ตามดูหมู่บ้านเสื้อแดงชายแดนใต้...การเมืองแบ่งข้างในพื้นที่สีแดง?
ความเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกฝังกลบด้วยสถานการณ์ความไม่สงบมาตลอดร่วม 1 ทศวรรษ มีเพียงความรุนแรงที่เกิดจากความขัดแย้งของกลุ่มการเมืองท้องถิ่นเท่านั้นที่ปรากฏเป็นข่าวแทรกขึ้นมา แต่สำหรับการเมืองภาพใหญ่แล้ว ดูจะนิ่งๆ เงียบๆ มาโดยตลอด
ฉะนั้นกิจกรรมการเปิด "หมู่บ้านเสื้อแดง" ครั้งแรกที่ชายแดนใต้ จำนวนถึง 14 หมู่บ้านในพื้นที่ ต.บูกิต อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส จึงสร้างกระแสฮือฮาในพื้นที่ไม่น้อย ขณะที่นอกพื้นที่อาจทำให้หลายคนแปลกใจว่า "คนเสื้อแดง" มีสมาชิกกลุ่มใหญ่ถึงใน "พื้นที่สีแดง" ที่เต็มไปด้วยความรุนแรงแทบทุกอณูอย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยหรือ เพราะก่อนหน้านี้ก็มีข่าวเพียงการเปิดหมู่บ้านเสื้อแดงใน จ.สงขลา เท่านั้น
พิธีเปิดหมู่บ้านเสื้อแดง จัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 5 พ.ค. ที่ลานหน้าสถานีรถไฟบูกิต โดยมี ธิดา ถาวรเศรษฐ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ผู้เป็นสามี และมีบทบาทเป็นแกนนำเสื้อแดงตั้งแต่เมื่อครั้งชุมนุมใหญ่กลางกรุงเทพฯขับไล่รัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รวมทั้ง นางดารุณี กฤตบุญญาลัย เจ้าของฉายา "ไฮโซเสื้อแดง" ลงไปร่วมกิจกรรม
บรรยากาศของงานเป็นไปด้วยความคึกคัก มีประชาชนสวมเสื้อสีแดงและฮิญาบแดงมาร่วมแสดงพลังกว่า 1,000 คน จากจำนวนประชากรของ ต.บูกิต ราว 14,000 คน นอกจากนั้นยังมีกลุ่ม นปช.สงขลา มาร่วมกิจกรรมด้วยอีกจำนวนหนึ่ง
นางธิดา ได้มอบป้าย "หมู่บ้านเสื้อแดง" เป็นสัญลักษณ์ไปติดตามหมู่บ้านต่างๆ ทั้ง 14 หมู่บ้าน เพื่อแสดงว่าเป็นหมู่บ้านประชาธิปไตยที่รักสงบ แต่มีจุดยืนต่อต้านเผด็จการ พร้อมกล่าวปราศรัยถึงปัญหาในพื้นที่ที่หน่วยราชการไม่สามารถแก้ไขได้ โดยเฉพาะสิทธิในที่ดินบนเทือกเขาบูโด ท่ามกลางเสียงปรบมือชอบใจจากชาวบ้าน ขณะที่ผู้นำศาสนาในพื้นที่ได้ร่วมกันละหมาดฮายัตเพื่อขอพรจากพระเจ้าให้ทุกคนประสบแต่ความสุขด้วย
คำถามที่น่าสนใจและน่าจะตรงใจของใครหลายๆ คนก็คือ เหตุใด ต.บูกิต อ.เจาะไอร้อง จึงกลายเป็น "ฐานที่มั่น" อันแข็งแกร่งของ "คนเสื้่อแดง" ถึงขั้นปักธงเปิดหมู่บ้านได้ แล้วพื้นที่อื่นๆ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความเคลื่อนไหวในลักษณะนี้บ้างหรือไม่?
