไปใช้ประโยชน์ เป็นกระบอกเสียงประชาสัมพันธ์ โฆษณาชวนเชื่อข้อมูลให้กับฝ่ายรัฐบาลอย่างด้านเดียว เหมือนในยุคอดีตที่ผ่านมา
กรณีนี้ จึงนับเป็นทดสอบความจริงใจของรัฐบาล ได้ดีอีกกรณีหนึ่ง ว่าแท้จริงแล้ว มีความตั้งใจจริงที่จะเข้ามาปฏิรูปบ้านเมืองใหม่ ตามที่เคยประกาศให้คำมั่นสัญญาไว้ก่อนหน้านี้หรือไม่
เพราะเมื่อท่านพูดคนจะฟัง เมื่อท่านลงมือทำ คนจะเชื่อถือและศรัทธา!
อ่านประกอบ :
สแกนงบอัดฉีด-พีอาร์ รบ. กรมประชาฯ ได้เพียบเกือบ2พันล. ไฉนต้องขอมีโฆษณาอีก?