เหตุเกิดที่อนุบาลปัตตานี นักเรียนที่นี่ห้ามสวมฮิญาบ?
จากความชื่นมื่นในวันเปิดภาคการศึกษาใหม่ที่บุตรหลานได้แต่งตัวไปโรงเรียนเป็นวันแรก แต่แล้วก็มีเหตุการณ์วุ่นๆ ขึ้นที่โรงเรียนอนุบาลปัตตานี
เหตุการณ์นี้กำลังก่อผลกระทบทางความรู้สึกเป็นวงกว้าง...
ที่โรงเรียนอนุบาลปัตตานี พ่อแม่ผู้ปกครองหลายคนที่มีบุตรหลานเป็นเด็กหญิงมุสลิม ได้ให้น้องๆ หนูๆ สวม "ฮิญาบ" หรือ "ผ้าคลุมผม" ไปโรงเรียนตามหลักการศาสนาอิสลาม แม้โรงเรียนแห่งนี้ไม่เคยอนุญาตให้นักเรียนหญิงมุสลิมสวมฮิญาบมาก่อน แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีสัญญาณดี และสัญญาณนี้ก็มีที่มาที่ไป ไม่ใช่จู่ๆ ก็สวมฮิญาบนั่งซ้อนมอเตอร์ไซค์ไปเรียนกันโดยไม่บอกกล่าว
ให้สวมได้...หรือเข้าใจผิด?
ปลายเดือน มี.ค.61 ซึ่งเป็นช่วงปิดภาคการศึกษา หรือ "ปิดเทอมใหญ่" มีผู้ปกครองของนักเรียนโรงเรียนอนุบาลปัตตานี ร้องเรียนไปยัง "มูลนิธิมุสลิมเพื่อสันติ" ว่าทางโรงเรียนไม่อนุญาตให้เด็กนักเรียนคลุมฮิญาบไปเรียนหนังสือ ทางมูลนิธิฯ จึงเรียกประชุมคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องนี้โดยด่วน
ต่อมา ทีมงานมูลนิธิมุสลิมเพื่อสันติ 3 จังหวัดชายแดนใต้ หรือ มมส. 3 จ. ได้ไปที่โรงเรียนอนุบาลปัตตานี และได้พบกับรองผู้อำนวยการโรงเรียน มีการพูดคุยกันเบื้องต้นถึงทิศทางการแก้ไขปัญหาตามข้อเท็จจริง พร้อมทั้งออกหนังสือให้ทางโรงเรียนเมื่อวันที่ 5 เม.ย.61 แต่เมื่อเวลาผ่านไป ทาง มมส.3 จ.ก็ยังไม่ได้รับหนังสือตอบกลับที่เป็นลายลักษณ์อักษรจากทางโรงเรียน ว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้นักเรียนหญิงมุสลิมสวมฮิญาบ
ต่อมาเมื่อวันที่ 30 เม.ย.61 ทีมกฎหมาย มมส.3 จ. ได้ทำหนังสือไปถึงโรงเรียนอีกฉบับหนึ่ง แต่ก็ไม่มีสัญญาณตอบรับจากเลขหมายที่ท่านเรียก...เช่นเดิม
แต่จากหนังสือของ มมส.3 จ. และการพูดคุยทางโทรศัพท์กับผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลปัตตานีหลายครั้ง รวมทั้งผู้ปกครองของนักเรียนก็ได้รับข้อมูลว่า ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุญาตให้นักเรียนหญิงมุสลิมคลุมฮิญาบ หรือสวมเครื่องแต่งกายที่ถูกต้องตามหลักการศาสนาได้ โดยต้องเป็นไปตามกรอบระเบียบปฏิบัติของกระทรวงศึกษาธิการด้วย จึงทำให้ผู้ปกครองมั่นใจในท่าทีของผู้อำนวยการโรงเรียน และตัดสินใจรวบรวมความสมัครใจของผู้ปกครองหลายคน เพื่อให้ลูกๆ ของตนได้สวมเครื่องแต่งกายในวันเปิดเทอมวันแรกตรงตามหลักการทางศาสนา ขณะเดียวก็ยังมีผู้ปกครองบางคนรอให้ชุดนักเรียนตัดเสร็จก่อน โดยพร้อมที่จะให้ลูกสวมใส่ด้วยเช่นกัน
