เปิดหลักเกณฑ์แก้ทุจริตเชิงนโยบาย โจทย์ใหญ่ทำยังไงให้คนรู้กลโกง-เบื้องหลัง?
“…เราจะทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าใจว่า เวลานักการเมืองเสนอนโยบายอะไรออกมา มันมีเบื้องหลังหรือไม่ ทำเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง หรือทำเพื่อตัวเองและพวกพ้อง…”
ท่ามกลางฝุ่นตลบเรื่องนักการเมืองลงพื้นที่พบปะประชาชน เตรียมเนื้อเตรียมตัวหากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริงภายในช่วงเดือน ก.พ. 2562
แน่นอนว่าสิ่งหนึ่งที่ต้องเป็นเรื่องพูดคุยกับประชาชนนั่นคือ การยืนยันถึงนโยบายต่าง ๆ ที่พรรคการเมืองเหล่านั้นจะทำ หากได้รับเลือกเป็นรัฐบาล
แต่ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า บางนโยบายที่เกิดขึ้นจากบรรดานักการเมืองต่าง ๆ อาจมีลักษณะ ‘สีเทา ๆ’ กล่าวคือ ถ้าดูผิวเผินเหมือนจะช่วยเหลือประชาชน แต่ถ้าแง้มไปดูฉากหลังอาจพบว่า เป็นการเอื้อผลประโยชน์ให้กับพวกพ้องหรือตนเองก็เป็นไปได้ ?
และที่ผ่านมาการทุจริตเชิงนโยบาย ถูกหน่วยงานรัฐ และองคพยพในสังคมผลักดันให้เกิดการ ‘ปฏิรูป’ และแก้ไขปัญหาเหล่านี้มาโดยตลอด แต่แทบไม่สามารถนำไปใช้ได้จริง หรือไม่มีผลเป็นรูปธรรมออกมาอย่างชัดเจน
คราวนี้อาจดูมีความหวังขึ้นมาบ้างแล้ว เมื่อหน่วยงานตรวจสอบสำคัญที่สุดในประเทศอย่าง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการวิจัย และเก็บข้อมูลเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจัง ใช้เวลานานหลายปี กระทั่งสำเร็จเป็นแบบร่าง ‘เกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย’
แม้ตอนนี้จะยังไม่สมบูรณ์ 100% แต่นับเป็นอีกหนึ่งผลงานที่น่าสนใจไม่น้อย
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงาน ป.ป.ช. จัดโครงการประชุมวิชาการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับชาติ เรื่อง ‘การสกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบาย : เกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย’ มีนายภักดี โพธิศิริ อดีตกรรมการ ป.ป.ช. ปัจจุบันเป็นประธานอนุกรรมการศึกษาการกำหนดเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงเพื่อสกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบายในโครงการของรัฐ สำนักงาน ป.ป.ช. นายปกป้อง ศรีสนิท รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และนางนันทนา ธรรมสโรช ที่ปรึกษาการพัฒนาระบบราชการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ เป็นวิทยากรอภิปราย
เบื้องต้นนายภักดี อธิบายคร่าว ๆ ถึงหลักเกณฑ์ดังกล่าว แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ เกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย ในขั้นตอนการพัฒนานโยบาย กำหนดเป็นเกณฑ์ชี้วัดสำหรับการประเมิน 5 เกณฑ์ ได้แก่ 1.การแสดงความเชื่อมโยงกับแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทตามยุทธศาสตร์ชาติ 2.การกำหนดวัตถุประสงค์ของนโยบาย 3.การประเมินความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย 4.มีกระบวนการวิเคราะห์ผลกระทบ ความคุ้มค่า ความเป็นไปได้ และความเสี่ยงของนโยบายด้วยการมีส่วนร่วมอย่างเป็นระบบ และ 5.การเสริมสร้างความโปร่งใสในการพัฒนานโยบายของพรรคการเมือง
และเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย ในขั้นตอนการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ กำหนดเป็นเกณฑ์ชี้วัดสำหรับการประเมินได้ 4 เกณฑ์ ได้แก่ 1.มีการเตรียมการประเมินความเสี่ยงต่อการทุจริตในขั้นก่อนการดำเนินการตามนโยบาย 2.มีการเตรียมการบริหารจัดการความเสี่ยงต่อการทุจริต และการติดตามการดำเนินการตามนโยบาย 3.มีการเตรียมการประเมินผลการบริหารจัดการความเสี่ยงต่อการทุจริต และ 4.มีการเตรียมการสร้างความโปร่งใสในขั้นการนำนโยบายสู่การปฏิบัติด้วยการสื่อสารการบริหารจัดการความเสี่ยงต่อการทุจริต และการสร้างการเฝ้าระวัง
สำหรับหลักใหญ่ใจความสำคัญ นายภักดี เล่าว่า นอกเหนือจากการศึกษาทบทวนวรรณกรรมทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้อง และดำเนินตามยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 แล้วก็ตาม แต่มันต้องมีอะไรที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วย โดยหยิบยกหลักการสำคัญบางส่วน เช่น ความผิดชอบของนักการเมืองที่จะหาเสียง ในแง่วิเคราะห์ความเป็นไปได้ ความคุ้มค่า เมื่อผ่านขั้นตอนหาเสียงไปแล้ว ฝ่ายนั้นเป็นรัฐบาล แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ต้องคำนึงถึงกรอบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐ แนวนโยบายของรัฐ และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
อีกอย่างที่สำคัญ และเกี่ยวข้องกับการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ นั่นคือวินัยทางการเงินการคลัง ที่รัฐธรรมนูญให้ความสำคัญมาก รวมถึงต้องดูกฎหมายระดับรอง เช่น พ.ร.บ.พรรคการเมือง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
ปัจจัยสำคัญคือจะนำร่างหลักเกณฑ์เหล่านี้ไปใช้จริงได้อย่างไร ?
นายภักดี อธิบายว่า ขั้นตอนที่ต้องจับตามากที่สุดคือขั้นตอนจากนโยบายไปสู่การปฏิบัติ เบื้องต้นตั้งแต่ปี 2553 ป.ป.ช. เคยเสนอให้มีการประเมินความเสี่ยงต่อการทุจริตของโครงการขนาดใหญ่ที่มีมูลค่า 500 ล้านบาทขึ้นไป แต่ขณะนั้นไม่มีใครสนใจ หรือนำไปปฏิบัติ แม้ว่าจะมีมติคณะรัฐมนตรีรับรอง แต่ก็เรียกว่าเป็นมติที่ฝ่อ แต่ตอนนี้ถึงเวลาแล้ว ถ้าต้องการสกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบาย โดยการประเมินความเสี่ยงต้องทำโดยหน่วยงานระดับกระทรวง และหน่วยงานรับผิดชอบที่เข้าไปตรวจสอบอาจเป็น ป.ป.ช. ร่วมกับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เป็นต้น
