เปิดตัว3เอกชนค้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เจาะตัวเลขนำเข้าผ่านปีเดียวพุ่งหมื่นตัน
“…นี่คือข้อมูลเบื้องต้นของ 3 บริษัทดังกล่าวที่ถูกระบุว่า มียอดนำเข้าแบบ ‘ก้าวกระโดด’ จากปีแรก ๆ นำเข้าแค่ 400-700 ตัน แต่ปีต่อมากลับพุ่งถึงหลักหมื่นตัน สวนทางกับตัวเลขในบัญชีที่บางแห่งกำไรแค่หลักแสน หรือบางแห่งขาดทุนมาโดยตลอด ?...”
"มีบริษัทนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่มียอดนำเข้าก้าวกระโดด 3 บริษัท และมีบริษัทที่มีความเสี่ยงอีก 7 บริษัท"
คือสาระสำคัญในการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อของ พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ที่เดินทางเข้าพบนายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร เพื่อหารือแนวทางในการดำเนินการกับขยะมีพิษที่ถูกนำเข้ามาจากต่างประเทศ
นับเป็นการขยายผลจากการบุกจับกุมโรงงานกำจัดอิเล็กทรอนิกส์ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ก่อนหน้านี้ (อ่านประกอบ : 10 โมงยกขบวนจับ รง.ขยะพิษฉะเชิงเทรา- กก.หุ้นใหญ่ยื่นจดฯลาออก15.57 น.วันเดียวกัน, พบเจ้าของ รง.ขยะพิษ จ.ฉะเชิงเทรา ตั้งอีก 2 แห่ง ‘คลองเตย- อยุธยา’)
ผลจากการหารือเบื้องต้น กรมศุลกากรจะมีการเฝ้าระวังการนำเข้า ดำเนินการตรวจสอบอย่างเคร่งครัดว่า มีการสำแดงเอกสารเท็จ และตรงตามใบขนส่งสินค้าหรือไม่ (อ่านประกอบ : รองผบ.ตร.เผยครึ่งปีแรก 2561 พบนำเข้าขยะอิเลกทรอนิกส์ แสนกว่าตัน)
แหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า บริษัททั้ง 3 แห่งที่มียอดนำเข้าก้าวกระโดด ได้แก่
1.บริษัท โอ.จี.ไอ. จำกัด พบว่า ปี 2560 นำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์กว่า 700 ตัน ปี 2561 (ช่วงเดือน ม.ค.-พ.ค.) นำเข้าแล้วกว่า 1.1 หมื่นตัน ส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วนเศษสายไฟทองแดง มอเตอร์เก่า และพลาสติก
2.บริษัท เจ.พี.เอส. เมทัล กรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด พบว่า ปี 2559 นำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์กว่า 700 ตัน ปี 2560 ประมาณ 1.3 หมื่นตัน และปี 2561 (ช่วงเดือน ม.ค.-พ.ค.) นำเข้าแล้วกว่า 9 พันตัน ส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์เก่า และสายไฟทองแดง
3.บริษัท ไวโรกรีน (ไทยแลนด์) จำกัด พบว่า ปี 2558 นำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์กว่า 418 ตัน ปี 2559 เพิ่มเป็น 1 หมื่นตัน ปี 2560 นำเข้ากว่า 3.6 หมื่นตัน ส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าเก่า
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจค้นข้อมูล 3 บริษัทดังกล่าวจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบข้อเท็จจริง ดังนี้