กระทั่งวันที่ 16 พ.ค.61 ซึ่งเป็นวันเปิดเทอมวันแรกของโรงเรียน เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย มมส.3 จ. พร้อมผู้ปกครอง 3 ครอบครัว และเด็กนักเรียนหญิงของโรงเรียนอนุบาลปัตตานีอีก 4 คน แต่งกายด้วยเครื่องแบบนักเรียนมุสลิม เดินทางเข้าไปในโรงเรียน โดยมี นายประจักษ์ ชูศรี ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลปัตตานี ออกมาต้อนรับ พร้อมยืนยันว่าไม่ได้ห้ามมาตั้งแต่แรก และยินดีหากจะแต่งกายตามหลักการศาสนาอิสลาม นักเรียนหญิงสวมฮิญาบได้ ส่วนนักเรียนชายก็สามารถสวมใส่กางเกงขายาวได้เช่นกัน สร้างความชื่นมื่นให้กับผู้ปกครองของเด็กนักเรียนมุสลิมทุกคนที่โรงเรียนอนุญาต
แต่แล้ว วันที่ 18 พ.ค.61 ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลปัตตานี ได้นัดผู้ปกครองนักเรียน และคณะกรรมการสถานศึกษา ร่วมพูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันที่ห้องประชุมบัวชมพู โดยมี นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นกรรมการสถานศึกษา เข้าประชุมด้วย จากนั้นสถานการณ์ทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลงไป
มติ กก.สถานศึกษาห้ามสวมฮิญาบ!
"ในที่ประชุมมีกรรมการมุสลิม 2 คน จากจำนวนทั้งหมด 15 คน ได้อธิบายหลักการศาสนาอิสลามเรื่องการคลุมฮิญาบ ซึ่งกรรมการทุกคนก็เข้าใจ แต่ที่ประชุมเสียงข้างมากยืนยันว่าจะไม่มีการแก้กฎของโรงเรียน ซึ่งยังไม่ชัดว่าจะคลุมฮิญาบได้หรือไม่ ต้องไปถามผู้อำนวยการโรงเรียน เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับกฎมหาเถรสมาคมด้วย"
เป็นคำบอกเล่าถึงผลการประชุมจาก นายแวดือราแม มะมิงจิ
"ทุกคนเข้าใจว่าอิสลามจะต้องสวมใส่ชุดตามที่ศาสนากำหนด แต่ในที่ประชุมมีมติเสียงข้างมากว่าจะไม่มีการแก้ระเบียบเดิมของโรงเรียน ส่วนเสียงที่เห็นด้วยให้มีการใส่ผ้าคลุมมีแค่ 2 เสียง มันก็เลยจบ ไม่สามารถค้านอะไรได้ รวมทั้งตำแหน่งคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดก็ไม่สามารถเข้าไปตัดสิน เพราะมีระเบียบหลายขั้นตอน ไม่ใช่แค่เรื่องกฎหมายอย่างเดียว ยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องศาสนา"
จากนั้นทางโรงเรียนจึงอนุญาตให้ผู้ปกครอง 3 รายที่ให้บุตรหลานสวมฮิญาบมาโรงเรียน ได้มีโอกาสเข้ารับฟังผลการประชุม สรุปก็คือเสียงข้างมากของคณะกรรมการสถานศึกษาไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขกฏระเบียบใหม่ จึงยืนยันไม่ให้มีการคลุมฮิญาบมาเรียน หากต้องการให้บุตรหลานคลุมฮิญาบก็ให้ย้ายไปเรียนที่อื่น หากยังมาเรียนด้วยการคลุมฮิญาบ ก็จะไม่มีการเรียนการสอนแก่นักเรียนที่ฝ่าฝืนกฎของโรงเรียน
โรงเรียนบนที่ธรณีสงฆ์...