นายสะมะแอ สะตาปอ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บูกิต อ.เจาะไอรอง บอกว่า ต.บูกิต มีทั้งหมด 14 หมู่บ้าน และประชาชนส่วนใหญ่ของทุกหมู่บ้านก็ให้การสนับสนุน นายนิอาริส เจตาภิวัฒน์ อดีต ส.ส.นราธิวาส และผู้สมัคร ส.ส.นราธิวาส เขต 3 พรรคชาติไทยพัฒนาในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา แต่ทว่าสอบตก
"เราสนับสนุนนิอาริสมานานแล้ว เขาเป็นคนทำงานดี และสร้างความน่าเชื่อถือเชื่อใจให้กับชาวบ้านได้" สะมะแอ บอก
อย่างไรก็ดี นิอาริส เป็นหลานของ กูเซ็ง ยาวอหะซัน อดีต ส.ส.นราธิวาส และอดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนราธิวาสหลายสมัย ซึ่งชัดเจนว่าเขาและครอบครัวไม่ใช่หน่อเนื้อของพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็น "เนื้อเดียว" กับเสื้อแดง หากแต่เป็นพรรคชาติไทยพัฒนาที่เคยร่วมงานกับรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์มาก่อนด้วยซ้ำ
ประเด็นนี้ สะมะแอ อธิบายว่า ความเป็นเสื้อแดงในพื้นที่ชายแดนใต้ ส่วนใหญ่หมายถึงการไม่เอาพรรคประชาธิปัตย์ ฉะนั้นใครที่ไม่ชอบประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะลงคะแนนให้พรรคไหนก็มักจะเป็นเสื้อแดง และสาเหตุที่ ต.บูกิต สามารถเปิดหมู่บ้านเสื้อแดงได้ เนื่องจากเป็นฐานเสียงสำคัญของนายนิอาริส ทั้งยังมีหัวคะแนนของพรรคชาติไทยพัฒนาและพรรคเพื่อไทยอยู่เยอะ
แต่ สะมะแอ ก็ยอมรับว่า ไม่ใช่ทุกคนจากทั้ง 14 หมู่บ้าน ให้การสนับสนุนรัฐบาลพรรคเพื่อไทย และเป็นคนเสื้อแดง 100%
"ในหมู่บ้านก็มีคนเสื้อเหลืองหรือคนที่เชียร์พรรคประชาธิปัตย์ด้วย แต่น้อยมากเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่เอาประชาธิปัตย์ เหตุนี้เครือข่ายของเราจึงมีความเข้มแข็ง และเปิดหมู่บ้านเสื้อแดงได้ในที่สุด" นายก อบต.บูกิต กล่าว
กระนั้นก็ตาม เขายอมรับว่าการเปิดตัวเปิดหมู่บ้านเสื้อแดง ถือเป็นมิติใหม่ที่สวนวิถีวัฒนธรรมทางการเมืองของคนในพื้นที่อยู่เหมือนกัน
"ชาวบ้านที่นี่มักไม่ค่อยประกาศชัดเจนว่าสนับสนุนพรรคไหนหรือกลุ่มไหน แต่ก็จะรู้ๆ กัน พอมีเลือกตั้งก็ไปเลือก สำหรับพวกเราที่เป็นกลุ่มคนเสื้อแดงก็ได้รวมตัวกันเงียบๆ มาตลอด ช่วงที่มีการชุมนุมที่กรุงเทพฯ เราไม่เคยไป แต่ก็เชียร์อยู่หน้าจอทีวี เมื่อพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง และมีการติดต่อจากแกนนำเสื้่อแดงให้ประกาศเป็นหมู่บ้านคนเสื้อแดง ทุกคนจึงมาหารือกัน และพร้อมใจกันเปิดหมู่บ้าน เราดีใจที่สามารถรวมตัวกันได้" สะมะแอ บอก
