คิดผ่านเกษตรกรดีเด่นปี 55 ทางออกยากจนหาใช่นอนรอ “ประชานิยม”
เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติประจำปี 55 จาก 15 สาขา จะเข้ารับพระราชทานโล่รางวัลในงานพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ 9 พ.ค. 55 นี้ ไปดูชีวิตและงานของพวกเขา รวมถึงมุมมองต่อประชานิยม
…………………
เส้นทางทำนา-ทำไร่ ไม่โรยด้วยกลีบกุหลาบ วอนรัฐอย่าซ้ำเติมด้วยประชานิยม
ไพโรจน์ พ่วงทอง เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพทำนา จากจังหวัดเพชรบุรี เผยประสบการณ์ซึ่งเคยล้มเหลวล้มลุกคลุกคลานเพราะไม่ได้หาความรู้เหล่านี้ และยังใช้ปุ๋ยเคมีในปริมาณสูง แม้ว่าช่วงแรกจะทำให้ได้ผลผลิตดีมาก แต่ต่อมาแปลงนาที่เคยมีแร่ธาตุในดินก็กลับมีน้ำที่เต็มไปด้วยสารปนเปื้อน จนกลายเป็นดินตาย ปลูกพืชไม่ได้ การทำนาไปไม่รอด จนกระทั่งค้นพบแนวทางใหม่ที่ยึดคำว่า “พอ” และศึกษาจนรู้จักพืช ดิน น้ำ แร่ธาตุ ที่เป็นส่วนประกอบของการเพาะปลูก
“ต้องทำแต่พอประมาณ ไม่สุดโต่ง หากคิดว่าลงทุนมากแล้วจะได้กลับมามาก โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อดิน น้ำ ทุนที่ลงก็มีแต่จะจมเท่า ชาวนาต้องลดการใช้สารเคมี และหันมาพึ่งตนเองให้มาก เช่น หันมาเตรียมดิน เตรียมปุ๋ยด้วยตนเองและไม่จ้างแรงงาน”
ในปี 2539 เขาเข้าอบรมกับกรมส่งเสริมการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน เรื่องการเตรียมดิน เตรียมพันธุ์ข้าว กำจัดแมลง ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ จนถึงการเก็บเกี่ยวแปรรูปผลิตภัณฑ์ เขาต้องใช้เวลากว่า 15 ปี จึงจะฟื้นฟูดินที่เสียไปให้คืนสภาพ และนำเทคนิคการใช้ตารางจดบันทึกกิจกรรมประจำวันมาใช้ สามารถประเมินผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ได้ประมาณหนึ่งตันเศษ
เกษตรกรดีเด่นสาขาทำนา ยังฝากไปถึงภาครัฐว่าต้องเข้ามาช่วยเหลือเรื่องให้เกษตรกรมีที่ดินทำกิน ทุกวันนี้ชาวนาส่วนใหญ่รับจ้างทำนาบนที่ดินคนอื่น อีกทั้งยังเดือดร้อนด้านต้นทุนการผลิต ปุ๋ยเคมีราคาสูง ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าว และค่าจ้างแรงงานทำปุ๋ยคอก เก็บเกี่ยวพืช ซึ่งราคาค่าจ้างตอนนี้อยู่ที่ 280 บาท
ด้าน นายสมบัติ วิเชียรณรัตน์ เกษตรกรดีเด่นสาขาการใช้วิชาการเกษตรดีที่เหมาะสม จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่าในปี 2550 ได้เข้าร่วมโครงการเกษตรดีที่เหมาะสม ทำให้ได้รู้จักการวางแผนกระบวนการผลิต เพื่อให้ได้ผลิตผลที่ปลอดภัยมีคุณภาพ ปราศจากศัตรูพืช จุลินทรีย์ ใช้พื้นที่ปราศจากแหล่งโลหะหนัก สร้างสภาวะแวดล้อมและความปลอดภัยให้เป็นที่พึงพอใจของผู้บริโภค ด้วยการตรวจและประเมินผล รวมถึงรับรองระบบการจัดการ
หลังจากปรับกระบวนการผลิตพืช ทำให้ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านวิชาการและถ่ายทอดความรู้ด้านการปลูกองุ่นในโรงเรือนให้เกษตรกร นักเรียน นักศึกษา ตามหลักเกณฑ์ที่กรมวิชาการเกษตร ผลงานที่ผลิตได้ต้องถ่ายทอดสู่องค์กรอื่นๆ