จากการตรวจสอบข้อมูลของ "ทีมข่าวอิศรา" พบว่าโรงเรียนอนุบาลปัตตานี ก่อสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2510 เปิดการเรียนการสอนในปี พ.ศ.2511 ตั้งอยู่ริมถนนมะกรูด ต.รูสะมิแล อ.เมือง จ.ปัตตานี อยู่ตรงข้ามวัดนพวงศาราม มีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า "โรงเรียนวัดนพวงศาราม" ที่ดินส่วนใหญ่เป็น "ที่ธรณีสงฆ์" หรือเรียกง่ายๆ ว่า "ที่ดินวัด"
จากการสอบถามทั้งศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน ทราบว่า ที่ผ่านมาไม่ได้มีกฎระเบียบชัดเจนเรื่องการห้ามสวมฮิญาบของนักเรียนหญิงมุสลิม หรือการสวมใส่กางเกงขายาวของนักเรียนชายมุสลิม แต่ทางโรงเรียนมี "ระเบียบการแต่งกาย" ที่ชัดเจนและบังคับใช้กับนักเรียนทุกคน ซึ่งกำหนดเครื่องแต่งกายและทรงผมเหมือนโรงเรียนรัฐบาลทั่วไป ตลอดมาจึงไม่มีนักเรียนมุสลิมสวมฮิญาบหรือใส่กางเกงขายาว แม้ปัจจุบันทางโรงเรียนจะเปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 6 และมีเด็กนักเรียนมุสลิมในสัดส่วนถึงร้อยละ 40 ก็ตาม แต่นักเรียนทุกคนต้องแต่งกายตามระเบียบของโรงเรียน
หัวอกผู้ปกครอง...
ผู้ปกครองของนักเรียนชั้น ป.5 และ ป.1 ที่ให้ลูกแต่งกายตามหลักศาสนา สวมฮิญาบไปโรงเรียน เล่าว่า แต่เดิมลูกเรียนอยู่ที่โรงเรียนจงรักสัตย์วิทยา เป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม แต่โรงเรียนอยู่ไกลบ้าน จึงมองหาโรงเรียนที่มีวินัย มีวิชาการดี ซึ่งก็คือโรงเรียนอนุบาลปัตตานี ลูกคนแรกอยู่ ป.5 คิดว่าหากใช้เวลา 2 ปีที่อนุบาลปัตตานี ก็จะมีอนาคตที่ดีกว่า เพราะรู้สึกมั่นใจในคุณภาพของโรงเรียน
"ตอนมาสอบก็คลุมฮิญาบมา ไม่ได้มีปัญหาอะไร วันมอบตัวลูกไม่ได้มา แต่ทราบว่าเจ้าหน้าที่ธุรการบอกผู้ปกครองอีกคนหนึ่งที่ลูกกำลังวิ่งเล่นว่า เมื่อเปิดเทอมมาเรียนต้องถอดฮิญาบออกด้วย พอรู้แบบนั้นเราก็ติดต่อขอพบ ผอ. แต่ไม่เคยได้เจอ มีเสียงหนาหูว่าไม่ให้คลุมฮิญาบ ก็เลยทำหนังสือไปถึงยุติธรรมจังหวัด ศึกษาธิการจังหวัดและคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี เรื่องเงียบไปนาน ต้องไปตามดู ติดต่อไปทางไวท์แชนแนล (มูลนิธิมุสลิมเพื่อสันติ หรือ มมส.) ให้มาช่วย ทาง มมส.ก็ทำหนังสือมายื่นถึง ผอ. ก็ไม่มีคำตอบ ทนายบอกว่าเรามีสิทธิ์ในการสวมฮิญาบ ทา งมมส.มาคุยเมื่อวันที่ 14 พ.ค. ทาง ผอ.โรงเรียนบอกว่าไม่มีปัญหาอะไร เราก็ถือว่าอนุญาตให้ใส่มาได้ พอวันที่ 16 พ.ค. เปิดเทอมวันแรก เราก็ให้ลูกแต่งเครื่องแบบที่ถูกต้องตามหลักอิสลาม คือเสื้อแขนยาวและคลุมฮิญาบ ลูกเข้าแถวและเข้าชั้นเรียน มั่นใจว่า ผอ.เป็นผู้บริหารสูงสุดที่สามารถตัดสินใจได้ ลูกเรียนเสร็จกลับมายิ้มแย้มแจ่มใส"