จากการลงพื้นที่สำรวจทัศนคติทางการเมืองของผู้คนในอำเภอต่างๆ ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่ามีประชาชนที่สนับสนุนแนวทางของคนเสื้อแดงอยู่ไม่น้อย ที่ จ.ปัตตานี ก็มี จ.ยะลา ก็เยอะ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ไม่เอาพรรคประชาธิปัตย์ แต่ยังไม่มีความพร้อมที่จะรวมตัวกันเปิดหมู่บ้านเสื้อแดง
สภาพการณ์ดังกล่าว หากพิจารณาเปรียบเทียบกับคะแนนเสียงเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งที่ผ่านมา จะพบว่าพรรคประชาธิปัตย์แม้จะกวาดที่นั่ง ส.ส.ไปได้ถึง 9 จาก 11 ที่นั่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย 2 ที่นั่งที่เสียไปก็เสียให้กับพรรคภูมิใจไทยและพรรคมาตุภูมิ ไม่ใช่พรรคเพื่อไทยหรือพรรคชาติไทยพัฒนา ทว่าคะแนนในแต่ละเขต ทั้งพรรคเพื่อไทยและชาติไทยพัฒนาก็ไม่ได้พ่ายแพ้แบบหมดรูป โดยบางเขต เช่น ยะลา เขต 2 ซูการ์โน มะทา จากพรรคเพื่อไทย น้องชายของ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ก็พ่ายให้กับผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์แค่หลักร้อย
ขณะที่ นิอาริส ก็แพ้ รำรี มามะ จากประชาธิปัตย์ที่เขต 3 นราธิวาส ซึ่งมี ต.บูกิต รวมอยู่ด้วย ไปแค่ไม่ถึง 2 พันคะแนน
ยิ่งไปกว่านั้น พื้นที่ชายแดนใต้ก็ไม่ใช่ "พื้นที่ผูกขาด" ของประชาธิปัตย์เหมือนภาคใต้ตอนกลางและตอนบน ย้อนกลับไปในการเลือกตั้งเมื่อปี 2550 ประชาธิปัตย์ก็ได้ ส.ส.เพียง 5 ที่นั่งจาก 12 ที่นั่ง มีเพียงการเลือกตั้งเมื่อปี 2548 เท่านั้นที่พรรคประชาธิปัตย์กวาดไปถึง 10 ที่นั่งจาก 11 ที่นั่ง แต่นั่นก็เป็นเพราะกระแสจากเหตุการณ์สลายม็อบตากใบ ซึ่งเป็นความผิดพลาดอย่างร้ายแรงของรัฐบาลพรรคไทยรักไทยในยุคนั้น
หากจับจังหวะก้าวของการเปิดหมู่บ้านเสื้อแดง ผสานเข้ากับการเร่งสร้างความนิยมในหมู่ประชาชนจากการทำงานของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งรัฐบาลพรรคเพื่อไทยส่งมา และมีอดีตผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยเดินขนาบข้างอยู่เกือบจะตลอดเวลา ก็น่าจะอนุมานได้ว่า "เกมเจาะยาง" เพื่อทวงเก้าอี้ ส.ส.คืนจากพรรคประชาธิปัตย์ในพื้นที่สีแดงอย่างชายแดนใต้ได้เริ่มขึ้นอย่างชัดเจนแล้ว
อย่างไรก็ดี เป็นที่ทราบกันดีว่า สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่อ่อนไหวซึ่งมีความขัดแย้งและสถานการณ์รุนแรงเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว การเปิดหมู่บ้านสีแดง ซึ่งเป็นเสมือนหนึ่งสัญลักษณ์ของ "การเมืองแบ่งขั้ว" จึงทำให้ประชาชนในพื้นที่มีความคิดเห็นอย่างหลากหลาย...
