เปิด3หนทางเลื่อนเลือกตั้งทำยังไง? จับตาศาล รธน.ตีความ กม.ลูก ส.ส.-ส.ว.
เปิด 3 หนทางเลื่อนเลือกตั้งทำอย่างไร จับตาศาล รธน. ตีความกฎหมายลูก ส.ส.-ส.ว. แม้ผ่านแต่กว่าจะบังคับใช้ต้องรออีก 90 วัน ถ้าตีตกส่งคืน สนช. ตั้ง กมธ.แก้ไข ก่อนชง สนช. โหวต แต่ไม่เขียนให้ชัดถ้าตีตกอีกรอบใช้เวลาร่างนานแค่ไหน ไม้ตายสุดท้ายใช้ ม.44 ขยายเวลาไปอีก
เป็นอีกครั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องรับบทหนัก พิจารณาร่างกฎหมายที่สำคัญ 2 ฉบับ ซึ่งเกี่ยวพันกับการ ‘เลือกตั้ง’ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตภายหลังพ้นร่มเงาคณะรักษาสงบแห่งชาติ (คสช.)
ร่างกฎหมาย 2 ฉบับดังกล่าว ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ฉบับที่ .. พ.ศ. …. และ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสภา ฉบับที่ .. พ.ศ. ….
ทำไมทั้ง 2 ร่างนี้ถึงเกี่ยวพันกับการเลือกตั้งที่ (อาจ) จะเกิดขึ้น ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org มีคำตอบ ดังนี้
รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 บทเฉพาะกาล มาตรา 267 บัญญัติถึงอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดยสาระสำคัญคือ ต้องจัดทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ หรือ ‘กฎหมายลูก’ อย่างน้อย 4 ฉบับสำคัญ (จากทั้งหมด 10 ฉบับ) ให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน
4 ฉบับสำคัญได้แก่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฯ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสภาฯ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งฯ (ประกาศใช้แล้ว) และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฯ (ประกาศใช้แล้ว)
จึงเหลือ 2 ฉบับที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญว่า ร่างกฎหมายลูกเหล่านี้จะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
จะขัดหรือไม่ ไม่อาจก้าวล่วงอำนาจวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้ ?
แต่โร้ดแม็ปหลังจากนี้หากไล่ตามบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ สรุปข้อเท็จจริงได้ 3 หนทาง
หนึ่ง หากกฎหมายลูก 2 ฉบับดังกล่าวผ่าน สนช. จะนำกฎหมายลูกเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทูลเกล้าฯถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย ภายใน 90 วัน หรือ 3 เดือน และโร้ดแม็ปจะดำเนินต่อไป
อย่างไรก็ดีในร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฯ หรือ พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส. คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ สนช. ได้แก้ไข ก่อนที่ประชุม สนช. มีมติโหวตท่วมท้น ในมาตรา 2 เปิดช่องให้มีผลบังคับใช้ออกไปอีก 90 วัน นับตั้งแต่วันถัดไปจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา (อ่านประกอบ : เลือกตั้งใหม่ลากยาวปี62! กมธ.ประชุมลับยืดบังคับใช้กม.ส.ส.เพิ่ม90วัน ช่วย‘พรรคทหาร’)
หรืออธิบายง่าย ๆ ว่า เมื่อกฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จะยังไม่มีผลบังคับใช้จนกว่าจะครบ 90 วันนั่นเอง
