สแกนงบอัดฉีด-พีอาร์ รบ. กรมประชาฯ ได้เพียบเกือบ2พันล. ไฉนต้องขอมีโฆษณาอีก?
"...ในปี 2560 ซึ่งถือเป็นปีแรกที่ 'เสธ.ไก่อู' เข้ามาคุมกรมประชาสัมพันธ์ ได้รับอนุมัติงบประมาณประจำ วงเงิน 2,746 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าตอบแทน ใช้สอยและวัสดุ 290 ล้านบาท ค่าสาธารณูปโภค 443 ล้านบาท ค่าครุภัณฑ์ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง 872 ล้านบาท เงินอุดหนุนทั่วไป 1 ล้านบาท รายจ่ายอื่น 204 ล้านบาท ปี 2561 ได้รับงบประมาณวงเงิน 1,507 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าตอบแทน ใช้สอยและวัสดุ 294 ล้านบาท ค่าสาธารณูปโภค 376 ล้านบาท ค่าครุภัณฑ์ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง 48 ล้านบาท เงินอุดหนุนทั่วไป 1 ล้านบาท รายจ่ายอื่น 197 ล้านบาท น่าสังเกตว่า ค่าใช้จ่ายทุกตัวมีวงเงินตั้งไว้สูงมาก โดยเฉพาะค่าตอบแทน ใช้สอยและค่าวัสดุ?..."
ในช่วงต้นปี 2561 ที่ผ่านมา 'กรมประชาสัมพันธ์' ในฐานะกระบอกเสียงเบอร์หนึ่งของรัฐบาล ถูกจับตามองการดำเนินงานหลายเรื่อง แต่เรื่องที่ถูกจับตามองมากที่สุดคงหนีไม่พ้นความพยายามในการเสนอเรื่องต่อที่ประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอหารายได้จากเม็ดเงินโฆษณาโดยตรง ทั้งที่ ได้รับเงินงบประมาณอุดหนุนจากรัฐบาลอยู่แล้ว
แถมยังเป็นการเสนอเรื่องในช่วงที่สื่อทีวีดิจิทัลกำลังประสบปัญหาขาดทุน วิ่งไล่หาเม็ดเงินโฆษณามาหล่อเลี้ยงช่องกันสายตัวแทบขาด ซึ่งแม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะออกคำสั่งมาตรา 44 ช่วยเหลือบรรดาผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลเมืองไทย ให้ยืดเวลาการชำระเงินออกไปอีก 3 ปี ไปแล้วก็ตาม แต่ก็ยังถูกมองว่ามีความพยายามในการซ่อนเงื่อนควบคุมสื่อ โดยให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) มีอำนาจฟัน 'สื่อนอกแถว' ให้ชำระเงินทันที?
ไม่ว่าข้อเท็จจริงเรื่องความพยายามหาช่องทางให้กรมประชาสัมพันธ์ สามารถหารายได้จากเม็ดเงินโฆษณาดังกล่าว จะมีสาเหตุเบื้องลึกมาจากอะไร
แต่ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจ และยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลเป็นทางการต่อสาธารณะ คือ ในยุคการบริหารงานกรมประชาสัมพันธ์ ภายใต้การนำของ พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ผู้ชงเรื่องขอให้ กรมประชาสัมพันธ์ สามารถหารายได้จากเม็ดเงินโฆษณาได้ ได้รับงบประมาณเพื่อนำไปใช้ในการประชาสัมพันธ์ผลงานของรัฐบาล-คสช. ไปแล้วเป็นจำนวนเท่าไร? ทำไมเงินถึงไม่พอใช้?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลงบประมาณด้านการประชาสัมพันธ์ ของ 'รัฐบาล-คสช.' ของกรมประชาสัมพันธ์ นับตั้งแต่ 'เสธ.ไก่อู' ได้รับการแต่งตั้งให้นั่งเก้าอี้ คุมกรมประชาสัมพันธ์ เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2559
พบว่า ในปี 2560 ซึ่งถือเป็นปีแรกที่ 'เสธ.ไก่อู' เข้ามาคุมกรมประชาสัมพันธ์ ได้รับอนุมัติงบประมาณประจำ วงเงิน 2,746 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าตอบแทน ใช้สอยและวัสดุ 290 ล้านบาท ค่าสาธารณูปโภค 443 ล้านบาท ค่าครุภัณฑ์ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง 872 ล้านบาท เงินอุดหนุนทั่วไป 1 ล้านบาท รายจ่ายอื่น 204 ล้านบาท
ปี 2561 ได้รับงบประมาณวงเงิน 1,507 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าตอบแทน ใช้สอยและวัสดุ 294 ล้านบาท ค่าสาธารณูปโภค 376 ล้านบาท ค่าครุภัณฑ์ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง 48 ล้านบาท เงินอุดหนุนทั่วไป 1 ล้านบาท รายจ่ายอื่น 197 ล้านบาท
น่าสังเกตว่า ค่าใช้จ่ายทุกตัวมีวงเงินตั้งไว้สูงมาก โดยเฉพาะค่าตอบแทน ใช้สอยและค่าวัสดุ?
