เปิดชัดๆ ความเห็นกลุ่มธรรมาฯ ยื่นทูตสหรัฐฯ ไขความจริง ไฉนไทยเช่าบอดี้สแกนแพง1.3พันล.?
"...กลุ่มธรรมาภิบาล ขอให้ท่านตอบคำถาม ที่เป็นที่เคลือบแคลงใจ และไม่สบายใจสำหรับประชาชนชาวไทย ว่าประเทศท่านมีนโยบาย ดังกล่าวข้างต้น จริงหรือไม่จริง หากเรื่องดังกล่าวข้างต้น เป็นการกล่าวเท็จ ไม่เป็นความจริง ประเทศของท่านไม่มีนโยบาย ที่จะขายของให้ประเทศตัวเอง ถูกกว่าประเทศ อื่นๆ หลายๆเท่า ซึ่งจะเป็นเหตุ ทำให้ประเทศอเมริกาของท่าน เเละความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยของเรา ได้รับความเสียหาย เข้าใจผิด ขอให้ท่าน ได้ลงโทษ บริษัทที่เกี่ยวข้องทั้งบริษัทตัวแทนในประเทศไทย รวมถึงบริษัทผู้ผลิต และบริษัทสาขาในประเทศสิงคโปร์ ..."
สืบเนื่องจาก นายวิวัฒน์ สมบัติหลาย กลุ่มธรรมาภิบาล เครือข่ายภาคประชาชนต้านทุจริตและคอร์รัปชัน เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กลุ่มธรรมาภิบาล ได้เข้ายืนหนังสือต่อ นายกลิน ทาวน์เซนด์ เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงราคาเครื่องตรวจวัตถุตามร่างกายผู้โดยสาร (Body Scanner) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในสหรัฐ ยี่ห้อ L3 รุ่น Provision ATD และ Provision 2 มายาวนานถึง 8 ปี ที่บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ทำสัญญาเช่าจากเอกชนในประเทศ รายเดียว มาใช้งานในสนามบินต่างๆ โดยสัญญาแรก มีระยะเวลา 3 ปี และต่อสัญญาอีก 5 ปี โดยการต่อสัญญา มีมูลค่าถึงประมาณ 1,300 ล้านบาท คิดราคาเช่าต่อเครื่อง ค่าเช่าเครื่องละ 650,000 บาทต่อเดือน ในช่วงสัญญา 3 ปีแรก และ 520,000 บาทต่อเดือน ในช่วงต่อ สัญญา 5 ปี โดยตลอดอายุสัญญาบริษัทผู้ให้เช่าในประเทศไทย จะได้รับเงินประมาณ 60 ล้านบาทต่อเครื่อง
ขณะที่ สำนักข่าวอิศรา ได้ตรวจสอบข้อมูลพบว่า เครื่อง Body Scanner ของผู้ผลิต L-3 รุ่นเดียวกัน ตั้งราคาไว้เครื่องละ171,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 5.6 ล้านบาท จึงมีข้อสังเกตว่าเหตุใด ถึงนำมาให้ประเทศไทยเช่าตลอดอายุสัญญา 8 ปี มูลค่าสูงถึง 60 ล้านบาทต่อเครื่อง
โดยเบื้องต้น ผู้บริหาร ทอท. ชี้แจงว่า ได้รับคำตอบจากผู้ผลิต บริษัท L-3 Communication Singapore Pte. Ltd. ว่า “ราคาอุปกรณ์ Body Scanner ราคาเครื่องละ 5.6 ล้านบาท (171,000 USD) เป็นราคาที่ไม่สามารถซื้อขายให้กับชาวต่างชาตินอกสหรัฐอเมริกาได้ (It is not to our understanding that the sam price in GSA can be used for international clients outside the U.S.A.) นอกจากนั้น ราคาดังกล่าวเป็นราคาเฉพาะค่าอุปกรณ์ ไม่รวมค่าภาษี ค่าติดตั้งอุปกรณ์ ค่าบริการหลังการขาย ค่าบำรุงรักษาแบบรวมอะไหล่ ค่าขนส่ง ค่าความเสี่ยงทางด้านการเงินที่เกี่ยวกับการให้บริการ” ราคา GSA (Gerneral Services Administration Schedules) ที่ L-3 ตั้งไว้เฉพาะสำหรับขายให้กับรัฐบาล และหน่วยงานของอเมริกาเท่านั้น ไม่ใช่ราคาเชิงพาณิชย์ในท้องตลาดที่ขายให้สนามบินทั่วไป