โปรดเกล้าฯผู้แทนพระองค์เปิดการประชุมวิสาขบูชาโลกประจำปี 2561
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ผู้แทนพระองค์เปิดการประชุมวิสาขบูชาโลก ประจำปี 2561
เมื่อวันที่ 25 พ.ค.2561 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พลเอก บัณฑิต มลายอริศูนย์ เป็นผู้แทนพระองค์ เปิดการประชุมชาวพุทธนานาชาติ เนื่องในวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก ประจำปี 2561 และเนื่องในโอกาสสดุดีพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในฐานะพระมหากษัตริย์นักพัฒนา ระหว่างวันที่ 25-27 พฤษภาคม ภายใต้หัวข้อ “พระพุทธศาสนากับการพัฒนามนุษย์” โดยมีผู้นำชาวพุทธ นักวิชาการ เข้าร่วม 85 ประเทศ กว่า 3,000 รูป/คน ณ หอประชุม มวก. 48 พรรษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
การจัดกิจกรรมช่วงเช้าของวันที่ 25 พ.ค.นี้ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อัมพร อัมพโร) เสด็จไปในการประชุมพร้อมประทานธรรมกถาความว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ประทานหนทางพัฒนามนุษย์ ให้ก้าวสู่การหลุดพ้นจากห้วงทุกข์อย่างถาวรได้ อันเรียกว่า มรรค 8 มีสัมมาทิฎฐิเป็นธรรมะประการต้นให้พุทธศาสนิกชนได้นำไปใช้ในการดำเนินชีวิต
ด้านพระพรหมบัณฑิต กรรมการมหาเถรสมาคม(มส.) อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) กล่าวว่า การจัดวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก ครั้งนี้เป็นครั้งที่15 ใช้หัวข้อ“พระพุทธศาสนากับการพัฒนามนุษย์” เพื่อเป็นการสดุดีพระเกียรติคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ที่ทรงได้รับการยกย่องจากองค์การสหประชาชาติในฐานะ “พระมหากษัตริย์นักพัฒนา” และสอดคล้องกับแนวทางของสหประชาชาติ ที่ทรงเน้นการพัฒนามนุษย์ ในรูปของปรัญญาเศรษฐกิจพอเพียง
และในปีนี้ ยังได้ดำเนินการจัดทำ พระไตรปิฎกสากล ฉบับแรกของโลกสำเร็จ ถือเป็นพระไตรปิฎกฉบับประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนารวบรวมจาก 3 นิกายหลัก คือ เถรวาท มหายาน และวัชรยาน แปลเป็นภาษาอังกฤษ ที่ชาวพุทธทั่วโลกใช้อ้างอิงและสามารถศึกษาหลักคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เป็นสากล ดังนั้นในวิสาขบูชา ปีนี้ จึงดำเนินการแปลเป็นฉบับภาษาไทย ชื่อ “วิถีธรรมจากพุทธปัญญา” จัดพิมพ์จำนวน 5,000 เล่ม เพื่อให้ประชาชน นักวิชาการได้ศึกษา เช่น เทียบเรื่องกรรมฐาน สติ ชีวิตและความตาย และเรื่องของกรรม ของแต่ละนิกาย นอกจากนี้ ชาวพุทธนานาชาติ ยังได้ยื่นเรื่องขอแปลพระไตรปิฎกสากล เป็นภาษาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น จีน เวียดนาม สเปน ฮังการี อินโดนีเซีย อีกด้วย
หลังจากนั้นเป็นการปาฐกถาพิเศษโดยนายเลียนเชน เชริง โตบเกย์ (H.E. Mr. Lyonchhen Tshering Tobgay) นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรภูฏาน
นายกรัฐมนตรีประเทศภูฏาน กล่าวว่า ภูฏานได้ยึดหลักพระพุทธศาสนา รวมทั้งได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของรัชกาลที่ 9 มาพัฒนาประเทศ ซึ่งผู้ปกครองยึดหลักทศพิธราชธรรม การบริหารประเทศจะเน้นนโยบายให้นำหลักธรรมะไปใช้ในการบริหารทุกระดับ โดยตนเคยอยู่กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)มาก่อน จึงมีความสนใจนำพระพุทธศาสนาไปพัฒนาจิตใจของเด็กในโรงเรียน จึงอยากได้หลักสูตรการเรียนการสอนวิชาพระพุทธศาสนาจากประเทศไทย ตั้งแต่ระดับป.1-ม.6 ไปเทียบเคียงเป็นแบบอย่างหลักสูตรวิชาพระพุทธศาสนาในประเทศภูฎาณ
จึงได้สั่งการให้เอกอัครราชทูต ประสานกับมจร ขอหลักสูตร และแบบเรียนวิชาพระพุทธศาสนาไปดำเนินการดังกล่าว ซึ่งตนเห็นว่า การศึกษาวิชาพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำคุณค่าของศาสนาไปถึงจิตใจเด็กและเยาวชน รวมทั้งยังได้ชี้ให้เห็นว่า การพัฒนาจิตใจเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำควบคู่กัน โดยรัฐบาลภูฏานจะเน้นส่งเสริมให้ประชาชนสวดมนต์อย่างน้อยเป็นเวลา 30 นาที ซึ่งผู้สูงอายุจะสวดมนต์วันละ 2 ชั่วโมง นี่คือแนวทางพัฒนาจิตใจของภุฎาน นอกจากนี้การบริหารประเทศจะเน้นวัดความสุขของประชาชนเป็นหลักโดยเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน ยึดหลักธรรมาภิบาล อนุรักษ์วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมด้วย