ถามหาหลักประกันชีวิตแรงงาน : ความปลอดภัยในโรงงาน- ความเสี่ยงถูกเลิกจ้าง
เพิ่งผ่านวันแรงงานแห่งชาติมา และกำลังถึงวันความปลอดภัยในการทำงาน แต่เหตุโรงงานระเบิด-ก๊าซรั่วมาบตาพุด ตอกย้ำข้อเรียกร้องสถาบันความปลอดภัยฯ ขณะที่เหตุปิดกิจการหนีน้ำท่วมก็นำไปสู่ข้อเสนอตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการเลิกจ้าง
5 พ.ค.ถังเก็บสารเคมีบริษัทบี เอส ที อิลาสโตเมอร์ส จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง ได้ระเบิดอย่างรุนแรงจนลุกไหม้ ส่งผลให้แรงงานเสียชีวิต 12 ศพ บาดเจ็บกว่า 142 คน
ถัดมาแค่วันเดียว ก็เกิดเหตุสารโซเดียมไฮโปคลอไรด์ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการทำโซดาไฟของบริษัทอดิตยา เบอร์ร่า เคมีคอล (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุระเบิด 4-5 กิโลเมตร รั่วออกมาอีก คนงานหลายสิบคนเกิดอาการอ่อนแรง อ่อนเพลีย แสบคอ ชาวบ้านกว่า 800 คนต้องอพยพหนีภัยโกลาหล
นี่คือชะตากรรมที่น่าหดหู่ของแรงงานไทย นอกจากได้ค่าจ้างน้อยนิดไม่พอยาไส้จนต้องทำโอทีวันละไม่ต่ำกว่า 2 ชั่วโมงเพื่อให้มีพอกิน ยังต้องเสี่ยงอันตรายจากอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เครื่องจักรหนักและสารเคมี ซึ่งเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยเรื้อรังในระยะยาวด้วย
“ความปลอดภัยในการทำงาน” เป็น 1 ในข้อเรียกร้องของเครือข่ายแรงงานที่เพิ่งยื่นเสนอ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไปหยก ๆ เมื่อวันแรงงานที่ผ่านมา โดยร้องให้รัฐเร่งรัดให้มีการพัฒนากลไกการเข้าถึงสิทธิ์และการบังคับใช้ พ.ร.บ.ความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 อย่างจริงจัง และเร่งจัดตั้ง “สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน” โดยการมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน
เหตุการณ์ระเบิดและสารเคมีรั่วไหลไม่กี่วันนี้ ช่วยตอกย้ำชัดเจนว่าทำไมพวกเขาต้องเรียกร้องความปลอดภัยในโรงงาน
“สมบุญ ศรีคำดอกแค” ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ระบุว่า จุดเริ่มต้นที่ทำให้เครือข่ายแรงงานหันมาใส่ใจเรื่องนี้คือเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงาน บริษัท เคเดอร์อินดัสเตรียล ไทยแลนด์ จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานตุ๊กตาขนาดใหญ่ ใน อ.สามพราน จ.นครปฐม ปี 2536 มีผู้เสียชีวิตถึง 188 คน ตั้งแต่นั้นก็มีการรวมกลุ่มผลักดันให้เกิดกฎหมายส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงาน ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างยาวนานจนที่สุด พ.ร.บ.ความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพิ่งมีผลประกาศใช้ในปี 2554 ที่ผ่านมา
แต่แม้กฎหมายจะบังคับใช้ไปแล้ว มาตรการดูแลความปลอดภัยในโรงงานก็ยัง “ขาดตอน” ไม่ได้รับการใส่ใจจากฝ่ายปฏิบัติ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไม่มีการกวดขันกับโรงงานอย่างจริงจังแต่อย่างใด