อดีตกรรมการ ป.ป.ช. ชี้ว่า ปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ คือ เครื่องมือหรือหลักเกณฑ์ตรงนี้เมื่อดำเนินการเสร็จสิ้น ต้องง่าย สะดวก มีความน่าเชื่อถือ และต้องได้รับความร่วมมือจากองค์กรต่าง ๆ ที่นำหลักเกณฑ์นี้ไปใช้ นอกจากนี้ยังรวมถึงให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเฝ้าระวัง มอนิเตอร์ความผิดปกติ โดยเฉพาะขั้นตอนการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ เรื่องเหล่านี้เป็นหัวใจในการเข้าไปแก้ไขปัญหาในอนาคต
ขั้นตอนการนำไปปฏิบัติจริงนั้น นายภักดี เสนอว่า เมื่อพรรคการเมืองคิดนโยบาย ให้นำหลักเกณฑ์นี้ไปเทียบ แล้วส่งให้กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อวินิจฉัยชี้ขาดว่า นโยบายดังกล่าว ขัดหลักเกณฑ์นี้หรือไม่ เป็นต้น
ขณะที่นายปกป้อง ตั้งคำถามน่าสนใจว่า เราจะทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าใจว่า เวลานักการเมืองเสนอนโยบายอะไรออกมา มันมีเบื้องหลังหรือไม่ ทำเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง หรือทำเพื่อตัวเองและพวกพ้อง
ทั้งนี้องค์ประกอบการทุจริตเชิงนโยบายที่ต้องสกัดกั้นคือ 1.การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐหรือนักการเมือง 2.มีนโยบายแอบแฝงให้เกิดความนิยมทางการเมือง 3.การดำเนินนโยบายนั้นอาจเกิดความเสียหายแก่งบประมาณเกินสมควร และขาดความคุ้มค่า ถ้าครบ 3 องค์ประกอบนี้ อาจจะสอดคล้องกับการทุจริตเชิงนโยบาย
รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ระบุว่า การป้องกันทุจริตเชิงนโยบายต้องผ่าน 2 หลักเกณฑ์สำคัญ คือ วัตถุประสงค์ต้องชอบ วิธีการต้องชอบ หากวัตถุประสงค์ชอบ แต่วิธีการไม่ชอบ หรือวัตถุประสงค์ไม่ชอบ แต่วิธีการชอบ ก็ถือเป็นการทุจริต สมมติมีนักการเมืองรายหนึ่งคิดนโยบายขึ้นมา ประชาชนชอบ แต่ถ้าปฏิบัติแล้วเกิดการทุจริต เช่น จัดประมูลแล้วบริษัทพวกพ้องของคนออกนโยบายได้ ผลประโยชน์ตกอยู่ที่กลุ่มนี้อย่างเดียว แม้วัตถุประสงค์ชอบ แต่วิธีการไม่ชอบ ถือเป็นการทุจริตเชิงนโยบาย
ส่วนนางนันทนา ยืนยันว่า หลักใหญ่ที่ควรมาบรรจุในหลักเกณฑ์ชี้วัดการทุจริตเชิงนโยบายคือ หลักธรรมาภิบาล ทั้งนี้กรอบไม่ใช่แค่คุณธรรมโปร่งใส แต่ธรรมาภิบาลที่ ก.พ.ร. เคยเสนอคณะรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 2555 มันมีเยอะมาก เช่น ประสิทธิผล ประสิทธิภาพ การตอบสนอง ภาระรับผิดชอบ เปิดเผย โปร่งใส หลักนิติธรรม ความเสมอภาคทางกฎหมาย การกระจายอำนาจ การมีส่วนร่วม การแสวงหาฉันทามติ คุณธรรม จริยธรรม เป็นต้น
“หากต้องการให้ตอบโจทย์ การบริหารต้องมีหลักธรรมาภิบาล เรื่องการบริหารนโยบายต้องนำแนวคิดนี้มาใช้” นางนันทนา ระบุ
นับเป็นอีกหนึ่งโจทย์ใหญ่ ที่รัฐบาล รวมถึงหน่วยงานรัฐทุกหน่วย และประชาชนทุกคน จะต้องจับตามอง รวมถึงตั้งคำถามว่า นโยบายที่นักการเมืองโยนออกมาสู่สาธารณะ ทำเพื่อประชาชนจริงหรือไม่ หรือแค่ทำเพื่อพวกพ้องของตนเอง ป้องกันไม่ให้เงินงบประมาณที่เป็นของพวกเราทุกคน ต้องถูกขโมยออกไปอยู่ในกระเป๋าใครบางคนอีก
ส่วนหลักเกณฑ์นี้จะนำไปปฏิบัติได้จริงหรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไปอย่างใกล้ชิด !