ครบชุด! เปิดปมปัญหา บ.พันปีฯ อ้างได้เงินกู้ยูเอ็นรับสมาชิก6จังหวัด- กษ.เลย ถูกมือมืดขู่ฆ่า?
"...ก่อนหน้านี้ นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกมาระบุว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้ทำหนังสือถึง องค์การสหประชาชาติ และธนาคารโลก เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณี บริษัท พันปี กรุ๊ป (ไทย ลาว กัมพูชา จำกัด) กล่าวอ้างว่าที่ได้รับการสนับสนุนเงินลงทุนจากทั้งสององค์กร จำนวนมาก มาดำเนินธุรกิจเกษตรพันธะสัญญา ปล่อยให้เกษตรกรยากจนกู้รายละ 1-15 ล้านบาท ชักชวนให้เกษตรร่วมเป็นสมาชิกกมากกว่า 60,000 คน ใน 5 จังหวัด คือ เลย สกลนคร บึงกาฬ สุรินทร์ และศรีสะเกษ และเรียกเงินค่าสมาชิกรายละ 200 บาท จ่ายค่าฝึกอบรมรายละ 2,500 บาท โดยระบุว่าสมาชิกจะได้รับสวัสดิการสินเชื่อให้ด้วย แต่ขณะนี้ยังไม่มีใครได้รับเงินกู้..."
นับเป็นประเด็นใหญ่ ที่ไม่ควรถูกมองข้ามอีกเรื่องหนึ่ง!
สำหรับกรณีปรากฎข้อมูล บริษัท พันปี กรุ๊ป (ไทย ลาว กัมพูชา) จำกัด ได้ส่งทีมงานเข้าไปชักชวนเกษตรกร และประชาชนในพื้นที่จังหวัดต่างๆ มาสมัครเป็นสมาชิก เพื่อเข้าร่วมโครงการช่วยเหลือด้านเกษตรกรรมในประเทศไทย โดยกล่าวอ้างว่าได้รับเงินสนับสนุนจำนวนมากจาก องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และธนาคารโลก เพื่อนำเงินมาช่วยเหลือเกษตรกรในรูปแบบโครงการต่างๆ โดยขั้นตอนการดำเนินงานจะมีการโอนเงินเข้าบัญชีให้เพื่อไปดำเนินการผลิตแล้วจะมีการรับซื้อผลผลิตกลับคืนมา รวมถึงให้เงินทุกกู้ยืมโดยไม่คิดดอกเบี้ย สำหรับเกษตรกรที่สนใจ สามารถสมัครเข้าร่วมได้โดยใช้หลักฐานสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน รูปถ่าย 2 นิ้ว และสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร เสียค่าสมาชิกคนละ 200 บาท แต่ปัจจุบันยังไม่มีเกษตรกรรายใดได้รับเงินกู้ดังกล่าว และยังไม่มีการให้เกษตรกรหรือประชาชนทำสัญญาเพื่อดำเนินการผลิตสินค้าให้กับบริษัทแต่อย่างใดด้วย
โดยล่าสุดสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าวในกระทรวงเกษตรฯ ว่า นอกเหนือจากพื้นที่หลายจังหวัดในภาคอีสานที่กำลังเกิดปัญหานี้แล้ว ในส่วนพื้นที่ภาคใต้ คือ จังหวัดสตูล ก็ถูกตรวจสอบพบปัญหานี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งทางกระทรวงเกษตรฯ อยู่ระหว่างประสานงานกับทางจังหวัดสตูล หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ทุกแห่ง เร่งทำการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนเกษตรกร และประชาชนให้ระมัดระวังการสมัครเข้าร่วมโครงการต่างๆ เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลยืนยันเป็นทางการว่า เอกชนรายนี้ได้รับเงินทุนกู้ยืมจาก องค์การสหประชาชาติ และธนาคารโลก ตามที่กล่าวอ้างจริงหรือไม่ และการดำเนินการในลักษณะนี้เป็นการเข้าข่ายหลอกลวงประชาชนหรือไม่ พร้อมกันนี้ยังได้แจ้งประสานงานไปยัง กอ.รมน.จังหวัด ให้ช่วยเข้าตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงในพื้นที่อีกทางหนึ่งด้วย หากตรวจสอบพบว่ามีการสร้างความเดือนร้อนและความเสียหาย จะมีการแจ้งดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้เกี่ยวข้องต่อไป (อ่านประกอบ : เครือข่าย บ.พันปีฯ อ้างได้เงินกู้ยูเอ็นโผล่สตูล! ก.เกษตรฯ ขอ กอ.รมน.สอบด่วน-หวั่นหลอกลวง)
สำหรับจังหวัดในพื้นที่อีสานที่ถูกตรวจสอบพบปัญหานี้ไปแล้ว ประกอบไปด้วย เลย สกลนคร บึงกาฬ สุรินทร์ และนครราชสีมา ปรากฎพฤติการณ์ในฐานข้อมูลการตรวจสอบเชิงลึกของกระทรวงเกษตรฯ ตามรายละเอียดดังต่อไปนี้
