'หมอวิชัย'ร้องป.ป.ช.ตรวจสอบก.ล.ต.
'หมอวิชัย'ร้องป.ป.ช.ตรวจสอบก.ล.ต.บี้เอาผิดผู้ถือหุ้นไซฟ่อนเงิน"ไอเฟค"
เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม นพ.วิชัย ถาวรวัฒนยงค์ ผู้ถือหุ้นใหญ่และอดีตประธานกรรมการบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ไอเฟค(IFEC)นำหลักฐานยื่นร้องเรียนต่อพล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เพื่อขอให้ตรวจสอบการทำงานของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
โดยประการแรก ก.ล.ต. ไม่แจ้งความคืบหน้าการดำเนินการต่อข้อร้องเรียนขอให้ตรวจสอบอดีตผู้บริหารIFECซึ่งบริษัทตรวจสอบพบการกระทำความผิดว่า “ไซ่ฟ่อนเงิน”จำนวนมากออกจากIFEC จนเป็นเหตุให้IFECขาดทุนและมีหนี้สินมากมาย โดยภายหลังIFECได้ยื่นฟ้องอดีตผู้บริหารคนดังกล่าวกับพวกในคดี“ครอบงำกิจการ” แบบผิดกฎหมาย ซึ่งศาลได้ประทับรับฟ้องไว้แล้ว รวมทั้งIFECยังยื่นฟ้องอดีตผู้บริหารคนเดียวกันกับพวกในคดีทุจริตการจัดซื้อที่ดินให้แก่IFECในอำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งศาลมีคำสั่งประทับรับฟ้องไว้แล้วเช่นกัน
“การที่ก.ล.ต.รับเรื่องร้องเรียนเรื่องการทุจริตทั้ง 2เรื่องไว้แล้วนานเกือบปี แต่ไม่มีความคืบหน้าการดำเนินการตรวจสอบและหรือแจ้งผลการดำเนินการ ตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ทำให้กระผม บริษัท ผู้ถือหุ้น ตลอดจนเศรษฐกิจของประเทศชาติได้รับความเสียหาย” นายวิชัยกล่าว
นพ.วิชัย กล่าวอีกว่า ประการที่สองที่ร้องต่อ ป.ป.ช. เนื่องจาก ก.ล.ต. มีหนังสือ และ คำสั่งต่างๆ มากมาย โดยใช้อำนาจ และ บังคับใช้กฎหมาย ต่อ บริษัท และ คณะกรรมการ อย่างมากมาย เกินจำเป็น และ หรือ เกินกว่าอำนาจหน้าที่ ส่วนประการที่สาม วินิจฉัยข้อกฎหมายและออกคำสั่งขัดต่อกฏหมายหรือคำวินิจฉัย กฤษฎีกา จนเป็นเหตุให้IFECไม่สามารถดำเนินกิจการได้ตามปกติ หลังกล่าวโทษนายวิชัยต่อตำรวจปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ(ปอศ.) เป็นเหตุให้ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่กรรมการ และพ้นจากตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท ตั้งแต่ 5 กันยายน 2560 โดย ก.ล.ต.ส่งหนังสือแจ้ง IFECว่า การเรียกประชุมโดยผู้เรียกไม่ใช่ประธานกรรมการขัดต่อกฎหมาย ( โดยมิได้นำเรื่องเสนอกฤษฎีกา ตีความ โดยเร็ว แต่ต่อมาเมื่อผ่านมา กว่า 8 เดือน ก.ล.ต. จึงเพิ่งจะเสนอ กฤษฎีกา วินิจฉัยกรณีดังกล่าว ที่ ก.ล.ต. ได้วินิจฉัยไว้ขัดกัน )โดยขณะนี้มีการเสนอข่าวว่าสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้วินิจฉัยข้อกฎหมายมาตรา 81และมาตรา 83 แห่งพ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด ตามคำร้องขอของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ไว้ว่า “ถึงแม้มาตรา 81 จะบัญญัติให้ประธานกรรมการเป็นผู้เรียกประชุมคณะกรรมการ แต่มิได้หมายความว่าในกรณีที่ไม่มีประธานกรรมการ หรือมีแต่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือประธานกรรมการไม่ปฏิบัติหน้าที่ กรรมการคนอื่นๆจะไม่สามารถเรียกประชุมคณะกรรมการได้ โดยเห็นว่าหากยังคงมีกรรมการเหลืออยู่ครบองค์ประชุม กรรมการที่เหลือสามารถจัดประชุมฯได้ เพื่อให้การบริหารการบริหารจัดการงานต่างๆของบริษัทสามารถดำเนินการต่อไปได้”
นพ.วิชัย กล่าวต่อว่า ดังนั้น หากคำวินิจฉัยของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นจริงดังที่ปรากฏเป็นข่าว คำวินิจฉัยนี้แสดงให้เห็นว่า ก.ล.ต. วินิจฉัยข้อกฎหมายและออกคำสั่งในเรื่องการประชุมคณะกรรมการIFEC ผิดพลาดคลาดเคลื่อนอย่างชัดเจน เป็นเหตุให้เกิดข้อขัดข้องในการบริหารงานของIFEC ทำให้บริษัท เจ้าหนี้ และผู้ถือหุ้นกว่า 30,000 ราย ได้รับความเสียหาย ขณะที่ประการที่สี่ ก.ล.ต.ยังได้มีหนังสือถึงคณะกรรมการบริษัททุกท่าน แจ้งให้ลาออกจากการตำแหน่ง โดยหากไม่ลาออก จะพิจารณากล่าวโทษ ตามความผิดอาญา มาตรา 89/7 เป็นผลให้กรรมการบริษัทจำเป็นต้องลาออกจากตำแหน่งถึง 3 คน
“ จากเหตุผลทั้ง 4 ข้อ ทำให้ผมได้รับความเสียหายจากการปฏิบัติหน้าที่ ของ ก.ล.ต. จึงยื่นเรื่องร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. เพื่อขอให้ตรวจสอบหาข้อเท็จจริง และขอให้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ” นพ.วิชัย กล่าวยืนยัน