“ตัวอย่างง่าย ๆ คือถ้ารับคนงานใหม่ เป็นหน้าที่ของนายจ้างที่จะต้องอบรมลูกจ้างใช้เครื่องจักรเพื่อป้องกันอุบัติเหตุในการทำงาน แต่ในทางปฏิบัติกระทรวงแรงงานมีเจ้าหน้าที่ด้านนี้แค่ 200 คน แต่โรงงานทั่วประเทศมีกว่า 170,000 แห่ง จึงไม่มีเวลาไปตรวจสอบว่านายจ้างอบรมคนงานใหม่จริงหรือไม่”
สมบุญ ยังกล่าวว่าแต่ละปีมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการทำงานกว่า 140,000 ราย และยังมีอีกมากที่เจ็บป่วยแต่ไม่ถูกวินิจฉัยว่าป่วยจากการทำงาน ความหย่อนยานในการบังคับใช้กฎหมายเป็นที่มาของข้อเรียกร้องให้รัฐเร่งรัดพัฒนากลไกการเข้าถึงสิทธิ์-การบังคับใช้ พ.ร.บ.ความปลอดภัยฯ อย่างจริงจัง
ขณะเดียวกัน กฎหมายดังกล่าวกำหนดให้มีการตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานภายใน 1 ปี เพื่อส่งเสริมและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน
เป็นสถาบันที่ผู้ใช้แรงงานเรียกร้องมากว่า 19 ปี แต่เมื่อมีการยกร่าง พระราชกฤษฎีกาสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ กลับไม่เปิดให้แรงงานเข้าไปมีส่วนร่วม โดยให้เป็นหน่วยงานในกำกับของราชการ ทั้งที่ฝ่ายแรงงานต้องการให้เป็นองค์กรอิสระ และต้องการให้มีศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์จากแรงงานเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบระบบความปลอดภัยภายในโรงงาน แต่ฝ่ายราชการกลับบอกว่าเป็นงานที่ซ้ำซ้อนกับสำนักความปลอดภัยแรงงานของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานอยู่แล้ว
นอกจากข้อเรียกร้องในด้านความปลอดภัยในการทำงานแล้ว อีกประเด็นที่กลุ่มแรงงานต้องการเห็นอย่างยิ่งคือให้รัฐจัดตั้ง “กองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุน” โดยให้นายจ้างและรัฐบาลสมทบเงินเข้ากองทุนเพื่อเป็นหลักประกันคุ้มครองสิทธิแรงงานเมื่อมีการเลิกจ้างหรือเลิกกิจการ ผู้ใช้แรงงานควรมีสิทธิได้รับเงินชดเชย รวมทั้งสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างได้
“ชาลี ลอยสูง” ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวถึงที่มาของข้อเรียกร้องนี้ที่ผ่านมาเมื่อนายจ้างหลายรายประสบภาวะกิจการจนขาดทุน มักใช้วิธีปิดโรงงานหนี ไม่ยอมจ่ายเงินค่าจ้างและเงินชดเชยพนักงาน แรงงานเป็นฝ่ายเสียเปรียบเสมอ เพราะแม้จะตามตัวนายจ้างหรือฟ้องร้องก็ต้องใช้เวลานาน ไม่ไม่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี ละไม่มีเงินใช้จ่ายในระหว่างการรอเงินชดเชย
“ปกติกระทรวงแรงงานจะมีเงินสงเคราะห์ลูกจ้างให้ในกรณีนี้คือ 60 เท่าของเงินเดือน แต่กว่าจะได้ก็ต้องใช้เวลานานเพราะต้องพิสูจน์ว่านายจ้างเลิกจ้างและปิดกิจการหนีจริงๆและยังไม่ใช่เงินให้เปล่า หากศาลสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินชดเชยเลิกจ้าง ลูกจ้างก็ต้องเงินเอามาคืนกระทรวง”ชาลี กล่าว
การตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุน จึงจะช่วยเร่งเยียวยาผู้ใช้แรงงานในเวลาอันสั้น กลไกก็คือแต่ละเดือนต้องให้นายจ้างและรัฐจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนนี้ หากเกิดการเลิกกิจการแล้วนายจ้างไม่ยอมจ่ายจะได้เอาเงินในส่วนนี้มาจ่ายชดเชยแก้ผู้ใช้แรงงานได้ทันที