แต่ราคาที่มาประเทศไทย บริษัทผู้ผลิตดังกล่าว ได้ส่งหนังสือ Subject: concerns on L3 Provision System related Project in AOT เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2560 ว่าเป็นราคาที่ตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยเสนอให้เช่าพร้อมบำรุงรักษาแบบรวมอะไหล่ทั้งหมด รวมค่าประกันภัยและค่าดอกเบี้ยเป็นราคาที่เป็นมาตรฐาน ซึ่งหากจัดซื้อแทนเช่าจะเป็นราคาเครื่องที่สูงถึง 19 ล้านบาท โดยยังไม่รวมค่าประกันภัย และค่าซ่อมบำรุง ซึ่งปัจจุบันสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก เรียกให้ ทอท.นำส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างย้อนหลัง5 ปี มาให้ตรวจสอบนั้น (อ่านประกอบ : บีบีซี ตีข่าวขายแค่ 4 ล.! กลุ่มธรรมาฯ ยื่นทูตสหรัฐฯ แจงราคาจริงเครื่องบอดี้สแกนทอท.เช่า1.3 พันล.)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับมอบหนังสือฉบับเต็ม ที่กลุ่มธรรมาภิบาล ยื่นเรื่องถึง นายกลิน ทาวน์เซนด์ เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ดังกล่าว จึงขอนำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบเป็นทางการอีกครั้ง ดังต่อไปนี้
--------------------
ลงวันที่ 21 พฤษภาคม 2561
เรื่อง ขอสอบถามข้อเท็จจริงราคาเครื่อง Body Scanner ที่บริษัท L-3 ขายให้กับ ทอท. และความรู้เกี่ยวกับเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด EDS, CTX
เรียน เอกอัครราชทูตกลิน ที.เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย
กลุ่มธรรมาภิบาลทำงานร่วมกับสื่อมวลชนและ และเครือข่ายภาคประชาชน เพื่อให้ประเทศ หรือรัฐ มี ธรรมาภิบาล (Good Governance) ต่อต้านการทุจริต และคอรัปชั่น
เราทราบดีว่าประเทศของท่านคือสหรัฐอเมริกา ให้ความสำคัญอย่างมากในการต่อต้านคอรัปชั่น ทั้งในประเทศของท่าน และการค้าระหว่างประเทศ และประเทศของท่าน ให้ความร่วมมือ ในการตรวจสอบความโปร่งใส และการต่อต้าน ค้นหา การทุจริตและคอรัปชั่น
เนื่องด้วยมีสื่อมวลชนทางด้านสิ่งพิมพ์วิทยุและโทรทัศน์ ตรวจสอบพบว่า การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยได้มีผลิตภัณฑ์ ซึ่งผลิตในประเทศสหรัฐอเมริกาของท่าน ให้เช่าใช้ เครื่อง Body Scannerยี่ห้อ L3 รุ่น Provision ATD และ Provision 2 และมีสัญญาในการเช่ายาวนานถึง 8 ปีโดยสัญญาแรก มีระยะเวลา 3 ปี และต่อสัญญาอีก 5 ปี โดยการต่อสัญญา มีมูลค่าถึงประมาณ 1,300 ล้านบาท โดยคิดต่อเครื่อง ค่าเช่าเครื่องละ 650,000 บาทต่อเดือน ในช่วงสัญญา 3 ปีแรก และ 520,000บาทต่อเดือน ในช่วงต่อ สัญญา 5 ปี โดยตลอดอายุสัญญาบริษัท ที่จดทะเบียนในประเทศไทย จะได้รับเงิน ประมาณ 60 ล้านบาทต่อเครื่อง
โดยภายหลังสื่อมวลชน อิศรานิวส์ (ISARA NEWS) ซึ่งเป็น เว็บไซต์ที่ประชาชนให้ความสนใจ และให้ความเชื่อถือ ซึ่งทำงานตรวจสอบ การทุจริต และความไม่โปร่งใส โดยเฉพาะ ในหน่วยงานของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นโครงการระดับขนาดใหญ่ จนถึงโครงการขนาดเล็ก รวมทั้ง ในการซื้อขาย หรือให้เช่าอุปกรณ์ เครื่องมือ ต่างๆที่นำเข้าจากต่างประเทศ รวมทั้งในประเทศด้วย