ดังนั้นการเลือกตั้งอาจจะเกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2562 ตามที่ฝ่ายรัฐบาล-บิ๊ก คสช. หลายราย ‘การันตี’ เอาไว้
สอง หากกฎหมายลูก 2 ฉบับดังกล่าว หรือฉบับใดฉบับหนึ่งไม่ผ่าน ไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญจะแจ้งต่อประธาน สนช. ทราบภายใน 10 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับกฎหมายลูกฉบับนั้น และให้ สนช. ตั้ง กมธ.วิสามัญขึ้นมาคณะหนึ่งเพื่อพิจารณาแล้วเสนอต่อ สนช. ภายใน 15 วัน ถ้า สนช. มีมติไม่เห็นชอบด้วยคะแนนเสียงเกินสองในสาม ให้กฎหมายลูกฉบับนั้นเป็นอันตกไป ในกรณีที่ สนช. มีมติไม่ถึงสองในสาม ให้ถือว่า สนช. ให้ความเห็นชอบตามที่ กมธ. เสนอ
ประเด็นอยู่ตรงที่ว่า หาก สนช. ไม่เห็นชอบด้วยคะแนนเสียงเกินสองในสาม ให้กฎหมายลูกนั้นเป็นอันตกไป ตรงนี้ไม่ได้มีการระบุกรอบเวลาไว้อย่างชัดเจน ตกลงแล้วให้เวลา กรธ. มากน้อยเท่าไหร่ในการเขียนฉบับใหม่ขึ้นมา
สอดคล้องกับความเห็นของนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์หลายรายที่เห็นว่า บทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญเขียนแบบนี้ เท่ากับเป็นการเปิดช่องให้ คสช. สามารถใช้ ‘กลไก’ ส่วนนี้ เพื่อต่อท่อขยายอำนาจอยู่ยาวได้ ? (อ่านประกอบ : 3พรรคใหญ่เชื่อเลือกตั้งปี’61 ชี้ช่องยืดอายุ คสช.-ขอ‘ทักษิณ-ทหาร’ถอยคนละก้าวเพื่อชาติ)
แม้ ‘เนติบริกรครุฑ’ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. จะการันตียืนยันว่า แม้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้กฎหมายลูกดังกล่าวตกไป และให้ กรธ. มาทำใหม่ก็ตาม คิดว่า กรธ. จะแก้เฉพาะส่วนที่ขัดหรือแย้ง แล้วส่งให้ สนช. พิจารณา หากแก้เพียง 1-2 มาตรา ก็สามารถพิจารณา 3 วาระรวดเลยได้ ไม่น่ากระทบต่อโร้ดแม็ปการเลือกตั้ง น่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์จบ เพราะไม่น่าจะไปรื้อหรือทำอะไรใหม่ ๆ เพราะไม่น่าจะมีเวลาแล้ว (อ้างอิงข่าวจาก : แนวหน้าออนไลน์)
แต่นายมีชัยตอบแค่ในส่วนของการแก้ไขเบื้องต้นก่อนส่งให้ สนช. โหวตอีกรอบเท่านั้น แต่หากเกิดเหตุการณ์ สนช. โหวตให้ร่างกฎหมายลูกนั้นตกไป กรธ. จะใช้เวลาร่างใหม่เท่าไหร่ ตรงนี้นายมีชัยไม่ได้ตอบ ?
สาม คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ออกคำสั่งบางอย่าง เพื่อให้การเลือกตั้งยังไม่เกิดขึ้น หรือเลื่อนขยายเวลาออกไปอีก
แต่โอกาสที่ คสช. จะทำแบบนี้ ‘เซียนการเมือง’ หลายราย เคยวิเคราะห์ว่า เป็นไปได้น้อยมาก เว้นแต่จะเกิดเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องด้านความมั่นคงอย่างร้ายแรง เช่น การปลุกม็อบขึ้นมาล้อมเมือง หรือเกิดเหตุการณ์รุนแรงช่วงก่อนเลือกตั้ง เป็นต้น
นี่คือ 3 หนทาง ที่อาจทำให้การเลือกตั้ง ‘ขยับ’ ออกไป ไม่ตรงตามโร้ดแม็ป และเมื่อวิเคราะห์จากท่าทีของ ‘บิ๊ก’ ในรัฐบาล ฟันธงได้เลยว่าภายในปี 2561 จะไม่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
ส่วนการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในปี 2562 หรือไม่ ต้องรอลุ้นผลวินิจฉัยกฎหมายลูกสำคัญ 2 ฉบับของศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้เสียก่อน
อ่านประกอบ : ชัด ๆ อีกที! โร้ดแม็ปร่าง รธน.ใหม่ เลือกตั้งเมื่อไหร่-คสช.พ้นอำนาจวันไหน?