“อยากให้รัฐบาลออกเป็นกฎเกณฑ์ส่งเสริมการลงทุนเลยว่าต้องเก็บเงินเข้ากองทุนนี้ หากนายจ้างนิสัยดี เลิกกิจการแล้วจ่ายชดเชยตามที่กฎหมายกำหนด ก็สามารถเอาเงินที่จ่ายในกองทุนนี้คืนไปได้ แต่ถ้าเบี้ยวเมื่อไหร่ก็เอาเงินกองทุนไปจ่าย ผู้ใช้แรงงานจะได้เข้าถึงสิทธิในการชดเชยได้ง่ายขึ้น”
ประธาน คสรท.ยกตัวอย่างเหตุการณ์น้ำท่วมปี 2554ทำให้หลายๆโรงงานต้องปิดกิจการชั่วคราว บางโรงงานใช้วิธีไม่บอกเลิกจ้าง แต่ไม่จ่ายเงินและไม่ยอมติดต่อให้ลูกจ้างกลับมาทำงาน ผ่านมา 6-7 เดือน บางรายยังไม่ได้เงินเดือนและไม่กล้าลาออกเพราะหากลาออกเพราะกลัวจะไม่ได้เงินชดเชยเลิกจ้าง แต่ถ้าไม่ลาออกก็ไปทำงานที่ใหม่ไม่ได้เช่นกัน หากมีกองทุนนึ้ขึ้น อย่างน้อยแรงงานก็ยังได้เงินชดเชยไปเลี้ยงชีพต่อ
ชาลีบอกว่า ประเด็นข้อเรียกร้องวันแรงงานปี 55 นี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นสิ่งที่ผู้ใช้แรงงานเรียกร้องมาตลอด ทั้งเรื่อง พ.ร.บ.ความปลอดภัยฯ ใช้เวลาเรียกร้องถึง 19 ปี เรื่องกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุนก็เรียกร้องมา 5 ปี รวมทั้งเรื่องที่ให้รัฐต้องยกเลิกการแปรรูปหรือการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ จัดตั้งกองทุนพัฒนารัฐวิสาหกิจ เพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในการให้บริการประชาชนก็เรียกร้องกันมาตั้งแต่ปี 2540
“เราเรียกร้องอย่าแปรรูปรัฐวิสาหกิจตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้ง ตอนนั้นไทยกู้เงินกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซึ่งมีเงื่อนไขให้ไทยแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ผลที่ตามเป็นอย่างไรก็เห็นได้จาก ปตท.ซึ่งกลายเป็นธุรกิจเอกชนไปแล้ว ผลกระทบเรื่องราคาน้ำมันแทนที่รัฐจะควบคุมได้ก็คุมไม่ได้เสียแล้ว การไฟฟ้าทั้งหลายก็เกือบต้องโดนแปรรูป ซึ่งหากรัฐวิสาหกิจหลักๆถูกแปรรูปไปหมด ประชาชนจะได้รับผลกระทบมหาศาลเพราะต้องจ่ายค่าสาธารณูประโภคแพงขึ้น”ชาลี กล่าว
ถ้ารัฐไม่มีรัฐวิสาหกิจที่เป็นหัวใจของประเทศอยู่ในมือก็ไม่มีกลไกอะไรไปควบคุมภาคเอกชน
“สาวิทย์ แก้วหวาน” เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) ชี้ว่าทุกวันนี้ความพยายามแปรรูปรัฐวิสาหกิจยังคงมีอยู่ แต่ไม่โจ่งแจ้งเหมือนการแปรรูปเข้าตลาดหลักทรัพย์แบบ ปตท. ส่วนใหญ่รัฐจะใช้วิธีการบอนไซ บ่อนทำลายศักยภาพของรัฐวิสาหกิจไปเรื่อยๆ เช่น จำกัดจำนวนพนักงานใหม่ ทำให้ขีดความสามารถการให้บริการลดลง แล้วจึงใช้วิธีเอาท์ซอร์สบริษัทเอกชนเข้ามารับงานสำคัญๆไปทำแทน รวมทั้งใช้วิธีตั้งบริษัทลูกร่วมกับเอกชน แต่งตั้งกรรมการหรือผู้บริหารที่มาจากฝ่ายนายทุน และปิดรัฐวิสากิจที่ผลดำเนินการไม่ดี ล่าสุดก็คือบริษัทไม้อัดไทยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในกำกับองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้