“เกษตรกรต้องซื่อสัตย์ต่ออาชีพตัวเอง ไม่หลอกลวงผู้บริโภค จึงจะอยู่ในอาชีพได้ยั่งยืน โดยเราต้องผลิตสินค้าให้ได้คุณภาพ ปลอดภัย ผมเป็นเกษตรกรเต็มตัว คลุกคลีกับองุ่นมากว่า 30 ปี ไม่ได้หวังร่ำรวย แต่อยากจะถ่ายทอดความรู้ที่สั่งสมมาไปสู่ภาครัฐ และกลุ่มเกษตร ไร่องุ่นก็เหมือนกับครอบครัว จึงหวังว่าในอนาคตอยากเห็นพืชตัวนี้เจริญจนมีคุณภาพดีสามารถทดแทนการนำเข้าได้ เพราะจากข้อมูลที่ทำการสำรวจผู้บริโภค พบว่าองุ่นในไร่มีรสชาด และคุณภาพดีกว่า” นายสมบัติ กล่าว
เกษตรกรดีเด่นด้านวิชาการ ยังสะท้อนปัญหาของภาคเกษตรกรรมว่า ภาคเกษตรมักถูกมองว่าเป็นอาชีพด้อยพัฒนา ซึ่งคนไทยปัจจุบันมีการศึกษาสูงขึ้น จึงมองข้ามอาชีพเกษตรกร ยิ่งภาครัฐประกาศค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท คนยิ่งหลั่งไหลสู่โรงงาน และยังทำให้การจ้างแรงงานในภาคเกษตรต้องขยับต้นทุนค่าแรงสูงขึ้น ขณะที่ขายผลผลิตได้ในราคาต่ำ หากภาคเกษตรไม่มีแรงงานก็จะจัดการลำบากในเรื่องของการดูแลแปลงผลิต ถึงจะใช้เทคโนโลยี การลดต้นทุนต่าง ๆ เข้ามา แต่ยังไงก็ต้องอาศัยแรงงานเป็นหลักอยู่ดี
สหกรณ์ดีเด่นเมินเงินกองทุนกู้ยืมรัฐบาล ชูออมเงินคือหลักประกันชีวิตแท้จริง
นายสุนทร ภูศรีฐาน ประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน หนองห้าง จำกัด จังหวัดกาฬสินธุ์ เล่าถึงการรวมกลุ่มว่า ชาวบ้านร่วมกันก่อตั้งกลุ่มจากความสนใจ โดยมีเจ้าหน้าที่จากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทย เข้ามาอบรม แล้วจัดตั้งกลุ่มเรียกว่ากลุ่มสะสมให้เรียนรู้การบริหารจัดการเงิน จึงจะให้เข้าสมัครกลุ่มสมทบของชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทย (ช.ส.ค.) แล้วจึงเริ่มบริการชุมชนด้วยการร่วมเป็นสวัสดิการกองทุน เมื่อใช้ระยะเวลาเรียนรู้การบริหาร เริ่มมีความรู้ความเข้าใจในกฎเกณฑ์จึงทำเรื่องจดทะเบียนขอเป็นสหกรณ์ และเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย
เป้าหมายของสหกรณ์เพื่อจะเป็นสถาบันการเงิน และจัดสวัสดิการสู่ชุมชน ทั้งนี้การที่สหกรณ์ประสบความสำเร็จได้นั้น ต้องมีผู้นำที่ซื่อสัตย์ ชาวบ้านคำนึงถึงเรื่องผลประโยชน์ชุมชนด้วยการปฏิบัติตามระบบแม้จะเป็นการออมของกลุ่มเล็กๆ นอกจากนี้ระบบการเสียภาษีต้องตรวจสอบได้
“อยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับระบบสหกรณ์ ไม่สร้างกองทุนซ้ำซ้อน ไม่เอาเงินกองทุนมาให้กู้ยืม จะทำให้ชาวบ้านอ่อนแอและเสียวินัยทางการเงิน ถ้ารัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญแล้วรวมกองทุนทั้งหมดมาเป็นสหกรณ์ประเภทใดประเภทหนึ่งได้ เช่นเป็นเครดิตยูเนี่ยน สร้างเป็นศูนย์กลางตำบล รณรงค์ให้เห็นความสำคัญของการออม ชุมชนก็จะเข้มแข็งด้วยหลักประกันชีวิตของชาวบ้านเอง” ประธานสหกรณ์กล่าว
ประมงพื้นบ้าน หวั่นอาชีพชุมชนสูญ แนะรัฐคุมเข้มเขตอนุรักษ์ชายฝั่งทะเล
นายมนตรี ธรรมโชติ ประธานกลุ่มกองทุนประมงทะเลพื้นบ้าน บ้านแหลมเทียน จังหวัดตราด กล่าวว่ากองทุนเริ่มเมื่อปี 2535 สำรองกองทุนมากว่า 20 ปีจนมีผลกำไรจัดสรรเป็นส่วนต่างๆ ได้แก่ ส่วนเพื่อสาธารณประโยชน์ สวัสดิการ สำรองกองทุน และส่วนที่คืนสมาชิก การทำงานแม้มีอุปสรรคแต่ก็แก้ไขได้ด้วยหลักประชาธิปไตยชุมชน ผ่านการประชุมร่วมกันของชาวบ้าน เช่นกรณีกู้ยืมไปแล้วเพิกเฉยก็ต้องตามคืนและอธิบายว่าเราอยู่กันแบบชุมชน ต้องคิดถึงส่วนรวมก่อน