โดยทางเว็บไซต์ที่ตรวจสอบ ได้รับความร่วมมือจากภาคประชาชน ได้รับข้อมูล จากเว็บไซต์ต่างๆที่เชื่อถือได้ โดยเฉพาะเว็บไซต์จากประเทศของท่าน คือสหรัฐอเมริกา www.gsa แสดงให้เห็นว่า เครื่อง Body Scanner ของผู้ผลิต L-3 รุ่นเดียวกัน ราคาเพียง 171,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 5.6 ล้านบาท ข่าวการเปิดเผยราคา ขายในสหรัฐอเมริกาซึ่งยังไม่ใช่ราคาต้นทุนของเครื่อง แต่ก็เป็นราคาที่รับได้คือ 5.6 ล้านบาท แต่เหตุใด ถึงมาให้เช่า ตลอดอายุสัญญา 8 ปี มีมูลค่าสูงถึง 60 ล้านบาท
จากการเสนอข่าวทางสื่อสิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ต่างๆ เว็บไซต์ วิทยุและโทรทัศน์ ให้ความสนใจ เป็นจำนวนหลายล้านคน ทั้งสื่อมวลชนได้สอบถามไปยัง เจ้าหน้าที่ผู้บริหารของการท่าอากาศยาน แต่ไม่ได้รับการติดต่อกลับ และไม่ได้รับคำตอบ ภายหลัง ทอท. ได้ตอบอย่างเป็นทางการ มาใน Facebook AOT Official ว่าได้รับคำตอบจากผู้ผลิต บริษัท L-3 Communication Singapore Pte. Ltd. ซึ่งคาดว่าเป็นสาขา หรือตัวแทน บริษัท L-3 Communication USA โดยบริษัท L-3 Communication Singapore Pte. Ltd. ได้ชี้แจงว่า “ราคาอุปกรณ์ Body Scanner ราคาเครื่องละ 5.6 ล้านบาท (171,000 USD) เป็นราคาที่ไม่สามารถซื้อขายให้กับชาวต่างชาตินอกสหรัฐอเมริกาได้ (It is not to our understanding that the same price indicated in GSA can be used for international clients outside the U.S.A.) นอกจากนั้น ราคาดังกล่าวเป็นราคาเฉพาะค่าอุปกรณ์ ไม่รวมค่าภาษี ค่าติดตั้งอุปกรณ์ ค่าบริการหลังการขาย ค่าบำรุงรักษาแบบรวมอะไหล่ ค่าขนส่ง ค่าความเสี่ยงทางด้านการเงินที่เกี่ยวกับการให้บริการ” ราคา GSA (General Services Administration Schedules) ที่ L-3 ตั้งไว้เฉพาะสำหรับขายให้กับรัฐบาล และหน่วยงานของอเมริกาเท่านั้น ไม่ใช่ราคาเชิงพาณิชย์ในท้องตลาดที่ขายให้สนามบินทั่วไป แต่ราคามาที่ประเทศไทย บริษัทผู้ผลิตดังกล่าว ได้ส่งหนังสือ Subject: concerns on L3 Provision System related Projects in AOT เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2560 ว่าเป็นราคาที่ตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยเสนอให้เช่าพร้อมบำรุงรักษาแบบรวมอะไหล่ทั้งหมด รวมค่าประกันภัยและค่าดอกเบี้ยเป็นราคาที่เป็นมาตรฐาน ซึ่งหากจัดซื้อแทนเช่าจะเป็นราคาเครื่องที่สูงถึง 19 ล้านบาท โดยยังไม่รวมค่าประกันภัย และ ค่าซ่อมบำรุง
มีประชาชนชาวไทยหลายคน ก็อาจจะเชื่อ แต่ก็มีประชาชนจำนวนมาก ที่รู้สึกว่า ไม่น่าจะเป็นความจริง หรือไม่น่าเชื่อ
หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ และภาษาไทย ที่ได้รับความเชื่อถือ ได้ลงข่าวทั้งในเว็บไซต์ และหนังสือพิมพ์ ว่าราคาเครื่อง Body Scanner ที่ประเทศไทยซื้อราคาสูงถึง 6 เท่าตัว หรือ 600% จากราคาที่ขายในอเมริกา ตามเอกสารข่าว BangkokPost News