สำหรับข้อมูลการใช้จ่ายงบประชาสัมพันธ์ผลงานของ 'รัฐบาล-คสช.' นั้น จากการตรวจสอบพบว่า ช่วงเดือนก.ย. 2560 มีการว่าจ้างจัดแถลงผลงาน 3 ปี รัฐบาล วงเงินสูงถึง 13,900,000 บาท และจ้างโครงการผลิตวีดิทัศน์ผลงานของรัฐบาลเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ วงเงิน 4,700,000 บาท โดยมีบริษัท ซีเอ็มโอ จำกัด (มหาชน) ได้รับการคัดเลือกโดยวิธีเฉพาะเจาะจง ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า การตั้งงบใช้จัดแถลงข่าวดังกล่าว ถือเป็นวงเงินที่ค่อนข้างสูง ทั้งที่ปกติจะใช้เงินจัดเวทีในตึกสันติไมตรีทำเนียบรัฐบาลเท่านั้น และมักจะเป็นงบประมาณจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลค.) ซึ่งรับหน้าที่จัดการแถลงผลงาน 2 ปีรัฐบาล ที่ผ่านมาด้วย
อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 2560 รัฐบาลไม่ได้มีการแถลงผลงาน และแทบที่จะไม่มีข่าวว่าจะแถลงผลงาน 3 ปีรัฐบาล ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุว่าจะไม่แถลงผลงานครบรอบ 3 ปีคสช.
และเมื่อสำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบในเว็บไซต์กรมบัญชีกลาง พบว่า ได้มีการยกเลิกโครงการจัดแถลงผลงาน 3 ปีรัฐบาล ไปแล้ว และไม่มีการยืนยันข้อมูลเป็นทางการว่า สาเหตุที่ยกเลิกเป็นเพราะเหตุใด ข้อตกลงการว่าจ้างงานระหว่างรัฐและเอกชนเป็นอย่างไร
จากนั้นดูเหมือนบทบาทและท่าทีของกรมประชาสัมพันธ์ ในเรื่องการแถลงผลงานของรัฐบาล -คสช. จะเงียบหายไป
จนกระทั่งเริ่มต้นในช่วงต้นปี 2561 ดูเหมือนว่าบรรยายกาศในการออกประกาศราคากลางหาบริษัทมาช่วยผลิตสื่อ เพื่อประชาสัมพันธ์งานรัฐบาล-คสช.จะกลับมาคึกคักมากขึ้น
หลายโครงการปรากฎรายละเอียดข้อมูลดังนี้
1.โครงการจ้างผลิตวีดิทัศน์สรุปผลงานของรัฐบาล เพื่อสร้างการรับรู้แก่สาธารณชน มีความยาว 17 นาที 1 ตอน วงเงิน 1,000,000 บาท
2.โครงการประเมินการรับรู้และเข้าใจของประชาชน ต่อการดำเนินงานตามนโยบายสำคัญของรัฐบาล ด้วยวิธีการทำโพล (Poll) โดยกำหนดราคากลางไว้ 3,000,000 บาท แบ่งเป็นค่าตอบแทนบุคลากร 342,000 บาท ค่าวัสดุอุปกรณ์ 30,000 บาท และค่าใช้จ่ายอื่น อาทิ ค่าจัดเก็บรวบรวมข้อมูล ค่าตรวจสอบและควบคุมคุณภาพข้อมูล ค่าบันทึกข้อมูล ค่าประเมินผลและวิเคราะห์ข้อมูล ค่าจัดทำรายการผลสำรวจ วงเงิน 2,628,000 บาท
3.โครงการประชาสัมพันธ์ด้านต่างประเทศ โดยผลิตรายการทางโทรทัศน์ภาษาอังกฤษ เพื่อขยายผลนโยบายรัฐบาล (Takeoff) จำนวน 16 ตอน ความยาว 25-30 นาที ราคากลางตอนละ 79,792 บาท รวมเป็นเงิน 1,276,667 บาท
4.โครงการประเมินส่วนราชการตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานราชการ ประจำปีงบประมาณ 2561 ของกรมประชาสัมพันธ์ โดยตัวชี้วัดที่ 1 กลุ่มเป้าหมายรับรู้ เข้าใจ เชื่อมั่น ในเนื้อหายุทธศาสตร์ของรัฐบาล และนำไปใช้ประโยชน์ ตัวชี้วัดที่ 2 ร้อยละของกลุ่มเป้าหมายชาวต่างชาติที่รับรู้ในการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของประเทศไทย และนโยบายสำคัญของรัฐบาล วงเงิน 1,000,000 บาท
