กอปภ.ก. ประชุมตรียมพร้อมป้องกัน - บริหารจัดการปัญหาอุทกภัยครอบคลุมทุกมิติ
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) จัดประชุมติดตามสภาวะอากาศ สถานการณ์น้ำ และแนวทางการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยในช่วงฤดูฝน
เพื่อบูรณาการหน่วยงานทุกภาคส่วนเตรียมพร้อมป้องกัน และแก้ไขปัญหาอุทกภัยอย่างครอบคลุมทุกมิติ มุ่งเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด การแจ้งเตือนภัยที่รวดเร็วและเข้าถึงประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย รวมถึงวางระบบการจัดการในภาวะฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทั้งการสนธิกำลังและทรัพยากรในการปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างรวดเร็ว อีกทั้งให้ความสำคัญกับการดูแลชีวิตความเป็นอยู่และความปลอดภัยของผู้ประสบภัยเป็นหลัก ควบคู่กับการฟื้นฟูบูรณะพื้นที่ประสบภัยให้กลับสู่สภาพปกติโดยเร็ว
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการติดตามสภาพอากาศ
กับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนตั้งแต่ช่วงปลายสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม 2561 และสิ้นสุดฤดูฝนประมาณกลางเดือนตุลาคม 2561 โดยปริมาณฝนรวมทั้งประเทศจะน้อยกว่าค่าปกติเล็กน้อย ซึ่งในช่วงต้นฤดูฝนจะมีฝนตกชุกและฝนตกต่อเนื่อง ส่วนช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนกรกฎาคม 2561 ปริมาณฝนและการกระจายตัวของฝนจะลดลง
จากนั้นจะมีฝนตกชุกหนาแน่นกับฝนหนักในหลายพื้นที่ รวมถึงช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน 2561 มีแนวโน้มที่พายุหมุนเขตร้อนจะเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม ซึ่ง พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้สั่งการกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) บูรณาการทุกภาคส่วนเตรียมพร้อมรับมือและแก้ไขปัญหาอุทกภัยเชิงรุก รวมถึงกำหนดแนวทางการช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่รวดเร็วและครอบคลุมทุกด้าน ทั้งนี้ กองอำนวยการป้องกันและบรรเทา
สาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ร่วมกับจังหวัด หน่วยทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชุมติดตามสภาวะอากาศ สถานการณ์น้ำ และแนวทางการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยในช่วงฤดูฝนในวันพฤหัสบดีที่ 24 พ.ค 2561 ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อบูรณาการเตรียมพร้อมป้องกัน และแก้ไขปัญหาอุทกภัยอย่างครอบคลุมทุกมิติ โดยมุ่งเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ภัยอย่างต่อเนื่อง ด้วยการบูรณาการข้อมูลสภาวะอากาศ และสถานการณ์น้ำกับกรมอุตุนิยมวิทยา สสนก. GISTDA
กรมทรัพยากรน้ำกรมชลประทาน (SWOC) อย่างใกล้ชิด เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์ภัยและกำหนดแนวทางการแก้ปัญหาอุทกภัย พร้อมให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงระบบการแจ้งเตือนภัยที่ถูกต้อง แม่นยำ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยเข้าถึงข้อมูลการแจ้งเตือนภัยอย่างรวดเร็ว และหน่วยปฏิบัติในพื้นที่สามารถเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยอย่างทันท่วงที รวมถึงประสานหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนทรัพยากร ทั้งกำลังเจ้าหน้าที่ วัสดุอุปกรณ์ และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนการจัดการในภาวะฉุกเฉิน ให้สนธิกำลังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ปฏิบัติตามแผนการเผชิญเหตุอุทกภัย พร้อมแบ่งมอบภารกิจและหน่วยงานรับผิดชอบอย่างชัดเจน เพื่อให้การปฏิบัติการเข้าถึงทุกพื้นที่ประสบภัย อีกทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตั้เครื่องมืออุปกรณ์ เครื่องสูบน้ำบริเวณจุดอ่อนน้ำท่วมขัง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ พร้อมขุดลอกลำรางสาธารณะเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำ ตลอดจนเชื่อมโยงการระบายน้ำบริเวณรอยต่อเส้นทางน้ำไหลครอบคลุมทุกจังหวัด สำหรับการช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้ความสำคัญกับการดูแลชีวิตความเป็นอยู่และความปลอดภัย ทั้งการจัดหาอาหาร น้ำดื่ม แจกจ่ายถุงยังชีพตามวงรอบ กรณีสถานการณ์รุนแรง ให้พิจารณาอพยพประชาชนไปอาศัยในจุดอพยพที่ปลอดภัย รวมถึงให้เร่งสำรวจความเสียหายของพื้นที่ประสบภัยให้ครอบคลุมทุกด้าน ทั้งด้านการดำรงชีพ ชีวิต ที่อยู่อาศัย และพื้นที่การเกษตร ตามหลักเกณฑ์และระเบียบที่กำหนด ตลอดจนฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยกลับสู่ภาวะปกติโดยบูรณาการทุกภาคส่วนดำเนินการซ่อมแซมบ้านเรือนประชาชน และฟื้นฟูสิ่งสาธารณูปโภคที่เสียหายให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติโดยเร็ว