1.บริษัท โอ.จี.ไอ จำกัด พบว่า จดทะเบียนเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.2560 ปัจจุบันยังประกอบกิจการอยู่ ทุนปัจจุบัน 4 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 888/7 และ 888/8 ม.21 ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ แจ้งประกอบธุรกิจการขายส่งเหล็กกล้า และโลหะที่นอกกลุ่มเหล็กขั้นมูลฐาน ค้าเหล็ก อลูมิเนียม เศษเหล็ก เศษอลูมิเนียม ปรากฏชื่อนายวอน ซอง มิน และนายเจียง เล่ย เป็นกรรมการ มีผู้ถือหุ้น 5 ราย เป็นคนไทย 3 ราย คนจีน 1 ราย และคนเกาหลีใต้ 1 ราย
ปัจจุบันยังไม่ได้แจ้งงบการเงินต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
2.บริษัท เจ.พี.เอส. เมทัล กรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด พบว่า จดทะเบียนเมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2556 ปัจจุบันยังดำเนินกิจการอยู่ ทุนจดทะเบียน 15 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 99/99 ม.9 ต.เกาะขนุน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา แจ้งประกอบธุรกิจ การหล่อเหล็ก หลอมรีดตัดพับอลูมิเนียม ทองแดง ทองเหลือง และโลหะทุกชนิด ปรากฏชื่อนายจำรัส พลายกระสินธ์ เป็นกรรมการ
มีผู้ถือหุ้น 3 ราย เป็นบุคคลสัญชาติไทยทั้งหมด ได้แก่ 1.นายจำรัส พลายกระสินธ์ 99.4% นางลัดดา ใหม่โสภา 0.3% และ น.ส.สุดฤทัย โพพิมูล 0.3%
แจ้งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2559 มีรายได้รวม 48,044,450 บาท ต้นทุนการขาย 45,218,008 บาท รายจ่ายรวม 47,356,971 บาท กำไรสุทธิ 269,431 บาท
เทียบกับปี 2558 มีรายได้รวม 54,415,981 บาท รายจ่ายรวม 53,925,700 บาท กำไรสุทธิ 244,174 บาท ส่วนปี 2557 มีรายได้รวม 12,492,278 บาท รายจ่ายรวม 11,961,738 บาท กำไรสุทธิ 470,308 บาท
3.บริษัท ไวโรกรีน (ไทยแลนด์) จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2556 ปัจจุบันยังดำเนินกิจการอยู่ ทุนปัจจุบัน 10 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 239 ซ.ฉลองกรุง 31 แขวงลำปลาทิว เขตลาดกระบัง กทม. แจ้งประกอบธุรกิจการเก็บรวบรวมของเสียที่ไม่เป็นอันตราย ปรากฏชื่อนางอิสรีย์ สวี และนายซิ้น อัน สวี เป็นกรรมการ
รายชื่อผู้ถือหุ้นมี 4 ราย เป็นบุคคลสัญชาติไทย 2 ราย สัญชาติสิงคโปร์ 1 ราย และสัญชาติไต้หวัน 1 ราย ได้แก่ 1.นางอิสรีย์ สวี (ไทย) ถือหุ้น 60% นายเว กวัง ลี (สิงคโปร์) ถือหุ้น 19% นายซิ้น อัน สวี (ไต้หวัน) ถือหุ้น 11% และนายประเสริฐ ลิ้มภักดี (ไทย) ถือหุ้น 10%
แจ้งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2559 มีรายได้รวม 19,642,725 บาท ต้นทุนการขาย 14,859,047 บาท รายจ่ายรวม 22,730,316 บาท ขาดทุนสุทธิ 3,087,590 บาท
เทียบกับปี 2558 มีรายได้รวม 14,585 บาท รายจ่ายรวม 2,079,472 บาท ขาดทุนสุทธิ 2,064,886 บาท ปี 2557 มีรายได้รวม 355 บาท รายจ่ายรวม 7,000 บาท ขาดทุนสุทธิ 51,500 บาท
นี่คือข้อมูลเบื้องต้นของ 3 บริษัทดังกล่าวที่ถูกระบุว่า มียอดนำเข้าแบบ ‘ก้าวกระโดด’ จากปีแรก ๆ นำเข้าแค่ 400-700 ตัน แต่ปีต่อมากลับพุ่งถึงหลักหมื่นตัน
สวนทางกับตัวเลขในบัญชีที่บางแห่งกำไรแค่หลักแสน หรือบางแห่งขาดทุนมาโดยตลอด ?
ส่วนรายละเอียดการนำเข้าชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวจะเป็นอย่างไร สำนักข่าวอิศราจะนำมาเสนอในตอนถัดไป