ทำให้เกิดคำถามว่ามีผลิตภัณฑ์ อีกมากมาย ในหลายสาขา รวมทั้งในสาขาทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ ความปลอดภัย เครื่องจักร เครื่องมือ และอุปกรณ์อีกมากมาย ที่ประเทศไทยนำเข้าจากประเทศ สหรัฐอเมริกา ผู้ผลิตในประเทศท่าน และประเทศท่าน มีนโยบายเอาเปรียบประเทศอื่นๆ ยังไม่เป็นธรรม โดยขายของให้กับประเทศของท่านเองถูกกว่าขายให้กับประเทศอื่น หลายเท่าตัว หลายร้อยเปอร์เซ็นต์
ภายหลังสื่อมวลชน พร้อมกับความร่วมมือของประชาชนชาวไทย ได้ค้นพบว่า เครื่อง Body Scanner ที่ผลิตโดยบริษัท L-3 ได้ขายให้ ประเทศเนเธอร์แลนด์ และใช้อยู่ ในสนามบิน Dutch Airport โดยขายให้ ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในราคาเพียง 100,000 euros หรือประมาณ 4 ล้านบาท เท่านั้น ดูเอกสารแนบท้ายจากเว็บไซต์ ของสำนักข่าว ที่เป็นที่น่าเชื่อถือของคนทั้งโลก คือ BBC News
จากการชี้แจง ของ AOT ใน Facebook ยืนยันว่า ราคาตั้งต้น ที่นำมาคำนวณ คือราคาขาย เครื่อง Body Scanner ของ L-3ในประเทศไทย สูงถึง 19 ล้านบาท คือประมาณ 5 เท่า หรือ 500 % เทียบกับราคา ที่ขายให้ในสนามบินของประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยกลุ่มธรรมาภิบาลได้ตรวจสอบแล้วว่า เครื่อง Body Scanner ไม่ต้องจ่ายภาษีนำเข้า หรือ อยู่ในพิกัด ยกเว้นภาษีนำเข้าเนื่องจากเป็นอุปกรณ์ ที่ใช้สำหรับความปลอดภัย ของผู้โดยสารและสนามบิน
AOT ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ ที่มีรัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และมีประชาชน อีกเป็นจำนวนมาก เป็นผู้ถือหุ้นร่วม ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หากคำตอบดังกล่าวข้างต้น เป็นความจริง ประชาชนชาวไทย ก็จะเข้าใจได้ว่า ประเทศสหรัฐอเมริกา มีนโยบาย ที่เอาเปรียบ ประเทศอื่นๆ รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนา และเป็นประเทศ มหามิตร ของประเทศสหรัฐอเมริกามาเป็นเวลายาวนาน
ทั้งนี้กลุ่มธรรมาภิบาลได้ส่งจดหมาย ถึงสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อขอให้ตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่น ในการเช่าเครื่องตรวจค้นร่างกายผู้โดยสาร Body Scanner ยี่ห้อ L3 ที่ผลิตโดยประเทศสหรัฐอเมริกา แต่เช่าด้วยราคาสูง จากตัวแทนประเทศไทย เช่นกัน
กลุ่มธรรมาภิบาล ขอให้ท่านตอบคำถาม ที่เป็นที่เคลือบแคลงใจ และไม่สบายใจสำหรับประชาชนชาวไทย ว่าประเทศท่านมีนโยบาย ดังกล่าวข้างต้น จริงหรือไม่จริง
หากเรื่องดังกล่าวข้างต้น เป็นการกล่าวเท็จ ไม่เป็นความจริง ประเทศของท่านไม่มีนโยบาย ที่จะขายของให้ประเทศตัวเอง ถูกกว่าประเทศ อื่นๆ หลายๆเท่า ซึ่งจะเป็นเหตุ ทำให้ประเทศอเมริกาของท่าน เเละความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยของเรา ได้รับความเสียหาย เข้าใจผิด ขอให้ท่าน ได้ลงโทษ บริษัทที่เกี่ยวข้องทั้งบริษัทตัวแทนในประเทศไทย รวมถึงบริษัทผู้ผลิต และบริษัทสาขาในประเทศสิงคโปร์
