สังคมไทยเผชิญเสี่ยง! ภัยมืดสารพิษ ‘พาราควอต’ พบผ่านจากมารดาสู่ทารก
เปิดผลการศึกษาสารปราบศัตรูพืช สังคมไทยกำลังเผชิญกับความเสี่ยง หลังพบ ‘พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส-ไกลโฟเซต’ ผ่านจากมารดาสู่ตัวอ่อนในครรภ์ได้ เสนอเร่งปรับปรุงกลไกควบคุมใหม่ ขณะที่ คกก.วัตถุอันตราย ประชุมพิจารณายกเลิกเเละจำกัดการใช้ 23 พ.ค. 61
วันที่ 23 พ.ค. 2561 คณะกรรมการวัตถุอันตราย จะจัดประชุม โดยมีวาระการพิจารณาที่สำคัญ คือ การยกเลิกและจำกัดการใช้พาราควอต คลอร์ไพรีฟอส และไกลโฟเซต ทำให้ภาคประชาสังคม นำโดยศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) และศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) และภาคีอื่น ๆ จัดโครงการเวทีเสนอ ข้อเท็จจริงทางวิชาการในการควบคุมสารเคมีอันตรายทั้ง 3 ชนิด ขึ้น ณ ห้องประชุมจุมภฎ-พันธุ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก -รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หนึ่งในข้อเท็จจริงที่น่าสนใจ คือ การหยิบยกผลการศึกษาจาก Center for Work, Environment, Nutrition and Human Development (CWEND) ก่อตั้งจากความร่วมมือของ University of Massachusetts Lowell และคณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล เรื่อง ผลกระทบจากสารปราบศัตรูพืชต่อเกษตรกรและการตกค้างในหญิงตั้งครรภ์และทารก มานำเสนอ
“เชื่อหรือไม่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ผ่านจากมารดาไปสู่ตัวอ่อนในครรภ์ได้”
ศ.ดร.พรพิมล กองทิพย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล ซึ่งเป็นนักวิชาการที่ทำงานในด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย เปิดประเด็นคำถาม ก่อนจะให้ข้อมูลว่า จากผลการศึกษาที่เก็บรวบรวมกลุ่มตัวอย่างของมารดาตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 7 เดือน จนถึงคลอด โดยโรงพยาบาลจะเก็บเลือดของมารดา สายสะดือ และขี้เทาของทารก ใน 3 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ กาญจนบุรี และอำนาจเจริญ พบว่า
พาราควอต สามารถผ่านจากมารดาไปสู่ตัวอ่อนในครรภ์ได้ โดยพบการตกค้างของสารชนิดนี้ในเลือดของมารดา ร้อยละ 17 และสายสะดือ ร้อยละ 20
นอกจากนี้ หญิงตั้งครรภ์ที่มีประวัติการขุดดินในพื้นที่เกษตร จะมีความเสี่ยงที่จะตรวจเจอพาราควอตสูงกว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ได้ขุดดินในพื้นที่เกษตร สูงถึง 6 เท่า
ขณะที่หญิงตั้งครรภ์ที่ไปในพื้นที่เกษตรกรรมช่วงอายุครรภ์ 6-9 เดือน จะตรวจพบพาราควอตตกค้างมากกว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ได้ทำงานสูงถึง 5.4 เท่า
และตรวจพบการตกค้างของพาราควอตใน "ขี้เทา" ของทารกแรกเกิดสูงร้อยละ 54.7 จาก 53 ตัวอย่าง
“ข้อค้นพบดังกล่าวได้บ่งชี้ว่า หากมีญาติประกอบอาชีพเกษตรกรรมและอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน มีโอกาสเสี่ยงจะทำให้หญิงตั้งครรภ์ได้รับพาราควอตเข้าสู่ร่างกายสูงกว่าผู้ที่ไม่มีญาตประกอบอาชีพเกษตรกรรม
ทั้งนี้ เมื่อมีการสอบถามว่า ในแปลงที่บ้าน ญาติได้ใช้สารกำจัดศัตรูพืชหรือไม่ ปรากฎว่า มีการใช้พาราควอต
ศ.ดร.พรพิพล กล่าวถึงผลการศึกษาของ คลอร์ไพริฟอส ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า มีผลกระทบด้านพัฒนาการทางสมอง ซึ่งจากการเก็บข้อมูลของเกษตรกรทำนาในภาคใต้และอากาศ ปรากฎว่า เกษตรกรได้รับคลอร์ไพริฟอสจากการหายใจสูงกว่าค่าระดับที่ปลอดภัยได้ (Hazard Quotient>1)
ถัดมายังพบว่า มีคลอร์ไพริฟอสในขี้เทาทารกแรกเกิด ร้อยละ 32.4 จากมารดา 67 คน และจากการเก็บตัวอย่างน้ำนมจากมารดา 51 คน มีคลอร์ไพริฟอสในน้ำนมมารดา 21 คน หรือร้อยละ 41.2 และมีทารกแรกเกิดได้รับเกินค่า ADI (Acceptable Daily Intake) สูงถึงร้อยละ 4.8
(หมายเหตุ:ค่า ADI คือ ปริมาณวัตถุเจือปนอาหาร (food additive) วัตถุอันตรายทางการเกษตร (pesticides) ที่อยู่ในอาหาร กำหนดเป็นเปอร์เซ็นต์ต่อน้ำหนักตัวของผู้บริโภคต่อวัน)
ศ.ดร.พรพิมล ยังระบุอีกว่า สุดท้าย ไกลโฟเซต เป็นอีกหนึ่งสารปราบศัตรูพืชที่สามารถผ่านจากมารดาไปสู่ตัวอ่อนในครรภ์ได้ ซึ่งจากผลการวิเคราะห์พบการตกค้างในซีรั่มมารดา ร้อยละ 54 และซีรั่มทารกแรกเกิด ร้อยละ 49 และหญิงตั้งครรภ์ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรยังมีความเสี่ยงในการรับไกลโฟเซตสูงกว่าผู้ที่ไม่ได้ประกอบอาชีพนี้สูงถึง 11.9 เท่า อีกทั้งหากไปในพื้นที่เกษตรก็จะมีโอกาสที่จะตรวจพบไกลโฟเซตในซีรั่มมารดาได้
“สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นภัยมืดที่เรามองไม่เห็นว่า หากมีการสัมผัสสารพวกนี้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ การอยู่ในพื้นที่ หรือการรับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อน ย่อมส่งผลให้เป็นโรคเรื้อรัง เช่น มะเร็ง เบาหวาน โรคผิวหนัง เพราะฉะนั้น สังคมไทยจึงกำลังเผชิญกับความเสี่ยงด้านสารเคมีและมลพิษ ที่แม้แต่เด็กแรกเกิด ซึ่งเพิ่งลืมตาดูโลก จะต้องมารับความเสี่ยงที่ตนเองไม่ได้ก่อ ดังนั้น น่าจะต้องกลับมาทบทวน และปรับปรุงกลไกควบคุมสารเคมีกำจัดศัตรูพืช รวมถึงเปลี่ยนแปลงวิธีการผลิต การบริโภค เพื่อให้เกิดการปลอดภัยต่อไป” ศ.ดร.พรพิมล กล่าวทิ้งท้าย .
เรื่องที่เกี่ยวข้อง:นักวิชาการจุฬาฯ พบสัตว์ 4 ชนิด จ.น่าน ปนเปื้อน ‘พาราควอต’ เกินมาตรฐาน
ภาพประกอบ:https://waymagazine.org/chemical_cause_cancer/