“ประมงของเราหากินตามชายฝั่ง หากรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้ได้มากเท่าไร เราก็จะมีงาน มีเงิน และรักบ้านเกิดมากเท่านั้น อยากให้รัฐบาลอบรมเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม และควบคุมผู้ที่ละเมิดกฎหมายเขตอนุรักษ์ชายฝั่งทะเล 3000 เมตร โดยเฉพาะเรือคาดหอย เรืออวนรุนและประมงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เข้ามาในเขตหวงห้ามและทำลายสัตว์น้ำ ” ประธานกลุ่มกองทุนกล่าว
ตัวแทนประมงพื้นบ้าน ยังกล่าวว่า ชุมชนอยากพึ่งตนเอง เช่นการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ กองทุนการเงินชุมชน ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง มากกว่านโยบายกองทุนกู้ยืมต่างๆ เพราะหากรัฐบาลส่งเสริมปล่อยกู้ด้วยกองทุนหมู่บ้าน การออมชาวบ้านก็จะลดลง แม้ว่าการช่วยเหลือตนเองบนพื้นฐานความพอเพียง จะทำให้มีเงินจำนวนมาก ไม่มีอาชีพใหญ่โตแต่ก็สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ยังดีกว่าการกู้ยืมแล้วเป็นหนี้ติดตัว
ปราชญ์เกษตรเตือนรัฐบาล “อย่าทำนาบนหลังคน” ด้วยบัตรเครดิตชาวนา
นายขวัญชัย รักษาพันธ์ ปราชญ์เกษตรกรแผ่นดินด้านเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดฉะเชิงเทรา เปิดเผยว่าเริ่มเป็นเกษตรกรตั้งแต่ปี 2518 และได้เผยแพร่ความรู้การทำนาตามแนวคิดของในหลวงมาตลอด ซึ่งสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ ทั้งนี้มองว่านโยบายของภาครัฐสวนทางกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยเฉพาะบัตรเครดิตชาวนาที่ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยเคมี
“รัฐบาลต้องลดการนำเข้าปุ๋ยเคมี แล้วเอาเงินมาส่งเสริมการทำปุ๋ยชีวภาพ เช่น แจกพันธุ์อ้อยเพื่อไปทำกากน้ำตาล เอาน้ำอ้อยไปทำปุ๋ย แทนปุ๋ยเคมีเต็มตัวที่รัฐบาลขายสูตร 16-20-0 ทั้งนี้ควรปรับให้เกษตรกรทำชีวภาพเองหรือส่งเสริมปุ๋ยอินทรีย์ และควรขายปุ๋ยโดยใช้สูตร 10-20-0 ให้สามารถใส่ชีวภาพได้ จะช่วยลดปัญหาดินตายได้อีกด้วย” ปราชญ์เกษตรกรกล่าว
ปราชญ์เกษตรดีเด่นแห่งชาติ ยังมีความหวังว่าสภาเกษตรกรแห่งชาติที่เพิ่งตั้งขึ้นมาใหม่ จะมีบทบาทเข้าไปเป็นตัวแทนแก้ปัญหาเกษตรกร โดยต้องศึกษาปัญหาเกษตรกรให้เข้าใจ และเสนอสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่เกษตรกรรายย่อย ไม่ใช่นายทุนเกษตร โดยเฉพาะการแก้ปัญหาน้ำ สภาพดิน หนี้สิน ที่ดินทำกิน และการแปรรูปเพิ่มมูลค่าข้าว
……………………………
นี่คือเสียงสะท้อนส่วนหนึ่งของบรรดาเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติปี 2555…
ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะต้องเดินหน้าช่วยเหลือเกษตรกรด้วยความจริงใจ แก้ปัญหาอย่างจริงจัง รวมถึงทบทวนบรรดาประชานิยมภาคเกษตรต่างๆ อย่ารอให้ถึงวันที่ผู้ที่ทำหน้าที่ผลิตอาหารหล่อเลี้ยงคนทั้งชาติ ต้องล้มหายตายจากไปเพราะดินแล้ง ไร้ที่ทำกิน หรือหนี้สินพอกพูน