4 ปี คสช.ใช้ 2.78 ล้านล.กระตุ้นเศรษฐกิจ -โครงสร้างพื้นฐาน-เกษตรกร ชุมชน
“…เบ็ดเสร็จแล้ว 4 ปีที่ผ่านมา รัฐบาล ‘บิ๊กตู่’ ใช้เม็ดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรากฐานความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร และชุมชน รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ หากนับเฉพาะกระทรวงเศรษฐกิจสำคัญ ๆ 6 กระทรวงดังกล่าว ทั้งสิ้น 2.78 ล้านล้านบาท…”
ครบรอบ 4 ปีเหตุการณ์รัฐประหาร ล้มกระดานระบอบประชาธิปไตย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามายึดอำนาจ ‘คืนความสุขให้คนในชาติ’ พร้อมจัดตั้งรัฐบาล มี ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหอกนำทีม
หมุดหมายสำคัญนอกเหนือจากการปฏิรูประบบการเมืองใหม่แล้ว เพื่อกระตุ้นระบอบเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง-ซบเซา ให้กลับมาโลดแล่นกลายเป็น ‘เสือ’ อีกครั้ง
โดยเฉพาะการดึง ‘เทคโนแครตแมน’ เมืองไทย คือ ‘หม่อมอุ๋ย’ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และอดีต รมว.คลัง สมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เข้ามานั่งเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ แต่ก็ไม่สามารถตอบโจทย์ได้มากนัก จนถูกปรับออกจากตำแหน่งไป
ต่อมาดึงนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มือเศรษฐกิจหัวกะทิจากรัฐบาล ‘ทักษิณ ชินวัตร’ เข้ามาแก้ไขปัญหา โดยแต่ละนโยบายของนายสมคิด ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเลียนแบบมาจากนโยบายของ ‘ไทยรักไทย’ ในอดีตทั้งสิ้น เพียงแต่นำมาเปลี่ยนชื่อใหม่ เช่น นโยบายประชารัฐ หรือไทยนิยม เป็นต้น
ขณะเดียวกันบุคคลระดับ ‘บิ๊ก’ ในรัฐบาล ต่างออกมาดาหน้าให้สัมภาษณ์การันตีถึงการพัฒนาทางเศรษฐกิจภายหลัง คสช. เข้ามาว่า ‘ดีขึ้น’ แม้ว่าจะหว่านเม็ดเงินไปจำนวนมหาศาลก็ตาม ?
ไม่ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร
แต่ตัวเลขวงเงินงบประมาณประจำปีที่ผ่านการลงมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับปัญหาการแก้เศรษฐกิจฐานราก ไม่เคยโกหกใคร ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สืบค้นข้อมูลนับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา พบว่า สนช. ผ่านงบประมาณรายจ่ายประจำปีในสมัยรัฐบาล ‘ท็อปบู้ต’ ไปแล้วอย่างน้อย 4 ครั้ง ได้แก่ งบประจำปี 2558, 2559, 2560 และ 2561 รวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 11,675,000,000,000,000 บาท หรือราว 11.6 ล้านล้านบาท
ปี 2558 ใช้งบประมาณ 2,575,000,000,000 บาท หรือประมาณ 2.5 ล้านล้านบาท
ปี 2559 ใช้งบประมาณ 2,720,000,000,000 บาท หรือประมาณ 2.7 ล้านล้านบาท และอนุมัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมอีก 56,000,000,000 บาท หรือประมาณ 5.6 หมื่นล้านบาท เบ็ดเสร็จเป็นเงินประมาณ 2.8 ล้านล้านบาท
ปี 2560 ใช้งบประมาณ 2,733,000,000,000 บาท หรือประมาณ 2.7 ล้านล้านบาท และอนุมัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมอีก 190,000,000,000 บาท หรือประมาณ 1.9 แสนล้านบาท เบ็ดเสร็จเป็นเงินประมาณ 2.9 ล้านล้านบาท
ปี 2561 ใช้งบประมาณ 2,900,000,000,000 บาท หรือประมาณ 2.9 ล้านล้านบาท และอนุมัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมอีก 150,000,000,000 บาท หรือประมาณ 1.5 แสนล้านบาท เบ็ดเสร็จเป็นเงินประมาณ 3.4 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้การเบิกจ่ายงบประมาณเพื่ออัดฉีดมาตรการทางเศรษฐกิจของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ แบ่งออกเป็น 2 ภาค ด้วยกัน
ภาคแรก เพื่อดำเนินการปฏิรูป และกระตุ้นเศรษฐกิจระยะแรกเริ่ม คือในช่วงปี 2558-2559 ได้แก่
ปี 2558
-งบกระทรวงการคลัง 185,852,223,000 บาท (ราว 1.8 แสนล้านบาท) ส่วนใหญ่เพื่อบริหารจัดการแผนเศรษฐกิจมหภาคให้มีความยั่งยืน
-งบกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 7,931,852,300 บาท (ราว 7.9 พันล้านบาท) ส่วนใหญ่เพื่อแผนงานแก้ไขและพัฒนาชายแดนใต้ รวมถึงกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน
-งบกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 80,999,541,600 บาท (ราว 8 หมื่นล้านบาท) ส่วนใหญ่เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ รวมถึงส่งเสริมประสิทธิภาพการผลิต สร้างมูลค่าภาคการเกษตร
-งบกระทรวงคมนาคม 110,722,533,500 บาท (ราว 1.1 แสนล้านบาท) ส่วนใหญ่เพื่อขับเคลื่อนการวางโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเพื่อรองรับการพัฒนาสู่อนาคต และแผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์
-งบกระทรวงพาณิชย์ 7,247,154,400 บาท (ราว 7.2 พันล้านบาท) ส่วนใหญ่เป็นแผนงานดำเนินการตามกรอบข้อตกลงของประชาคมอาเซียน และแผนส่งเสริมประสิทธิภาพการผลิตสร้างมูลค่าการเกษตร
-งบกระทรวงอุตสาหกรรม 5,856,501,900 บาท (ราว 5.8 พันล้านบาท) ส่วนใหญ่เป็นแผนงานส่งเสริมสินค้าด้านการเกษตร และอุตสาหกรรมอาหาร รวมถึงแผนงานฟื้นฟูความเชื่อมั่นและกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน นอกจากนี้ยังยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม และพัฒนาเศรษฐกิจระดับฐานราก
รวมเป็นเงินราว 3.9 แสนล้านบาท
ปี 2559
-งบกระทรวงการคลัง 199,174,066,600 บาท (ราว 1.9 แสนล้านบาท) ส่วนใหญ่เป็นแผนงานบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาคให้เกิดความยั่งยืน แผนงานแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ ส่งเสริมบทบาท และการใช้โอกาสในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
-งบกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 7,136,752,700 บาท (ราว 7.1 พันล้านบาท) ส่วนใหญ่เป็นแผนงานพัฒนาและเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวและบริการ และส่งเสริมบทบาทและการใช้โอกาสในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน รวมถึงแผนงานจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว และการค้ามนุษย์
-งบกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 86,403,683,300 บาท (ราว 8.6 หมื่นล้านบาท) ส่วนใหญ่เป็นแผนงานสร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืนให้แก่เกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย รวมถึงแผนงานส่งเสริมประสิทธิภาพการผลิต การสร้างมูลค่าภาคการเกษตร และการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรอย่างเป็นระบบ โดยมาถึงตรงนี้เริ่มมีการแตะเรื่องพัฒนา ‘เศรษฐกิจดิจิทัล’ บ้างแล้ว
-งบกระทรวงคมนาคม 136,101,335,900 บาท (ราว 1.3 แสนล้านบาท) ส่วนใหญ่เป็นแผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ รวมถึงส่งเสริมเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และแผนงานพัฒนาระบบบริหารจัดการขนส่งสินค้า
-งบกระทรวงพาณิชย์ 7,192,584,700 บาท (ราว 7.1 พันล้านบาท) ส่วนใหญ่เป็นแผนงานส่งเสริมบทบาทและการใช้โอกาสในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และแผนงานส่งเสริมเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ
-งบกระทรวงอุตสาหกรรม 5,965,372,200 บาท (ราว 5.9 พันล้านบาท) ส่วนใหญ่เป็นแผนงานยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม และส่งเสริมบทบาท และการใช้โอกาสในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน รวมถึงแผนงานพัฒนาเศรษฐกิจระดับฐานรากด้วย
ทั้งนี้ในปี 2559 สนช. ได้ผ่านงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม เป็นเงิน 5.6 หมื่นล้านบาท โดยระบุเหตุผลว่า รัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินในการดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ค่าใช้จ่ายเสริมสร้างความเข้มแข็งและก้าวหน้าของประเทศตามแนวทางปฏิรูป ที่ใช้เม็ดเงินกว่า 32,661,027,300 บาท และแผนงานพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล 1.5 หมื่นล้านบาท
รวมเป็นเงินราว 4.7 แสนล้านบาท
ภาคสอง ในปี 2560-2561 จะเน้นด้านสร้างความเข้มแข็ง และยั่งยืนทางเศรษฐกิจ รวมถึงพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ได้แก่
ปี 2560
-งบกระทรวงการคลัง 25,580,994,700 บาท (ราว 2.5 หมื่นล้านบาท) ส่วนใหญ่เป็นแผนงานพื้นบานด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และการปรับสมดุล และพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ
-งบกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 5,940,481,800 บาท (ราว 5.9 พันล้านบาท) ส่วนใหญ่เป็นแผนงานพื้นฐานด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเสริมสร้างศักยภาพบุคคล
-งบกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 52,639,737,900 บาท ส่วนใหญ่เป็นแผนงานพื้นฐานด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และยุทธศาสตร์พัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน และเสริมสร้างความเข้มแข็งของเกษตรกรอย่างเป็นระบบ
-งบกระทรวงคมนาคม 63,538,688,500 บาท (ราว 6.3 หมื่นล้านบาท) ส่วนใหญ่เป็นแผนงานพื้นฐานด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
-งบกระทรวงพาณิชย์ 6,564,029,000 บาท (ราว 6.5 พันล้านบาท) ส่วนใหญ่เป็นแผนงานพื้นฐานด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
-งบกระทรวงอุตสาหกรรม 4,074,411,400 บาท (ราว 4 พันล้านบาท) ส่วนใหญ่เป็นแผนงานพื้นฐานด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และแผนยุทธศาสตร์พัฒนาประสิทธิภาพ และมูลค่าเพิ่มของภาคการผลิต
ทั้งนี้ในปี 2559 สนช. ได้ผ่านงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ระบุเหตุผลว่า รัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินในการดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วนที่จะสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจของประเทศ การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและชุมชนเข้มแข็ง ส่งเสริมการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของอุตสาหกรรมศักยภาพ วงเงิน 162,921,721,300 บาท (ราว 1.6 แสนล้านบาท) โดยมีการจัดสรรให้แก่กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ถึง 1 หมื่นล้านบาท และจัดสรรให้แก่กองทุนหมู่บ้าน และชุมชนเมืองแห่งชาติ 1.5 หมื่นล้านบาท รวมถึงจัดสรรตามแผนงานบูรณาการเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ 1.1 แสนล้านบาท
รวมเป็นเงินราว 4 แสนล้านบาท
ปี 2561
-งบกระทรวงการคลัง 12,402,784,200 บาท (ราว 1.2 หมื่นล้านบาท)
-งบกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 1,387,087,900 บาท (ราว 1.3 พันล้านบาท)
-งบกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 25,807,999,100 บาท (ราว 2.5 หมื่นล้านบาท)
-งบกระทรวงคมนาคม 9,618,060,900 บาท (ราว 9.6 พันล้านบาท)
-งบกระทรวงพาณิชย์ 2,637,059,400 บาท (ราว 2.6 พันล้านบาท)
-งบกระทรวงอุตสาหกรรม 1,617,968,900 บาท (ราว 1.6 พันล้านบาท)
โดยในปี 2561 สนช. ได้ผ่านงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท โดยระบุเหตุผลว่า รัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินในการดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล เพื่อรักษาทิศทางความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีการขยายตัวให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจภายใต้ประเทศอย่างยั่งยืน โดยเป็นค่าใช้จ่ายส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและชุมชน เม็ดเงิน 4.6 พันล้านบาท จัดสรรตามแผนงานยุทธศาสตร์ปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร จำนวน 24,300,694,500 บาท จัดสรรแผนงานยุทธศาสตร์ส่งเสริมเศรษฐกิจและพัฒนาศักยภาพชุมชน 50,378,928,100 บาท
รวมเป็นเงินราว 1.3 แสนล้านบาท
เบ็ดเสร็จแล้ว 4 ปีที่ผ่านมา รัฐบาล ‘บิ๊กตู่’ ใช้เม็ดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรากฐานความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร และชุมชน รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ หากนับเฉพาะกระทรวงเศรษฐกิจสำคัญ ๆ 6 กระทรวงดังกล่าว ทั้งสิ้น 2.78 ล้านล้านบาท
นับเป็นเม็ดเงินมหาศาล ไม่น้อยเลยทีเดียว ส่วนผลงานสำเร็จเป็นรูปธรรมอะไรบ้าง ผ่านมา 4 ปี ประชาชนคงเห็นกันไปบ้างแล้ว ?
อ่านประกอบ : 4 ปี คสช.ปราบคอร์รัปชัน จุดอ่อน อุ้ม 'คนใกล้ชิด'
หมายเหตุ : ภาพประกอบรถไฟฟ้าจาก pantip, ภาพชาวนาจาก thairath, ภาพ คสช. จาก mthai