นายสะมะแอ สะตาปอ นายก อบต.บูกิต บอกว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับปัญหาความไม่สงบ ถือเป็นคนละเรื่อง เพราะทุกคนมีสิทธิทำอะไรก็ได้ แต่อย่าสร้างเงื่อนไข เพราะหากมีเงื่อนไข ปัญหาจะตามมาทันที แต่ถ้าแค่ประกาศว่าพวกเราคือกลุ่มคนเสื้อแดง อยู่ที่ ต.บูกิต แล้วทุกคนก็ใช้ชีวิตตามปกติ ก็จะไม่เกิดปัญหาอะไร
ขณะที่ นายมาหามะยูฮารี ลาเต๊ะนือริง นายก อบต.จวบ อ.เจาะไอร้อง กล่าวว่า จากที่สอบถามความเห็นของชาวบ้าน หลายคนก็บอกว่ารู้สึกเฉยๆ และขอรอดูท่าทีไปก่อน เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ที่ทุกคนกำลังจับตา แต่ยอมรับว่าชาวบ้านยังงงๆ กับกิจกรรมที่จัดขึ้น
"มันไม่มีความชัดเจน ไม่มีกระแสมาก่อน จู่ๆ ก็มาเปิดตัวประกาศเป็นหมู่บ้านคนเสื้อแดง ชาวบ้านจึงรู้สึกงง เพราะแต่ไหนแต่ไรก็ไม่มีการพูดถึงเรื่องสีในพื้นที่" นายก อบต.จวบ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจาก ต.บูกิต กล่าว และว่า สิ่งที่เกิดขึ้นน่าจะกระทบกับสถานการณ์ในพื้นที่บ้าง แต่ก็ยังมองไม่ออกว่าจะมีปัญหาอะไร สิ่งที่บอกได้ชัดๆ ก็คือคนที่นี่ไม่ต้องการปัญหาอะไรอีกแล้ว ต้องการความสงบสุข เพราะทุกคนเหนื่อยมามากพอแล้ว
นางพาดียะห์ บีแตบูแล แกนนำกลุ่มสตรี อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี กล่าวว่า เธอไม่เห็นด้วยกับการประกาศเป็นหมู่บ้านเสื้อแดง เพราะทุกหมู่บ้านมีคนทุกสีอยู่ร่วมกัน ไม่ใช่เฉพาะสีแดงเท่านั้น
"ไปประกาศแบบนี้ก็เหมือนไปแยกกันอย่างชัดเจน น่าจะเกิดปัญหาระหว่างประชาชนด้วยกันตามมา ถ้าหากอยู่เงียบๆ รู้กันวงใน ความขัดแย้งก็จะไม่เกิด อย่าลืมว่าพื้นที่สามจังหวัดมีความขัดแย้งทางการเมืองค่อนข้างแรง และส่วนหนึ่งที่ทำให้มีปัญหาความไม่สงบอยู่ทุกวันนี้ก็มีสาเหตุมาจากเรื่องการเมืองด้วย"
ส่วน เจะแว ดอเลาะ ชาวบ้านจาก จ.ยะลา เห็นว่า การเปิดหมู่บ้านเสื้อแดงเป็นเรื่องดี เพราะจะทำให้ชาวบ้านมีความสามัคคีมากขึ้น เชื่อว่าต่อไปจะมีการเปิดหมู่บ้านเสื้อแดงเพิ่มอีก เพราะในพื้นที่มีคนเสื้อแดงเยอะ แต่ที่ผ่านมาไม่กล้าแสดงตัว
การเปิดหมู่บ้านเสื้อแดงที่ชายแดนใต้จึงนับเป็นพลวัตอันน่าจับตา ท่ามกลางสถานการณ์ไฟใต้และกระแสเรียกร้องให้ปรองดองเพื่อบ้านเมือง!
--------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : บรรยากาศในงานเปิดหมู่บ้านเสื้อแดงที่ ต.บูกิต อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 5 พ.ค.
ขอบคุณ : ภาพประกอบจากสำนักข่าวเอเอฟพี