มีกระบวนการแปรรูปรัฐวิสากิจทุกรัฐบาล แต่ไม่ทำในที่แจ้ง อย่าง ปตท.ตอนเข้าตลาดบอกว่ารัฐถือหุ้น70% อยู่ดีๆลดสัดส่วนเหลือ 51% แบบเงียบๆ กว่าประชาชนจะรู้ก็สายไปแล้ว”สาวิทย์ กล่าว
ด้าน“ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ” อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในนักวิชาการสายแรงงานแถวหน้า มีมุมมองว่าไม่ว่าข้อเรียกร้องข้างต้นหรือข้อเรียกร้องอื่น ๆ ที่เครือข่ายแรงงานยื่นเสนอนายกรัฐมนตรีในวันแรงงานที่ผ่านมา ล้วนเป็นสิ่งที่ยากจะเกิดขึ้นได้
จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ข้อเรียกร้องใด ๆ ที่มาจากฝ่ายแรงงานต้องใช้เวลานานไม่ต่ำกว่า10 ปี เพราะเสียงของแรงงานเป็นคนละเสียงกับนายทุน ขณะที่เสียงของนายทุนเป็นเสียงเดียวกับรัฐ นายทุนหนุนหลังรัฐ ชนชั้นไหนบริหารก็จะคำนึงถึงแต่ชนชั้นตัวเอง ยกตัวอย่างง่าย ๆ เอาแค่ว่าบริษัทที่รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมหรือกระทรวงแรงงานเป็นเจ้าของก็ยังไม่มีสหภาพแรงงานเกิดขึ้นเลย
“ข้อเรียกร้องวันแรงงานผมไม่เคยหวังว่าจะสำเร็จ พูดมาหลายปีก็ไปไม่ถึงไหนมีแค่ 2 ปัจจัยที่จะทำให้สำเร็จได้คือ 1.ระบบสหภาพแรงงานต้องเข้มแข็ง ในประเทศที่สหภาพแรงงานเข้มแข็ง พนักงานบริษัทกว่า 97% จะเป็นสมาชิกสหภาพหมด แต่เมืองไทยมีคน 11 ล้านคนที่สามารถสมัครเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานได้ แต่กลับมีแค่ 3 แสนคนที่เป็นสมาชิก ระบบสหภาพแรงงานในไทยเลยอ่อนแอ”
ณรงค์ ย้ำว่าสังคมไทยยังขาดความเข้าใจเรื่องสหภาพแรงงาน คิดว่าเป็นเรื่องของกรรมกร แต่จริง ๆ แล้วคือกลไกประสานกันระหว่างชนชั้นล่างและชนชั้นกลาง ที่อเมริกานักวิทยาศาสตร์นาซ่าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ที่เนเธอแลนด์นักบินเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน หรือที่ออสเตรเลียอาจารย์มหาวิทยาลัยก็เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ซี่งคนกลุ่มนี้ก็ไม่ใช้ชนชั้นล่างแต่อย่างใด
ปัจจัยที่ 2.ที่จะผลักดันข้อเรียกร้องของแรงงานให้ประสบความสำเร็จได้คือประเทศนั้นๆต้องมีพรรคแรงงานหรือพรรคสังคมนิยม เพราะพรรคเหล่านี้ให้ความสำคัญกับผู้ใช้แรงงาน แต่ในประเทศไทยเป็นระบบเศรษฐกิจที่รับใช้ทุนนิยมสามานย์ รัฐให้ความสำคัญกับสภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า ไม่เคยรับฟังเสียงสหภาพแรงงาน ฉะนั้นตราบใดที่ผู้บริหารประเทศเป็นชนชั้นนายทุน และระบบสหภาพแรงงานไทยยังอ่อนแออยู่แบบนี้อย่าไปคาดหวังว่าข้อเรียกร้องใดๆ จะสำเร็จโดยง่าย
แต่นักวิชาการแรงงานท่านนี้ ก็ทิ้งท้ายว่า “แม้จะเป็นไปได้ยาก ก็ยังขอสนับสนุนให้ผู้ใช้แรงงานต่อสู้ต่อไป เพราะหากไม่เริ่มนับ 1 ก็นับ 2 ต่อไปไม่ได้” .
…………
กองทุนประกันความเสี่ยงจากการเลิกจ้าง…ยกเลิกการแปรรูปและตั้งกองทุนพัฒนารัฐวิสาหกิจ… โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน”…ล้วนเป็นเสียงเรียกร้องของผู้ใช้แรงงานที่ยังคงรอคอยคำตอบจากรัฐบาล
พวกเขาได้แต่หวังว่าโศกนาฏกรรมและชะตาชีวิตจะถูกลิขิตให้ไม่ซ้ำรอยเดิมและเสียงเรียกร้องจะไม่หายไปกับกาลเวลาเฉกเช่นที่ผ่านมา .