นอกจากนี้ยังมีข่าวในการตรวจสอบ การเปลี่ยนเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด (In-Line Explosive Detection System) หรือ checked baggage screening system ซึ่งขณะนี้ใช้เครื่อง CTX9400 จำนวน 26 เครื่อง เป็นเวลากว่า 11 ปี ตั้งแต่เปิดสนามบินสุวรรณภูมิ โดย ทอท. ยังไม่รู้ว่าจะใช้เครื่องที่ผลิตยี่ห้อใด จากประเทศใดและจากข่าวทราบว่ามีเครื่องจากประเทศจีน อาจเข้าร่วมการแข่งขันด้วย เรื่องดังกล่าวเป็นข่าวที่ประชาชน และสื่อมวลชนไทยให้ความสนใจเป็นอย่างมาก และก็มีความไม่เข้าใจในหลายเรื่อง ที่ ทอท. ชี้แจง ซึ่งไม่ตรงกับการให้สัมภาษณ์ ของนาย หลุยส์ มอเซอร์ ประธานคณะกรรมการดำเนินงานธุรกิจการบิน (Airline Operators Committee, AOC) ขอให้ท่าน หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องช่วยกรุณาตอบคำถามเท่าที่จะทำได้ เพื่อเป็นความกระจ่างแก่ประชาชนชาวไทย เช่น
1. เครื่อง Explosive detection system (EDS) ยี่ห้อใด รุ่นใด ได้รับการรับรอง หรือ Qualified ให้ใช้กับระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า ในประเทศสหรัฐอเมริกาของท่าน
2. เครื่อง EDS ยี่ห้อใด รุ่นใด ที่ใช้ในระบบสายพานลำเลียงกระเป๋ามากที่สุดในสหรัฐอเมริกา
3. สนามบินที่ใหญ่ที่สุด10 อันดับของท่าน ใช้เครื่อง Explosive detection system (EDS) ยี่ห้อใด รุ่นใด
4. เครื่อง CTX รุ่นใหม่ คือรุ่น CTX9800 มีใช้ในสนามบินใดบ้าง จำนวนประมาณกี่เครื่อง
5. เครื่อง EDS ของ L3 ที่ใช้ความเร็ว 0.5 m/s มีใช้ในสนามบินใดบ้างในสหรัฐอเมริกา
6. ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เครื่อง EDS สแกนกระเป๋าด้วยความเร็วของเครื่องเท่าใด (m/s)
7. ในประเทศของท่านเปลี่ยนเครื่อง CTX9400 เป็นเครื่อง EDS รุ่นใดเป็นส่วนมาก
8. สนามบินใดในอเมริกาที่เปลี่ยน หรือมีแผนจะเปลี่ยนเครื่อง CTX9400
นายหลุยส์ มอเซอร์ Mr.Louis Moser ประธานคณะกรรมการผู้ดำเนินงานธุรกิจการบินประเทศไทย (Airline Operators Committee: AOC) และเป็นตัวแทนของสายการบิน ทุกสายการบิน ที่บินมาประเทศไทย มีที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย ได้ทักท้วงกับ ผู้บริหารบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ให้ทบทวนพิจารณาจัดซื้อจัดจ้างเครื่องดังกล่าวใหม่
นาย หลุยส์ ได้ให้สัมภาษณ์ กับสื่อมวลชน ออกโทรทัศน์ ช่องสปริงนิวส์ เป็นเวลาเต็ม 1 ชั่วโมง อธิบายสนับสนุนระดับความปลอดภัยแบบ TSA Protocal และทางการท่าอากาศยานก็มีแผนและนโยบายที่เครื่องบินของประเทศไทยจะต้องบินเข้าประเทศสหรัฐอเมริกา กลุ่มธรรมาภิบาลได้ถอดเทป คำให้สัมภาษณ์ และแนบมาให้ท่านได้พิจารณา
การยื่นหนังสือครั้งนี้ กลุ่มธรรมาภิบาลทำเพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนชาวไทย ผู้โดยสารสายการบินทั้งชาวไทย ชาวสหรัฐอเมริกา และนานาประเทศ รวมทั้ง เพื่อคงไว้ซึ่งความสัมพันธ์ที่ดีของประเทศเราทั้งสอง
