ภาครัฐผลักดันขบวนประชาชนเคลื่อนปฏิรูป เลือกประเด็นเอง ทำระดับตำบล เชื่อมั่นจะเกิดรูปธรรมของการปฏิรูป บูรณาการ เป็นปฏิรูปที่กินได้
ขบวนการปฏิรูปภาคประชาชนคึกคัก เคลื่อนไหวต่อเนื่องหลังแผนการปฏิรูปทั้ง 11 ด้าน ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2561 เชื่อมั่น รูปธรรมความสำเร็จจากขบวนปฏิรูปในพื้นที่ขนาดตำบล จะสร้างการบูรณาการ ทุกฝ่ายเห็นประโยชน์ สร้างอำนาจให้ภาคประชาชน รักษาจิตวิญญาณของการปฏิรูปให้ต่อเนื่องคู่ขนานไปกับกลไกภาครัฐ พาประเทศไปสู่การปฏิรูปได้อย่างแท้จริง
วันที่ 16 พฤษภาคม 2561 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สถาบันพระปกเกล้า และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดการประชุมวิชาการ “ แนวทางการสร้างการรับรู้ และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ต่อการขับเคลื่อน ยุทธศาสตร์ชาติและปฏิรูปประเทศ ” ณ โรงแรมเซนทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ โดยมี คณะกรรมการปฏิรูปทั้ง 11 ด้าน คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ สมัชชาปฏิรูปจากภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ อีสาน เข้าร่วมกว่า 300 คน
ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการประทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าว ปาฐกถาพิเศษ“ การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ” ว่า กระแสของการปฏิรูป เป็นเรื่องธรรมดาที่มีขึ้นและลง แต่จิตวิญาณของการปฏิรูป (Reform Spirit) ยังคงอยู่คือ เรารู้ว่าเป็นการเดินทางไกลแล้วเรายังก้าวต่อไป ส่วนยุทธศาสตร์ชาติ และแผนปฏิรูปแม้ถูกมองว่าเขียนไว้อย่างกว้างแต่อยากย้ำว่า การขับเคลื่อนเปรียบเหมือนงูในอุโมงค์ ที่อุโมงค์จะต้องกว้างพอให้ได้ขยับขับเคลื่อน ไม่แคบจนเกินไป แผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปจึงไม่เพียงจะแก้ปัญหาที่สั่งสมมา หากคำนึงว่า หนึ่ง จะตอบโจทย์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร สอง ทำอย่างไรให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เป็นจ้าของ และสาม ปฏิรูปแล้วจะเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้ประเทศได้อย่างไร ซึ่งสิ่งสำคัญ ณ ขณะนี้จึงเป็นเรื่องเดินหน้าปฏิรูป
“ ผมเห็นว่าสิ่งสำคัญที่เราจะทำหลังจากนี้ คือ
1. เก็บรักษาจิตวิญญาณของการปฏิรูปเอาไว้
2. การออกแบบกลไกในพื้นที่ ซึ่งภาคประชาชนต้องกล้า คิด กล้าทดลอง เรียนรู้เร็ว
3. จัดทำตัวชี้วัดของการปฏิรูปเพื่อให้รู้ว่าในระยะใกล้และไกลจะประชาชนได้ประโยชน์อย่างไร แต่สิ่งสำคัญมากว่าประชาชนจะได้อะไร คือ ประชาชนจะเข้ามาทำอะไร ขณะนี้ภาครัฐได้วางโครงสร้างการปฏิรูป (Reform Foundation)ไว้ชัดเจน แต่การปฏิรูปจะยังเกิดขึ้นไม่ได้ เรารู้ตัวว่า เป็นทั้งกลไกและเป็นอุปสรรค เราจึงต้องสร้างอำนาจให้ประชน ให้เป็นกำลังสำคัญของการปฏิรูป และเป็นเจ้าของการปฏิรูปเองเพราะเมื่อจิตวิญญาณของการปฏิรูปเกิดขึ้นกับภาคประชาชน เมื่อนั้นความต่อเนื่องและยั่งยืนจะเกิดขึ้น
ด้าน นพ. พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การเคลื่อนกระบวนการปฏิรูปโดยให้ประชาชนเป็นผู้เลือกประเด็นเอง และทำในระดับตำบลจะทำให้เกิดรูปธรรมชัดเจนซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง
“ การปฏิรูปในโครงสร้างส่วนบน ข้อจำกัดคือ ประเด็นถูกแยกออก สิ่งแวดล้อม ก็ สิ่งแวดล้อม สาธารณะสุขก็กระทรวงสาธารณสุข แยกส่วน ต่อเมื่อลงมาสู่พื้นที่เล็กในกระบวนการทำงานของประชาชน การบูรณการจะเกิดขึ้น เช่น เราทำเรื่อง คู คลอง ก็จะเป็นทั้งเรื่อง สิ่งแวดล้อม สุขภาพ ตรงนี้เป็นจุดแข็งของภาคประชาชนที่จะสามารถทำให้เกิดต้นแบบ” พร้อมย้ำว่า สช. และองค์กรของรัฐรูปแบบพิเศษ มีบทบาทที่จะช่วยกันสนับสนุนการทำงานของภาคประชาชน เพื่อให้ขบวนการปฏิรูปจากส่วนบนและล่างขับเคลื่อนไปอย่างเติมเต็มกันและกัน
ศ. วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า ขณะนี้ที่ประเทศอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านของภาคการเมือง กระบวนขับเคลื่อนการปฏิรูปโดยภาคประชาชนยังจะเป็นการเสนออนาคตร่วมกันของสังคมเอง
“การปฏิรูปไม่ใช่เรื่องของรัฐบาลอย่างเดียว จุดเริ่มต้นของวันนี้ คือ เป็นการปฏิรูปที่กินได้ ประชาชนเห็นประโยชน์เพราะเริ่มจากจุดที่เขาสนใจ การปฏิรูปครั้งนี้จึงจะเกิดขึ้นได้จริงจากข้างล่าง เรื่องที่กระทบกับ กฎหมาย คณะกรรมการปฏิรูปก็มีบทบาทหน้าที่อยู่แล้ว แล้วจะทำให้การปฏิรูปเป็นอนาคตร่วมของคนในสังคม เริ่มจากจุดเล็กๆ แล้วประชาชนจะมั่นใจว่าเขาส่วนแก้ไขปัญหาของบ้านเมืองได้ การสานพลังระหว่างประชาชนและภาครัฐครั้งนี้จึงมีความสำคัญอย่างมาก หากปล่อยให้ภาครัฐทำเพียงอย่างเดียว ก็ไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายได้ ”
ประชุมวิชาการครั้งนี้ยังมีการ บรรยายแนวทางการจัดกระบวนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ โดยภาคประชาชนได้หารือ ซักถามในหลายประเด็น ซึ่งความเข้าใจ และกรอบแนวทางที่ได้จากงานวันนี้ภาคประชาชนจะได้นำลงขับเคลื่อนให้เกิดกระบวนการในพื้นที่ต่อไป