@ เลย
- มีการเข้าไปชักชวนให้เกษตรกรประชาชน เข้าร่วมโครงการปลูกกล้วยหอมทอง แจ้งจำนวนวงเงินสินเชื่อ 1 ล้านบาท ระยะเวลา 10 ปี เบื้องต้น กระทรวงเกษตรฯ ได้ประสานไปยังเกษตรจังหวัด สหกรณ์จังหวัด และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าไปตรวจสอบข้อมูลและมีการประสานงานหน่วยงานราชการในพื้นที่ และฝ่ายความมั่นคงภายในจังหวัดให้ความร่วมมือตรวจสอบข้อมูลแล้ว
ขณะที่มีการยืนยันข้อมูลว่า กษ.จว. ถูกขู่ฆ่าด้วย เนื่องจากมีการเปิดโปงเรื่องการดำเนินงานที่มีลักษณะเข้าข่ายหลอกลวงครั้งนี้
@ สกลนคร
- มีการเชิญชวนให้เกษตรกรและชาวบ้าน ออมเงิน และรวมตัวกันประมาณ 2,000 ราย พร้อมเปิดโรงแรมนัดหมายเกษตรกรลงทะเบียนให้ปลูกเห็ดนางฟ้า และทำแปลงเกษตร สร้างโรงเรือนปลูกเห็ด โดยเก็บเงินคนละ 2,500 บาท หากจำนวนครบ 4,000 ราย จึงจะสามารถดำเนินการได้ และมีความพยายามเชิญข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ไปร่วมงานเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือด้วย
ข้อสังเกตจากข้อมูลที่ตรวจสอบพบ มักมีการตั้งชื่อโครงการแปลกๆ เช่น โครงการเห็ดล้านก้อนไถ่ชีวิตโค กระบือ และมีการใช้แกนนำในท้องถิ่นเป็นผู้ชักชวน โดยให้กลุ่มชาวบ้านรวมกลุ่มกันเยอะๆ แล้วจูงใจว่าจะได้เงินเป็น จำนวนมาก
ปัจจุบันอยู่กระทรวงเกษตรฯ ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก ว่ามีพฤติการณ์กระทำความผิดจริงหรือไม่
@ บึงกาฬ
- มีการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนพลังเกษตรดีครบวงจร “โครงการปลูกอินทผาลัม” อ้างว่าจะได้รับเงินสนับสนุนจาก องค์การสหประชาชาติ รายละ 1.3 ล้านบาท สำหรับการเพาะปลูกอินทผาลัมเนื้อที่ 3 ไร่ โดยชักชวนประชาชนใน จังหวัดบึงกาฬ และใกล้เคียงเข้าร่วมเป็นสมาชิก ปัจจุบันมี กว่า 10,000 คน
ปัจจุบันอยู่กระทรวงเกษตรฯ ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก
@ สุรินทร์
-มีความเคลื่อนไหวในลักษณะที่ให้สมาชิก จำนวนมากไปทำหนังสือเดินทางที่สำนักงานหนังสือเดินทาง จ. อุบลราชธานี จ. นครราชสีมา และ จ. ขอนแก่น โดยมีบริษัทเอกชน เป็นผู้ชักชวน อ้างว่าจะพาไปศึกษาดูงานต่างประเทศ เพื่อประกอบการขอกู้เงินจาก ธนาคารโลก สังกัด UN วงเงินรายละ 15 ล้านบาท โดยมีการเก็บเงินค่าดำเนินการด้านเอกสารจากสมาชิกรายละ 200 บาท ค่าเสื้อยืดตัวละ 300 บาท ค่าเสื้อแจ๊กเกตตัวละ 350 บาท รวมเป็นเงินรายละ 850 บาท
โดยในกรณีนี้ กลุ่มเกษตรกร ที่ถูกระบุว่า เดินทางไปทำหนังสือเดินทาง นอกจากจะมาจากจังหวัดสุรินทร์แล้ว ยังมี ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ, ยโสธร และอุบลราชธานีด้วย
ปัจจุบันอยู่กระทรวงเกษตรฯ ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก ว่ามีพฤติการณ์กระทำความผิดจริงหรือไม่
@ นครราชสีมา
- เกษตรกรผู้เสียหายจำนวน 62 ราย ร้องทุกข์กล่าวโทษบริษัทเครือข่ายที่ตั้งอยู่ใน จ. บุรีรัมย์ ที่อ้างว่าเป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเกี่ยวกับมันเทศญี่ปุ่นส่งออกต่างประเทศ โดยให้ลงทุนซื้อยอดพันธุ์มันเทศ ยอดละ 10 บาทจำนวน 4,000 ยอดต่อไร่ จะได้รับปัจจัยส่งเสริมการเพาะปลูก เมื่อผลผลิตออกจะขอรับซื้อยอดมันเทศในราคาประกันขั้นต่ำยอดละ 4.50 บาท ประชาสัมพันธ์ทางสื่อโซเชียลมีเดีย จากนั้นได้จัดอบรมสัมมนานอกสถานที่ เพื่อจัดระบบการตลาดเป็นทีม เฉลี่ยสูญเงินรายละ 1-2 แสนบาท รวมมูลค่าความเสียหายประมาณ 50 ล้านบาท
ปัจจุบันอยู่กระทรวงเกษตรฯ ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก ว่ามีพฤติการณ์กระทำความผิดจริงหรือไม่