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาและขอขอบคุณล่วงหน้ามา ณ ที่นี้
-----------------------
ขณะที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 5 พ.ค.2561 นายนิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (ทอท.) ได้แชร์ข้อความชี้แจง ของ ทอท. ต่อกรณีการทำสัญญาเช่าครื่องตรวจวัตถุตามร่างกายผู้โดยสาร (Body Scanner) ที่บริษัท เอ็ม.ไอ.ที. โซลูชั่น จำกัด ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ชื่อว่า Opzz Nitinai ระบุว่า เรามีหน้าที่ตอบคำถามทุกข้อสงสัยครับ..องค์กรที่ยั่งยืน ต้องดำเนินการภายใต้ธรรมาภิบาล
ส่วนคำชี้แจงของ ทอท. เรื่องการทำสัญญาเช่าครื่องตรวจวัตถุตามร่างกายผู้โดยสาร (Body Scanner) ระบุเนื้อหาดังนี้
ทอท. ชี้แจงโครงการเช่าเครื่องตรวจวัตถุตามร่างกายผู้โดยสาร (Body Scanner)
ตามที่สื่อมวลชนบางสำนักได้กล่าวถึงโครงการเช่าเครื่องตรวจวัตถุตามร่างกายผู้โดยสาร (Body Scanner) ของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) มีราคาเช่าเครื่องในอัตราที่สูงกว่าราคาจำหน่ายมากนั้น ทอท.ขอชี้แจงว่า ก่อนหน้านี้ ทอท.ได้เริ่มเช่าอุปกรณ์ Body Scanner มาติดตั้งใช้งานตั้งแต่ปี 2554 โดยการพิจารณาเทคโนโลยีที่ผ่านมาตรฐานและการรับรองจาก Transportation Security Administration (TSA) ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยี Body Scanner ที่ได้รับการรับรองมีเพียงผลิตภัณฑ์เดียวในโลก คือ L-3 รุ่น Provision ATD และ Provision 2 โดยมีบริษัท เอ็ม ไอ ที โซลูชั่น จำกัด เป็นตัวแทนจำหน่ายเพียงรายเดียวในประเทศไทย สำหรับราคาค่าเช่าเครื่องเมื่อรวมค่าบำรุงรักษาแบบรวมอะไหล่ ค่าประกันภัย และค่าดอกเบี้ยในระยะ 5 ปี บริษัทตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยคิดค่าเช่า 3 ปีแรกในอัตราเดือนละ 650,000 บาทต่อเครื่อง และเมื่อมีการต่อสัญญา ทอท.ได้ต่อรองราคาลดลงอีกร้อยละ 20 เป็นอัตราค่าเช่าเดือนละ 510,000 บาท เมื่อรวมระยะเวลา 5 ปี เป็นราคารวมทั้งสิ้น 35.64 ล้านบาทต่อเครื่อง สำหรับรุ่น Provision ATD ซึ่งในเวลาต่อมา ได้มีการใช้ราคาในระดับนี้เป็นมาตรฐานสำหรับการเช่าเทคโนโลยีใหม่ในรุ่น Provision 2
ทั้งนี้ ทอท.ได้สอบถามไปยัง บริษัท L-3 Communication Singapore Pte. Ltd. ซึ่งเป็นบริษัท ผู้ผลิตอุปกรณ์ดังกล่าว และได้รับหนังสือยืนยันว่า “General Services Administration (GSA) สหรัฐอเมริกามีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในกิจการของรัฐและเพื่อประชาชนชาวอเมริกัน ซึ่งราคาอุปกรณ์ Body Scanner ราคาเครื่องละ 5.6 ล้านบาทเป็นราคาที่ไม่สามารถซื้อขายให้กับชาวต่างชาตินอกสหรัฐอเมริกาได้ (It is not to our understanding that the same price indicated in GSA can be used for international clients outside the U.S.A.)