ผู้ปกครองรายนี้คิดว่าคงไม่มีปัญหาอะไรแล้ว แต่เรื่องมาเกิดในวันที่ 2 หลังเปิดเทอมใหม่
"วันเปิดเทอมวันแรกเห็นเจ้าอาวาส (น่าจะหมายถึงเจ้าอาวาสวัดนพวงศาราม : เป็นข้อสันนิษฐานของกองบรรณาธิการ) คิดว่าเป็นเรื่องปกติที่ท่านจะเดินเข้ามา เมื่อทราบว่าเป็นเจ้าอาวาส อยากเข้าไปขอบคุณ เพราะที่ ผอ.อนุญาต คงมาจากท่านเจ้าอาวาส แต่ท่านไม่อนุญาตให้คุย พอวันที่ 17 (วันที่ 2 หลังเปิดเทอม) มาส่งลูกตอนเช้า ไปส่งถึงห้อง ป.1/1 ไม่มีครู จนถึงเวลาเข้าแถว ครูยังไม่มา จึงบอกผู้ปกครองอีก 2-3 คนว่าไปเข้าแถวกัน และได้ยิน ผอ.บอกว่าครูบางคนลาป่วย ให้ครูที่เหลือช่วยดูแลเด็กด้วย"
ผู้ปกครองของเด็กหญิงมุสลิม 2 คน ยังคงระบายความรู้สึกต่อไป
"ลูกสาวอายุ 11 ปี ตามหลักศาสนาจะต้องปกปิดร่างกายเหลือแต่ใบหน้าและฝ่ามือ เป็นศาสนบัญญัติ ลูกสาวต้องการสวมเองด้วย เราไม่ได้บังคับ เมื่อพี่สวม น้องสาวก็จะสวมด้วย เมื่อทางคณะกรรมการสถานศึกษามีข้อตกลงแบบนี้ เรายังยืนยันที่จะให้ลูกคลุมฮิญาบมาเรียนในวันจันทร์ที่จะถึงนี้ รวมทั้งผู้ปกครองท่านอื่นก็ยืนยันด้วยเช่นกัน เพราะหากเราไม่เริ่ม เด็กรุ่นหลังก็จะไม่มีโอกาสแน่นอน ทางเรายืนยันว่าจะยืนหยัดสู้ต่อไปเพื่อลูกได้แต่งกายตามหลักศาสนา ซึ่งไม่ได้ขัดกับระเบียบกระทรวงศึกษาธิการและกฎหมาย หลังจากนี้อาจมีการแจ้งความเพื่อเรียกร้องต่อไป"
ขณะที่ผู้ปกครองอีกราย เปิดใจว่า "ไว้วางใจโรงเรียนนี้มาตลอด โดยเฉพาะด้านวิชาการ ทุกอย่างดีหมด ตั้งแต่ลูกคนแรกเมื่อปี 44 จนถึงวันนี้ลูกคนสุดท้องอยู่ ป.4 ขอและหวังมาตลอดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง จนถึงปีนี้มีผู้ปกครองมารวมตัวกัน จึงกล้าออกเสียง สิ่งที่เราขอคือให้ลูกสามารถแต่งกายด้วยเครื่องแบบนักเรียนตามระเบียบของกระทรวงศึกษาฯ"
ผู้ปกครองอีกคนที่ทางโรงเรียนเรียกไปแจ้งมติของคณะกรรมการสถานศึกษา บอกว่า หลังจากนี้ก็จะมีการจัดเสวนาเพื่อให้ทางโรงเรียนอธิบายเรื่องกฎระเบียบให้ชัดเจน ตลอดจนกฎหมาย และระเบียบของกระทรวงศึกษาฯ ยืนยันว่าผู้ปกครองของเด็กประมาณ 200 คนจะรวมกันไปตัดเครื่องแบบนักเรียนตามหลักการศาสนา และพร้อมใส่วันจันทร์ที่จะถึงนี้
บานปลาย...ครูหยุดสอน 20 คน!
