ร่างยุทธศาสตร์ชาติ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ชาติ ตามที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเสนอ ทั้งนี้ มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติรับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปประกอบการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมร่างยุทธศาสตร์ชาติ และเสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบตามขั้นตอน ก่อนเสนอร่างยุทธศาสตร์ชาติฉบับปรับปรุงเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีภายในวันที่ 5 มิถุนายน 2561 เพื่อคณะรัฐมนตรีจะได้พิจารณา ร่างยุทธศาสตร์ชาติตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติได้รายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และร่างยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ด้าน ซึ่งประธานกรรมการยุทธศาสตร์ชาติในนามคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติได้ให้ความเห็นชอบแล้ว มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. วิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศ คือ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” หรือเป็นคติพจน์ประจำชาติว่า “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” เพื่อสนองตอบต่อผลประโยชน์แห่งชาติ
2. ร่างยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ด้าน ประกอบด้วย
1) ด้านความมั่นคง “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข” โดยมีเป้าหมายย่อย ได้แก่
(1) ประชาชนอยู่ดี กินดี และมีความสุข
(2) บ้านเมืองมีความมั่นคงในทุกมิติและทุกระดับ
(3) กองทัพ หน่วยงานด้านความมั่นคง ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน มีความพร้อมในการแก้ไขปัญหา
(4) ประเทศไทยมีบทบาทเป็นที่ชื่นชมและได้รับการยอมรับโดยประชาคมระหว่างประเทศ
(5) การบริหารจัดการความมั่นคงมีผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมอย่างมีประสิทธิภาพ
2) ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน มีเป้าหมาย ดังนี้
(1) ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสรีภาพและยั่งยืน
(2) ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น
3) ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ มีเป้าหมายพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทั้ง 4 ด้าน ได้แก่
(1) ใจ มีจิตสาธารณะ เป็นพลเมืองดีของชาติและมีจิตสำนึกความเป็นไทย
(2) สติปัญญา มีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 เช่น การสื่อสารภาษาต่างประเทศ การคิดวิเคราะห์และการพึ่งพาตนเอง
(3) กาย มีพัฒนาการที่ดีรอบด้านตั้งแต่อยู่ในครรภ์
(4) สภาพแวดล้อม ครอบครัวไทยจะต้องมีความสามารถในการเลี้ยงดูเยาวชนในครอบครัว ไม่ยอมรับการทุจริตคอร์รัปชัน และมีระบบนิเวศที่สนับสนุนครอบครัวในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สภาพแวดล้อมที่สนับสนุนการเรียนรู้ และสังคมที่มีความสุข
4) ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม มีเป้าหมาย ดังนี้
(1) สร้างความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ
(2) กระจายศูนย์กลางความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคม เพิ่มโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามาเป็นกำลังของการพัฒนาประเทศไทยในทุกระดับเพื่อความสมานฉันท์
(3) เพิ่มขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่นในการพัฒนาการพึ่งตนเองและการจัดการตนเองเพื่อสร้างสังคมคุณภาพ
5) ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีเป้าหมาย ดังนี้
(1) อนุรักษ์และรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม ให้คนรุ่นต่อไปได้ใช้อย่างยั่งยืน มีสมดุล
(2) ฟื้นฟูและสร้างใหม่ฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อลดผลกระทบทางลบจากการพัฒนาสังคมเศรษฐกิจของประเทศในทุกมิติ
(3) ใช้ประโยชน์และสร้างการเติบโตบนฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้สมดุลภายในขีดความสามารถของระบบนิเวศ
(4) ยกระดับกระบวนทัศน์ เพื่อกำหนดอนาคตประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม บนหลักของการมีส่วนร่วมและธรรมาภิบาล
6) ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ มีเป้าหมาย ดังนี้
(1) ยกระดับงานบริการประชาชนสู่ความเป็นเลิศ ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างสะดวก รวดเร็ว โปร่งใส
(2) ภาครัฐมีขนาดที่เล็กลง ลดความซ้ำซ้อนและปรับภารกิจของหน่วยงานภาครัฐให้เหมาะสม พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ทุก ๆ ภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการบริการสาธารณะอย่างเหมาะสม
(3) การทำงานมีวัฒนธรรมที่มุ่งผลสัมฤทธิ์และผลประโยชน์ของส่วนรวม มีความทันสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้อย่างคุ้มค่า
(4) ส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดการเฝ้าระวังและตรวจสอบการดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐ ตลอดจนการดำเนินการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในสังคม
(5) กระบวนการยุติธรรม การออกกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวมของประเทส ผดุงไว้ซึ่งความยุติธรรมอย่างถ้วนหน้า มีความเป็นสากล ไม่เลือกปฏิบัติ