สมาพันธ์นักกม. ทวงถาม ป.ป.ช. “คดีทุจริตต่อสัญญาบีทีเอส” หลัง 5 ปี ไม่คืบ -เกรงซ้ำรอยขาดอายุความ
“วิญญัติ” ยื่นหนังสือถึง ปธ.ป.ป.ช. ทวงถาม "คดีทุจริตต่อสัญญาบีทีเอส" หลัง 5 ปี ไต่สวนข้อเท็จจริงไม่คืบ เกรงซ้ำรอยขาดอายุความทำสำนวนสูญหาย
วันที่ 30 พ.ค. 2561 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันเเละปราบปรามการทุจริตเเห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายวิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ(สกสส.)พร้อมคณะทำงาน เข้ายื่นหนังสือขอทราบความคืบหน้าในเรื่องที่มีการกล่าวหา ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกับพวก กรณีทุจริตต่อสัญญาโครงการระบบขนส่งมวลชนของกรุงเทพมหานคร หรือ บีทีเอส ถึง พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. ซึ่ง ป.ป.ช. ได้รับสำนวนการสอบสวนคดีพิเศษ ที่ 166/2555 จากกรมสอบสวนคดีพิเศษมาตั้งแต่ ปี 2556 แต่ปัจจุบันไม่มีความเคลื่อนไหวของการไต่สวนข้อเท็จจริงในเรื่องนี้จาก ป.ป.ช.เพื่อให้สาธารณชนทราบแต่อย่างใด
นายวิญญัติ กล่าวว่า คณะทำงานได้ค้นคว้าและรวบรวมข้อมูลตามที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้นได้ยื่นเรื่องเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2555 ขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินคดี กรณีทุจริตต่อสัญญาโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร หรือ บีทีเอส ส่วนต่อขยายออกไป 13 ปี โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายฯ เนื่องจากเมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2535 กรุงเทพมหานคร ได้ลงนามในสัญญาสัมปทานระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร ระหว่าง กรุงเทพมหานคร กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในสัญญาสัมปทานระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร สัญญามีกำหนด 30 ปี คือ เริ่มตั้งแต่วันที่ 5 ธ.ค. 2542 จนถึงวันที่ 5 ธ.ค. 2572 เส้นทางสัมปทานรวมระยะทาง 23.5 กิโลเมตร ตั้งแต่สถานีหมอชิตถึงสถานีอ่อนนุช และเส้นทางตั้งแต่สถานีสนามกีฬาแห่งชาติถึงสถานีวงเวียนใหญ่ โดยความเห็นชอบอนุมัติสัมปทานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้แต่งตั้งผู้ว่าราชการ กทม. หรือผู้ที่ผู้ว่าราชการ กทม. มอบหมายเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ มีหน้าที่ควบคุม กำกับ ดูแลการดำเนินการตามสัญญาสัมปทาน
ทั้งนี้ จากที่เราตรวจสอบข้อกฎหมายเข้าใจว่า อำนาจในการอนุมัติให้สัมปทานระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ลงวันที่ 26 มกราคม 2515 ข้อ 3 ,4 ,7, 11 , 13 แม้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะเคยมีหนังสือแต่งตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ที่ผู้ว่าราชการมอบหมายเป็นเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ตาม แต่เป็นเพียงมอบหมายให้มีหน้าที่รับผิดชอบในการปฏิบัติกิจการควบคุมดูแลให้เป็นไปตามกรอบกำหนดของสัญญาสัมปทานตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้อนุมัติไว้เท่านั้น ซึ่งหากปรากฏข้อเท็จจริงว่ารัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยไม่ได้มอบอำนาจในการอนุมัติสัมปทานให้กับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก็จะทำให้การต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น การต่อสัญญาจึงเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่นำไปสู่การชี้ด้วยข้อกฎหมายที่จะชี้มูลว่าผู้ถูกกล่าวหามีความผิดได้ทันที
นายวิญญัติ กล่าวด้วยว่า เมื่อ 2 วันที่ผ่านมา ประธาน ป.ป.ช.ได้กล่าวปาฐกถาเรื่อง “ไม่ยอม ไม่ทน ไม่เฉย รวมพลังคนไทยไม่โกง” นั้น ในวันนี้ก็ขอให้ ป.ป.ช.ไม่เลือกปฏิบัติด้วย แต่ปัจจุบันคดีนี้ระยะเวลาล่วงเลยนานถึง 5 ปีเศษแล้ว การไต่สวนข้อเท็จจริงเรื่องนี้ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. กลับไม่มีความคืบหน้าและชี้แจงต่อสาธารณชน จนอาจเกิดข้อกังขาต่อประชาชนและสังคมเป็นอย่างยิ่ง และอาจทำให้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ได้รับความไว้วางใจและขาดความเชื่อมั่นจากประชาชนว่าจะสามารถเป็นผู้ปกป้องผลประโยชน์ของชาติและประชาชนได้อย่างรวดเร็ว เป็นธรรม และเท่าเทียม จึงมาขอให้คณะกรรมการป.ป.ช.รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องเรื่องนี้แถลงให้ประชาชนทราบความคืบหน้าในเรื่องนี้ และขอให้เร่งไต่สวนข้อเท็จจริงเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติต่อไป.
ภาพประกอบ:ประธาน ป.ป.ช.-https://mgronline.com/politics/detail/9610000004273