นอกจากนั้น ราคาดังกล่าวเป็นราคาเฉพาะค่าอุปกรณ์ ไม่รวมค่าภาษี ค่าติดตั้งอุปกรณ์ ค่าบริการหลังการขาย ค่าบำรุงรักษาแบบรวมอะไหล่ ค่าขนส่ง ค่าความเสี่ยงทางด้านการเงินที่เกี่ยวกับการให้บริการ ดังนั้น ราคา GSA ไม่สามารถนำมาอ้างอิงเป็นราคาซื้อขายภายนอกสหรัฐอเมริกาได้” และ ทอท.ได้ดำเนินการสืบราคาของอุปกรณ์ดังกล่าวแล้วมีราคาเริ่มต้นที่ 19 ล้านบาทต่อเครื่อง ซึ่งเป็นราคาเฉพาะอุปกรณ์ ไม่รวมการประกันภัย และการบำรุงรักษาแบบรวมอะไหล่ทั้งหมด
อนึ่ง ทอท. ในฐานะรัฐวิสาหกิจ และบริษัทมหาชนมุ่งมั่นในการดำเนินงานภายใต้หลักธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ พร้อมทั้งมุ่งมั่นปรับปรุงคุณภาพการให้บริการให้ได้มาตรฐานท่าอากาศยานที่ดีเพื่อให้ผู้โดยสารได้รับการบริการที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าวระดับสูง สตง. เกี่ยวกับความคืบการตรวจสอบเรื่องนี้ ว่า ขณะนี้ ทอท. ได้ส่งข้อมูลการทำสัญญาเช่าเครื่องตรวจวัตถุตามร่างกายผู้โดยสาร (Body Scanner) มาให้ สตง.รับทราบแล้ว หลังจากทำหนังสือแจ้งขอขยายระยะเวลาส่งข้อมูลมาแล้ว 2 ครั้ง อย่างไรก็ดี ข้อมูลที่จัดส่งมาให้นั้น เป็นข้อมูลย้อนหลังไปแค่ 3 ปี เท่านั้น สตง.เห็นว่าไม่เพียงพอที่จะวิเคราะห์ข้อมูลได้ครบถ้วน จึงทำเรื่องแจ้งให้ทอท. ส่งข้อมูลมาเพิ่มเติม โดยกำหนดช่วงเวลาย้อนหลังไป 5 ปี
"ข้อมูลที่ทอท.ส่งมาให้นั้น ยังไม่เพียงพอ เพราะส่งข้อมูลมาแค่ 3 ปี สตง.จึงขอให้ส่งข้อมูลมาให้ใหม่ ย้อนหลังไป 5 ปี ตอนนี้กำลังรออยู่ว่าจะส่งมาเมื่อไร และจะครบถ้วนตามที่ขอไปหรือไม่ เพราะท่าที ทอท. ที่ผ่านมา ไม่ค่อยให้ความร่วมมือเต็มที่มากนัก ต้องรอดูว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร ถ้ายังมีปัญหายึกยักอะไรอีก อาจจะต้องมีการใช้มาตรการอย่างใดอย่างหนึ่งเข้ามาช่วยเพื่อให้ได้ข้อมูลมาโดยเร็ว"
สำหรับข้อมูลที่สตง. ต้องการรับทราบจาก ทอท. มีหลายประเด็น อาทิ ทอท.ทำสัญญาซื้อหรือเช่าเครื่องบอดี้สแกนมาแล้วกี่สัญญา แต่ละครั้งเป็นการดำเนินการจัดหาโดยวิธีการใด และในการจัดหาแต่ละสัญญา/แต่ละครั้งมีผู้เข้าเสนอราคากี่ราย ในประเทศไทยมีผู้ขายหรือผู้ให้บริการหรือผู้ให้เช่าเครื่องมือนี้กี่ราย และในขั้นตอนการดำเนินงานของทอท. ได้มีการประกาศหรือเชิญชวนให้ผู้ขายหรือผู้ให้บริการหรือผู้ให้เช่าดังกล่าวเข้าร่วมเสนอราคาด้วยหรือไม่
