"พรเพชร"สั่งรื้อไอทีสภาพร้อมถูกตรวจสอบ
"พรเพชร"สั่งรื้อบไอทีรัฐสภาใหม่บอกให้ขอตามความจำเป็นยันบทบาทมีแค่การกำกับด้านนโยบายไร้แทรกแซง-ก้าวกายปฏิเสธไม่รู้ข้อมูลวิธีจัดซื้อ พร้อมรับการตรวจสอบ
นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงชี้แจงต่อกระแสวิจารณ์การเสนอของบประมาณเพื่อใช้โครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่พร้อมอาคารประกอบ ย่านเกียกกาย ส่วนของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและส่วนที่เกี่ยวข้อง วงเงิน กว่า 8,000 ล้านบาท ที่ถูกคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตีกลับเพราะมองว่ามีราคาที่แพงเกินไป
ที่ผ่านมาตนพยายามกำกับทางด้านนโยบาย และสั่งการไปยังนายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ฐานะเจ้าของโครงการให้กำหนดงบประมาณภายใต้ความพอเพียง แต่ตนไม่ทราบว่าทำไมถึงไม่รับฟัง อย่างไรก็ตามในบทบาทของตนมีหน้าที่เพียงการกำกับงานให้โครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาเดินหน้า แต่ไม่มีอำนาจที่จะสั่งการ หรือแทรกแซงการดำเนินการใด ๆ ของส่วนราชการที่ปฏิบัติงานได้ แต่กรณีที่มีข้อท้วงติงเรื่องการจัดซื้อที่แพงเกินไป อาจต้องขอให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องพิจารณาลดงบลงมา ซึ่งอาจเกี่ยวกับการลดสเปคด้วย
นายพรเพชร ยังชี้แจงถึงการตั้งข้อสังเกตต่อกรณีการแบ่งการเสนอของบประมาณในโครงการก่อสร้างรัฐสภา ออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงก่อสร้างอาคาร ที่ได้รับอนุมัติวงเงิน 1.2 หมื่นล้านบาท และ ช่วงของระบบไอที ที่อยู่ระหว่างเสนอขออนุมัติ ว่า ตนคิดเอาเองว่าการเสนอของบประมาณช่วงปี 2556 ที่เสนอขอรวมทั้งการก่อสร้างและระบบไอที วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท นั้นมากเกินไป คณะรัฐมนตรี ( ครม.) ชุดที่พิจารณา จึงขอตัดส่วนระบบไอที วงเงิน 3,000 ล้านบาท ออกไปก่อนและอาจรอเวลา การพัฒนาระบบไอทีที่มีการปรับเปลี่ยน
"ตอนนั้น ปี 2556 ผมทราบว่างบไอซีที ตัดออกไป ประมาณ 3,000 ล้านบาท แต่มาถึงปัจจุบันมีการเสนองบเข้าไปใหม่ แต่มูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 8,000 กว่าล้านบาท เลขาธิการสภาฯ ได้ชี้แจงกับผมเบื้องต้นแล้ว ว่าระบบไอที ที่มีทั้งไมโครโฟน, การบันทึกคะแนน, ความปลอดภัย, การตรวจสอบองค์ประชุม และอีกสาระพัด ผมจึงบอกเขาไปว่า หากเสนอแบบนี้ต้องอธิบายให้ได้ โดยเฉพาะส่วนของงบประมาณที่เสนอขอเพิ่มขึ้นจากก้อนเดิม ทั้งนี้ผมเข้าใจนะว่าคนที่มีไอโฟน 7 แล้วอยากได้ ไอโฟน 10 แต่สิ่งที่ต้องตอบให้ได้ คือ จำเป็นหรือไม่" นายพรเพชร กล่าว
นายพรเพชร กล่าวปฏิเสธด้วยว่าตนไม่รับทราบข้อมูลที่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง และรายละเอียดที่เสนองบในงบประมาณด้านระบบไอทีของรัฐสภาใหม่ แม้นายวิลาศ จันทรพิทักษ์ อดีตประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎรจะระบุว่าการจัดซื้อเป็นแบบพิเศษที่ผ่านมาขออนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการรัฐสภา (ก.ร.) ที่มีตนเป็นประธาน พร้อมยืนยันการทำหน้าที่ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง เมื่อปี 2557 คือ กำกับ เร่งรัดให้โครงการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่แล้วเสร็จตามเป้าหมาย และแก้ปัญหาค้างเก่า
"ผมยอมรับว่าตอนนี้บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จํากัด (มหาชน) ฐานะบริษัทรับจ้าง ยังปิดงานก่อสร้างไม่ได้ เพราะติดปัญหาของการเข้าไปทำด้านระบบไอที เช่น เขาปิดฝ้าเพดานไม่ได้ เพราะต้องรอเดินสายคอมพิวเตอร์ เป็นต้น ดังนั้นการได้รับงบประมาณส่วนนี้ที่ล่าช้า เพราะปัญหาจุกจิก อาจทำให้การก่อสร้างล่าช้าด้วย แต่ผมพยายามประสานว่า แม้จะของบยังไม่ได้ ต้องทำให้งานเดินหน้าไปให้ได้" นายพรเพชร กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าการกำกับงานก่อสร้าง และท้วงติง แต่ไม่ได้ดูรายละเอียด เป็นประเด็นที่เปิดทางให้เกิดการทุจริต หรือฮั้วกันได้หรือไม่ นายพรเพชร กล่าวว่า ตนพร้อมรับการตรวจสอบ หากมีประเด็นร้องเรียนต่อการทุจริตตนพร้อมตั้งเรื่องสอบสวน แต่หากเรื่องยังไม่เกิดหรือไม่มีประเด็นตนไม่ทราบเข้าไปแทรกแซงการทำงานได้ อย่างไรก็ดีตนเชื่อโดยสำนึกสามัญชน ว่า หากใครทำทุจริตอะไร ต้องมีคนรู้ ส่วนกรณีที่คณะทำงานและคณะกำกับงานก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ มี สมาชิก สนช. เข้าไปกำกับด้วยนั้น ตนยืนยันว่าไม่เคยมีฝ่ายการเมืองเข้าไปแทรกแซง
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า วันที่ 18 พฤษภาคม นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาฯ ฐานะเจ้าของโครงการ เตรียมเรียกประชุมส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำงบประมาณ และการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่พร้อมอาคารประกอบ ในช่วงเวลา 09.30 น. ที่อาคารรัฐสภา ห้อง 3701 จากนั้นหลังประชุมจะแถลงรายละเอียดและชี้แจงข้อเท็จจริงทั้งหมด.