@ ข้อพิพากกับเอกชน
สำนักบริหารกองทุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและรับเรื่องร้องเรียน สป.กษ. ได้รับการร้องเรียนจากบริษัทไชนี่อินเตอร์คอร์ปอเรชั่น จำกัด แจ้งเตือนกรณีบริษัท พันปี กรุ๊ป (ไทย ลาว กัมพูชา) จำกัด ผิดข้อตกลงการรับซื้อข้าวเปลือก ซึ่งมีการเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธร ในข้อหาฉ้อโกงประชาชน และความผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รมช.กระทรวงเกษตรฯ ได้ลงนามเห็นชอบให้ทำหนังสือแจ้งเวียนให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ แจ้งเตือนเกษตรและองค์กรเกษตรกรระมัดระวังตัวแล้ว (ดูเอกสารประกอบ)
ขณะที่ ก่อนหน้านี้ นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกมาระบุว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้ทำหนังสือถึง องค์การสหประชาชาติ และธนาคารโลก เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณี บริษัท พันปี กรุ๊ป (ไทย ลาว กัมพูชา จำกัด) กล่าวอ้างว่าที่ได้รับการสนับสนุนเงินลงทุนจากทั้งสององค์กร จำนวนมาก มาดำเนินธุรกิจเกษตรพันธะสัญญา ปล่อยให้เกษตรกรยากจนกู้รายละ 1-15 ล้านบาท ชักชวนให้เกษตรร่วมเป็นสมาชิกกมากกว่า 60,000 คน ใน 5 จังหวัด คือ เลย สกลนคร บึงกาฬ สุรินทร์ และศรีสะเกษ และเรียกเงินค่าสมาชิกรายละ 200 บาท จ่ายค่าฝึกอบรมรายละ 2,500 บาท โดยระบุว่าสมาชิกจะได้รับสวัสดิการสินเชื่อให้ด้วย แต่ขณะนี้ยังไม่มีใครได้รับเงินกู้
และจากการตรวจสอบพบว่า บริษัท พันปี กรุ๊ป (ไทย ลาว กัมพูชา) จำกัด มีบริษัทสาขาจำนวนมากถึง 153 บริษัท กระจายดำเนินธุรกิจในภาคอีสาน มีการจดแจ้งการประกอบธุรกิจในระบบเกษตรพันธสัญญา ต่อกระทรวงเกษตร เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2561 หรือประมาณ 1 เดือนเศษ แต่จากหลักฐานข้อมูล ยังไม่พบได้ทำสัญญาในเกษตรพันธสัญญา เนื่องจากยังไม่ปรากฏว่ามีการจัดส่งสำเนาเอกสารสำหรับการชี้ชวน ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจต้องส่งเสาเนาหนังสือมายังกระทรวงเกษตรฯ ภายใน 30 วัน เมื่อเกิดเหตุฟ้องร้อง จนเกิดความเสียหาย กระทรวงเกษตรฯ สั่งการให้เกษตรจังหวัดที่เกิดเหตุลงสำรวจพื้นที่ ว่า บริษัท พันปี กรุ๊ป กระทำผิดเงื่อนไขเกษตรพันธสัญญาหรือไม่ หากกระทำผิดจะมีการเปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 300,000 บาท แต่ปัจจุบันบริษัทฯ ยังไม่ได้มีการส่งมอบหลักฐานเอกสารมาให้ (อ่านประกอบ : เผยหนังสือก.เกษตรฯ ไล่บี้พันปีกรุ๊ปฯ ส่งหลักฐานคอนแทรคท์ฟาร์มมิ่ง อ้างได้เงินทุนยูเอ็น-ธ.โลก)
สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับบริษัท พันปี กรุ๊ป (ไทย,ลาว,กัมพูชา) จำกัด นั้น สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2550 ทุน 9,000,000 บาท ตั้งอยู่ เลขที่ 365 ตำบลชำ อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ แจ้งประกอบธุรกิจโรงงานผลิตไบโอดีเซล ปรากฎชื่อ นาย พิชย์พิพรรธ ศรีตระกูลรักษ์ เป็นกรรมการ และผู้ถือหุ้นใหญ่
เบื้องต้น สำนักข่าวอิศรา ได้พยายามติดต่อผู้บริหารบริษัท พันปี กรุ๊ป (ไทย,ลาว,กัมพูชา) จำกัด ให้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว แต่ยังไม่สามารถติดต่อได้
อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบันบริษัท พันปี กรุ๊ป (ไทย,ลาว,กัมพูชา) จำกัด ยังไม่ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ชี้ขาดว่ามีการกระทำความผิดตามกฎหมาย แต่อย่างใด จึงถือว่ายังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่