นอกจากนี้ สตง. ยังขอให้ทอท.ชี้แจงด้วยว่า เพราะเหตุใด ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2554-2559 ทอท.จึงจัดทำสัญญาเช่าเครื่องบอดี้สแกน จากบริษัท เอ็ม.ไอ.ที. โซลูชั่น จำกัด เพียงรายเดียว และเครื่องบอดี้สแกนเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้สำหรับการดำเนินการตามพันธกิจของทอท. ด้านความปลอดภัยเหตุใดจึงจัดทำเป็นสัญญาเช่าโดยไม่ได้มีการจัดซื้อให้เป็นกรรมสิทธิ์ของทอท. และในขั้นตอนดำเนินงาน ทอท.ได้มีการเปรียบเทียบระหว่างการจัดซื้อกับการเช่าหรือไม่ว่าการจัดหาแบบใดที่จะทำให้บริษัทได้รับประโยชน์สูงสุด ทั้งในด้านประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ความคุ้มค่า และความประหยัดในการใช้จ่ายเงิน
ทั้งหมด คือ ความเคลื่อนไหวล่าสุด เกี่ยวกับการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณี ทอท. ทำสัญญาผูกเช่าเครื่องตรวจวัตถุตามร่างกายผู้โดยสาร (Body Scanner) จาก บริษัท เอ็ม.ไอ.ที. โซลูชั่น จำกัด เพียงรายเดียว มาใช้งานตามสนามบินต่างๆ นับตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน จำนวน 6 สัญญา รวมวงเงินว่าจ้างทั้งสิ้น 1,347,172,800 บาท (เท่าที่ตรวจสอบพบ) เฉลี่ยราคาเช่าต่อเครื่องอยู่ที่ 644,140 บาทต่อเดือนโดยในช่วงปี 2559 ภายใต้การบริหารงานรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีการทำสัญญาเช่ามากที่สุด จำนวน 3 สัญญา รวมวงเงินทั้งสิ้น 1,082,155,200 บาท
ที่ขณะนี้เรื่องราวเงื่อนปมปัญหาต่างๆ ได้ถูกยกระดับกลายเป็นเรื่องระหว่างประเทศ ระหว่าง ไทยกับสหรัฐไปแล้ว
ส่วนท้ายที่สุด บทสรุปของเรื่องนี้จะออกมาเป็นอย่างไร คงต้องติดตามดูกันต่อไปอย่างใกล้ชิด
อ่านประกอบ :
ควักจ่าย6.4แสน/ตัว/เดือน! รู้หรือไม่?ทอท.ผูกเช่าเครื่องบอดี้สแกนบ.เจ้าเดียวนาน5ปี1.3พันล.
ชัดๆข้อมูล3สัญญาเช่าบอดี้สแกนทอท.ปี59 ยุคบิ๊กตู่1.08พันล.-ควักจ่าย6.4แสน/ตัว/เดือน
ปมใหม่บอดี้สแกน หน่วยงานสหรัฐ โค้ทราคาขายแค่5.6ล./เครื่อง ไฉนทอท.ควักเช่าตัวละ38ล.?
ตัวละ5.6ล.ขายเฉพาะสหรัฐ!ทอท.แจงผูกเช่าบอดี้สแกน1.3พันล.-ยันควักจ่าย35ล.ราคามาตรฐาน
เปิดตัวบ.ผูกเช่าบอดี้สแกนทอท.5ปี1.3พันล.! ที่แท้เจ้าเดิมถูกสอบงานวิมานพญาแถน30ล.
ซุกตัวอาคารเก็บสินค้าเอ็มแรป? แกะรอยที่อยู่ใหม่บ.ผูกเช่าบอดี้สแกนทอท.1.3พันล.
ข้องใจผูกเช่าบ.เดียว-ไม่ซื้อกรรมสิทธิ์ขาด!สตง.จี้ทอท.ส่งหลักฐานเครื่องบอดี้สแกนทุกสัญญา
ทอท.ยื้อส่งหลักฐานผูกเช่าเครื่องบอดี้สแกน สตง. 2รอบ! เลขาฯนิตินัยยันได้แน่16ก.พ.
สตง. ไล่บี้ ทอท. ส่งหลักฐานผูกเช่าเครื่องบอดี้สแกนเพิ่ม5ปี - ขู่ยึกยักเจอมาตรการพิเศษ