5.โครงการประเมินผลโครงการประชาสัมพันธ์การสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ วงเงิน 1,000,000 บาท
6.โครงการประเมินผลโครงการประชาสัมพันธ์บริหารจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม วงเงิน 1,000,000 บาท
7.โครงการประเมินผลโครงการประชาสัมพันธ์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย วงเงิน 400,000 บาท
8.โครงการประเมินผลโครงการประชาสัมพันธ์แรงงานต่างด้าว วงเงิน 900,000 บาท
9.โครงการประเมินผลโครงการประชาสัมพันธ์การป้องกัน ปราบปราม การทุจริตประพฤติมิชอบ วงเงิน 1,000,000 บาท
ทั้งหมด คือ โครงการด้านการประชาสัมพันธ์ ผลการรัฐบาล-คสช. ที่กรมประชาสัมพันธ์ ออกประกาศกำหนดราคากลางไว้ในช่วงต้นปี 2561 ที่ผ่านมา
หากพิจารณาเม็ดเงินที่นำไปใช้ในการลงทุนทำโครงการต่างๆ จะพบว่ามีจำนวนมาก นับรวมวงเงินหลายสิบล้านบาท
คำถามที่น่าสนใจ คือ การนำเม็ดเงินงบประมาณไปใช้ในการจัดทำโครงการต่างๆ ลักษณะนี้ ในอดีตที่ผ่านมา เคยมีการสรุปประเมินผลเรื่องความสำเร็จ และความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณไว้บ้างหรือไม่ โดยเฉพาะงบประมาณในส่วนการจัดทำโพล ที่ปกติหน่วยงานองค์กรสถานศึกษาหลายแห่งก็มีการจัดทำประเมินผลการดำเนินงานของรัฐบาลด้านต่างๆออกมาให้เห็นอยู่พอสมควรแล้ว?
ถ้าหากเคยมีการจัดทำประเมินผลไว้แล้ว และพบว่า การดำเนินงานโครงการลักษณะเหล่านี้ ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เป็นการใช้จ่ายเงินงบประมาณที่ไม่คุ้มค่า สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ กรมประชาสัมพันธ์ สามารถที่จะปรับลดงบประมาณโครงการเหล่านี้ ไปใช้สนับสนุนสำหรับการผลิตรายการที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน ออกอากาศทางโทรทัศน์และวิทยุเพิ่มเติมได้ ก็จะช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องงบประมาณที่ไม่เพียงพอ ตามเหตุผลที่นำมาใช้ในการกล่าวอ้างเรื่องการขาดแคลนงบประมาณสนับสนุนได้
และยังจะเป็นการช่วยลดทอนกระแสวิพากษ์วิจารณ์ของคนในสังคม ว่า เบื้องหน้าเบื้องหลังความพยายามในการเปิดช่องให้กรมประชาสัมพันธ์ สามารถหารายได้จากเม็ดเงินโฆษณา ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างยกร่างหลักเกณฑ์กรอบในการโฆษณา เพื่อประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา นับจากนี้อีกไม่นานนี้
ที่แท้จริงแล้ว อาจเป็นอีกหนึ่งมาตรการพิเศษ เป็นหนทางเสริมในการเตะตัดขา แย่งเม็ดเงินโฆษณาจากสื่อทีวีดิจิทัล ที่กำลังหนีตายกันอยู่ในปัจจุบัน เพื่อนำไปสู่ข้อตกลงในการควบคุมเนื้อหาอะไรบ้างอย่างด้วย?