เลขาฯ สปสช.เผย 6 ปัจจัย หนุนหลักประกันสุขภาพไทยสู่ความสำเร็จ
เลขาธิการ สปสช. พบปะ อปสข. – อคม.เวทีประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานหลักประกันสุขภาพในระดับพื้นที่ ย้ำเป็นกลไกสำคัญรุก “ระบบบัตรทอง” ช่วยดูแลประชาชนได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง พร้อมเผย 6 ปัจจัยสำคัญ หนุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของไทยสู่ความสำเร็จ
เมื่อเร็วๆ นี้ นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ประชุมร่วมกับคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพในระดับพื้นที่ ทั้งคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพเขต (อปสข.) และคณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพระดับเขตพื้นที่ (อคม.) ในการประชุมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานหลักประกันสุขภาพในระดับพื้นที่
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า นับเป็นครั้งแรกที่ได้มีการจัดประชุมร่วมกันระหว่าง อปสข.และ อคม. ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ทั้ง 2 ชุด นับเป็นหนึ่งกลไกสำคัญของความสำเร็จในการดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ช่วยให้เกิดการดูแลประชาชนได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง โดย อปสข.ทำหน้าที่กำหนดกรอบและแนวทางการบริหารงานหลักประกันสุขภาพในเขตพื้นที่ให้สอดคล้องกับนโยบาย, มติของคณะกรรมการ และ สปสช. ขณะที่ อคม.ทำหน้าที่ควบคุมกำกับ ส่งเสริมคุณภาพและมาตรฐานของหน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการ พิจารณาเรื่องร้องเรียนหน่วยบริการตามหลักเกณฑ์กำหนด เพื่อให้คณะอนุกรรมการฯ ทั้ง 2 คณะ ดำเนินงานได้ตามบทบาทหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้จัดประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานหลักประกันสุขภาพในระดับพื้นที่ในครั้งนี้
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวต่อว่า จากการดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ผ่านมา ต่างประเทศมักมีคำถามว่าไทยดำเนินหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจนประสบความสำเร็จได้อย่างไร โดยเฉพาะในช่วงการจัดตั้งระบบในปี 2545 ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ พร้อมยกให้ไทยเป็นประเทศตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ ทั้งนี้ ปัจจัยที่ส่งผลให้ไทยประสบความสำเร็จตามที่ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เคยระบุไว้เป็นผลจาก 6 ปัจจัยสำคัญ คือ
1.เป็นนโยบายจับต้องได้และประชาชนได้รับประโยชน์โดยตรง ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา ประชาชนที่เข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุขเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องภายใต้งบประมาณที่จำกัด จากสิทธิประโยชน์ต่างๆ อาทิ เอดส์ ไต หัวใจ และมะเร็ง เป็นต้น ทั้งในแต่ละปียังมีผู้ป่วยรับบริการราว 6 ล้านคน กลายเป็นจำนวนสะสมต่อเนื่อง ส่งผลให้ระบบบัตรทองวันนี้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น
2.มีการบริหารจัดการที่ดี (GOOD GOVERNANCE) ที่ไม่ใช่รูปแบบราชการ ดึงภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและภาคประชาชนเพื่อร่วมดำเนินระบบ ทั้งยังเป็นการถ่วงดุลการบริหาร ไม่ว่าจะในระดับบอร์ด สปสช. รวมถึง อปสข และ อคม. ทำให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน
3.การดำเนินระบบอยู่บนหลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence based) และข้อเท็จจริง โดยในการประชุมในวันนี้เป็นส่วนหนึ่งเพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลต่างๆ ในพื้นที่ นำไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกัน
4.ฝ่ายการเมืองมีนโยบายชัดเจนในการดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยทุกรัฐบาลต่างให้ความสำคัญและให้งบประมาณดำเนินการต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญทำให้การดำเนินงานบรรลุเป้าหมาย
5.การสร้างการมีส่วนร่วมและความเป็นเจ้าของระบบร่วมกัน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาระบบให้เกิดความยั่งยืน
6.การยึดหลักตามข้อเสนอการคลังสุขภาพเพื่อความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพ หรือ SAFE เพื่อให้การดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยเป็นไปอย่างเหมาะสมภายใต้งบประมาณที่จำกัด
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า แม้ว่าวันนี้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของไทยจะได้รับการยอมรับและประสบผลสำเร็จ แต่ยังมีความท้าทายในการสร้างความยั่งยืนให้กับระบบ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รวมถึงการทำงานของ อปสข. และ อคม. เพื่อทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นระบบสุขภาพยั่งยืนสำหรับคนไทย