สถานการณ์เริ่มบานปลาย เมื่อมีการยืนยันข้อมูลว่า มีครูของโรงเรียนหยุดสอนราว 20 คน อ้างว่าลาป่วย
ศิษย์เก่าของโรงเรียนอนุบาลปัตตานีคนหนึ่งซึ่งไปร่วมสังเกตการณ์การประชุมคณะกรรมการสถานศึกษา เป็นผู้ให้ข้อมูลทีน่ากังวลนี้
"มีความรู้สึกเป็นห่วง เพราะผู้ปกครองตั้งคำถามเรื่องครูหยุดสอนเมื่อวันที่ 17 พ.ค.ประมาณ 20 คน บางคนก็ลาป่วย บางคนก็ลากิจ แต่พอไม่สอนกันหลายๆ ห้อง ทำให้ผู้ปกครองที่เป็นไทยพุทธหลายคนพูดกันว่า ครูหยุดสอนเพราะผู้ปกครองเด็กมุสลิมให้เด็กใส่ฮิญาบมาโรงเรียนใช่ไหม ก็กลายเป็นอีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่ มันคนละเรื่องกันกับที่ครูหยุดสอน เขาไม่ได้มองที่ครูว่าที่ไม่มาสอนเพราะอะไร แต่เขามองว่าเพราะผู้ปกครองเด็กมุสลิมให้เด็กใส่ฮิญาบมาโรงเรียน กลายเป็นเรื่องบาดหมางกันในพื้นที่ ทั้งที่เป็นเรื่องเล็กๆ"
ศิษย์เก่ารายนี้บอกว่า ปัจจุบันการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมระหว่างคนต่างศาสนา พัฒนาไปมาก ร้านอาหารมุสลิมก็มีคนพุทธไปรับประทาน ส่วนร้านอาหารของคนพุทธ คนจีน ก็มีคนมุสลิมเป็นเด็กหน้าร้าน ฉะนั้นปัญหานี้จึงไม่ใช่เรื่องใหญ่ น่าจะพูดคุยกันให้เข้าใจได้ ไม่ควรให้เรื่องเด็ก 3-4 คนที่ต้องการแต่งกายตามหลักศาสนามาทำให้เกิดความบาดหมางกัน เพราะไม่ได้ไปละเมิดสิทธิ์ใคร ทั้งๆ ที่เราอยู่ในบริบทของสังคมพหุวัฒนธรรม บริบทของสังคมชายแดนใต้
กรรมการสิทธิฯรับเรื่องร้องเรียนเพียบ
ผู้ที่ไปสังเกตการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นในโรงเรียนอนุบาลปัตตานี ไม่ได้มีแต่ศิษย์เก่าที่ทราบข่าวทางสื่อมุสลิมที่นำเสนอเรื่องนี้เท่านั้น แต่ยังมี งามศุกร์ รัตนเสถียร นักวิชาการจากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และ เอกรินทร์ ต่วนศิริ อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ด้วย อย่างไรก็ดี ทางโรงเรียนไม่อนุญาตให้เข้าไปด้านใน
งามศุกร์ บอกว่า ทราบเรื่องนี้โดยบังเอิญ แต่เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีโรงเรียนรัฐบาลชื่อดังของ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งมีการแจ้งความดำเนินคดีกัน ที่ผ่านมาได้พูดคุยกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ทราบว่ามีเรื่องร้องเรียนลักษณะนี้เยอะมาก มีการร้องเรียนไปที่กระทรวงศึกษาธิการด้วย
"เรื่องแบบนี้ต้องดูบริบทของแต่ละพื้นที่ อย่างโรงเรียนที่หาดใหญ่ ทางโรงเรียนคุยกันแล้ว จากข้อมูลที่ได้รับ ทางโรงเรียนอนุญาตให้เด็กสวมฮิญาบได้ แต่มีครูที่สอนวิชาศาสนากับครูประจำชั้นที่ไม่ยอม ก็เลยทำให้เกิดปัญหา จนมีการแจ้งความกัน ส่วนที่โรงเรียนอนุบาลปัตตานี คิดว่าจะต้องมาคุยกัน หาทางออกร่วมกัน ต้องพิจารณาความหมายของที่ธรณีสงฆ์ว่าเป็นอย่างไร แล้วทำไมถึงเป็นข้อห่วงกังวลชองชาวพุทธ มันละเมิดสิทธิ์อย่างไร แล้วเราจะต้องอยู่ร่วมกันอย่างไร ทางออกคือจะต้องมาคุยกัน อะไรที่ยึดหยุ่นได้คิดว่าควรจะทำ ตอนนี้สถานการณ์ในพื้นที่ก็ละเอียดอ่อนพออยู่แล้ว คิดว่าไม่ควรให้ลุกลามมากกว่านี้ ทางออกสำหรับพวกเราคือการพูดคุย"
วิวาทะเปราะบาง
ด้านผู้ปกครองของนักเรียนที่นับถือศาสนาพุทธ บอกว่า "ถ้าเขาให้เด็กใส่ผ้าคลุมผมมาโรงเรียน เราก็จะให้ลูกไว้ผมยาวบ้าง และจะบอกคนอื่นด้วยให้ไว้ผมยาว"
ขณะที่ นายประจักษ์ ชูศรี ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลปัตตานี ไม่ยอมให้สัมภาษณ์ใดๆ โดยบอกว่ายังไม่พร้อม และติดภารกิจ
-------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 เด็กๆ ทั้งพุทธและมุสลิมนั่งเล่นด้วยกันที่หน้าโรงเรียนอนุบาลปัตตานี
2 นายแวดือราแม มะมิงจิ ภายหลังรวมประชุมคณะกรรมการสถานศึกษา