ยังไม่ฟันธง "โดรนสอดแนม" หรือ "ว่าวตัวใหญ่" แม่ทัพไฟเขียวยิงทำลาย!
แม่ทัพภาคที่ 4 สั่งทุกหน่วยยิงทำลาย "โดรนไม่ทราบฝ่าย" ได้ทันที หากบินเข้าเขตทหาร หลังมีข่าวผู้ก่อเหตุรุนแรงอาจใช้ "อากาศยานไร้คนขับ" บินสำรวจฐานปฏิบัติการชุดคุ้มครองตำบล หรือ ชคต.ใน อ.ยะหา จ.ยะลา ก่อนเปิดปฏิบัติการโจมตีด้วยเอ็ม 79 เมื่อเช้ามืดวันอังคารที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา จนมีกำลังพลได้รับบาดเจ็บ 2 นาย ขณะที่ฝ่ายความมั่นคงยังไม่ปักใจเชื่อว่ากลุ่มก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ มีพัฒนาการถึงขั้นใช้ "โดรน" บินสอดแนมเจ้าหน้าที่
พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 บอกกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า ได้สั่งการไปยังฝ่ายกองกำลังทุกหน่วยว่า หากมี "โดรนไม่ทราบฝ่าย" บินเข้ามาในเขตทหาร ให้สามารถยิงทำลายได้ทันที
ก่อนหน้านี้ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ได้สั่งการให้แม่ทัพภาคที่ 4 หาวิธีป้องกันไม่ให้ฝ่ายผู้ก่อเหตุรุนแรงใช้ "โดรน" ในการก่อเหตุ แต่ก็ยอมรับว่า เป็นเรื่องธรรมดาทางด้านยุทธวิธีที่แต่ละฝ่ายต้องพยายามปรับเปลี่ยนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับฝ่ายตนเอง ซึ่งที่ผ่านมากองทัพบกก็ใช้ "โดรน" หรือ "ยูเอวี" เช่นกัน แต่อีกด้านหนึ่งก็ต้องป้องกันไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้
ข่าวคนร้ายอาจใช้ "โดรน" บินสอดแนมฐานปฏิบัติการของฝ่ายความมั่นคง เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์คนร้ายใช้เครื่องยิงลูกระเบิดแบบเอ็ม 79 โจมตีฐานปฏิบัติการของชุดคุ้มครองตำบล (ชคต.) ใน อ.ยะหา จ.ยะลา เมื่อเช้ามืดวันอังคารที่ 15 พ.ค.61 โดยกำลังพลในฐานให้ข้อมูลว่า ก่อนเกิดเหตุเห็น "โดรนต้องสงสัยไม่ทราบฝ่าย" บินวนเวียนเหมือนต้องการสอดแนม จึงเชื่อว่าน่าจะเป็น "โดรน" ของคนร้ายที่ต้องการสำรวจพิกัดก่อนโจมตี ซึ่งหากข้อมูลนี้เป็นจริง ก็จะถือเป็นครั้งแรกในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่คนร้ายใช้โดรนในปฏิบัติการโจมตีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง
ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดังจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งศึกษาและเขียนหนังสือเรื่อง "อากาศยานไร้คนขับ" หรือ "โดรน" บอกกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า ถ้าข่าวที่ออกมาเป็นความจริง ก็ถือเป็นพัฒนาการของผู้ก่อเหตุรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่น่ากังวลอย่างมาก
อย่างไรก็ดี ล่าสุด "ทีมข่าวอิศรา" ได้ข้อมูลจากทีมงานของแม่ทัพภาคที่ 4 ว่า จากการสอบปากคำกำลังพลที่อ้างว่าเห็น "โดรน" บินสอดแนมก่อนเกิดเหตุยิงโจมตี ปรากฏว่ากำลังพลรายนี้ซึ่งเป็นอาสารักษาดินแดน (อส.) กลับไม่ยืนยันว่าวัตถุต้องสงสัยที่ตนเห็นเป็น "โดรน" จริงๆ ทำให้มีการวิเคราะห์กันว่า วัตถุดังกล่าวอาจเป็น "ว่าวขนาดใหญ่" ที่คนมุสลิมในพื้นที่ชอบเล่นกัน และมักนำโลหะขนาดเล็กคล้ายประแจมาผูกติดไว้ เพื่อให้มีเสียงเวลาว่าวเล่นลม
ถึงแม้จะยังไม่มีการยืนยันชัดเจนว่า วัตถุต้องสงสัยบนอากาศที่พบเป็น "โดรน" หรือไม่ แต่ พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ก็บอกว่า แม่ทัพภาคที่ 4 ได้สั่งการให้ฝ่ายกฎหมายเร่งออกกฎควบคุมการใช้ "อากาศยานไร้คนขับ" ในพื้นที่ชายแดนใต้ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคง โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ)
เมื่อพูดถึง "กติกาคุมการใช้โดรน" รศ.คณาธิป ทองรวีวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันกฎหมายดิจิทัล มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ซึ่งศึกษาเรื่องกฎหมายควบคุมการใช้อากาศยานไร้คนขับ บอกกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า หน่วยงานที่ดูแลกฎระเบียบการใช้โดรนในปัจจุบัน คือ กสทช. กับกรมการบินพาณิชย์ แต่การบังคับใช้กฎหมายยังไม่ครอบคลุมมากพอ โดยเฉพาะการใช้ "โดรน" ที่กระทบกับความมั่นคงและในทางการทหาร
"อย่างในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ควรมีการประกาศให้บางพื้นที่เป็นพื้นที่เปราะบาง หรือพื้นที่หวงห้าม หากผู้ใดจะบินโดรน ต้องขออนุญาตอย่างถูกต้องก่อนทุกครั้ง รวมถึงตรวจสอบอุปกรณ์ที่ติดตั้งกับโดรน เช่น กล้องถ่ายภาพ เครื่องสแกน หรือแม้แต่อุปกรณ์ที่สามารถใช้ในทางการทหารได้ เรื่องนี้ควรออกประกาศเพิ่มเติมให้ครอบคลุม เพราะกฎหมายที่มีอยู่จะเน้นไปที่ 'น้ำหนักของตัวโดรน' เท่านั้น แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีโดรนก้าวกระโดดไปไกลมากแล้ว" รศ.คณาธิป ระบุ
----------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพประกอบจากรายการล่าความจริง เนชั่นทีวี 22
อ่านประกอบ : โจมตีฐาน ชคต. - แฟลตตำรวจ 2 อำเภอยะลา