ทำพิพิธภัณฑ์เด็กให้ดีก่อน!ฟังเสียงพ่อค้า-แม่ค้าปม‘หอศิลป’-ผู้ว่าฯ กทม.ยอมถอย?
“ยกตัวอย่าง พิพิธภัณฑ์เด็ก ไม่ใช่จะบอกว่าเขาบริหารไม่ดีนะ แต่ยังไม่ดีเท่าที่ควร ยังดูเงียบ ดูไม่มีอะไรอยู่เลย เชื่อว่า ทีมผู้บริหาร กทม. เขาเก่งอยู่แล้ว ทีมงานเขาเป็นคนมีความรู้ นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิเยอะแยะ แต่อยากเห็นผลงานการบริหารจัดการอะไรแบบนี้ก่อน ไม่ใช่มาถึงจะมาบริหารหอศิลปฯเลย”
ยุติกรณีดราม่า ‘หอศิลปฯ’ ไว้ชั่วคราว ?
ภายหลัง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หารือในที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร เมื่อช่วงเช้าวันที่ 15 พ.ค. 2561 ที่ผ่านมา ยอมยุติเรื่องการดึง ‘หอศิลปฯ กทม.’ หรือหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (ปทุมวัน) มาให้สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ของ กทม. บริหารจัดการแทนมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยจะรอให้ถึงกำหนด MOU ในปี 2564 แล้วจึงหารือประเด็นนี้อีกครั้ง
การแถลงข่าวช่วงหนึ่ง พล.ต.อ.อัศวิน ได้อ้างว่า ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โทรศัพท์มาขอให้ทำตามใจประชาชนด้วย (อ่านประกอบ : ยุติแล้ว! ดึง หอศิลป์ฯ มาบริหารเอง ‘พล.ต.อ.อัศวิน’ เผยนายกฯ โทรหา “ให้ตามใจ ปชช.”)
เรียกเสียงปรบมือเกรียวกราวจากบรรดาศิลปิน ที่ออกมาคัดค้านหัวชนฝา ลดดีกรีความร้อนแรงลงไปได้มากพอดู
อย่างไรก็ดีหลายคนอาจทราบความเห็น-สารพัดเหตุผลของทั้งฝ่ายผู้บริหาร กทม. ฝ่ายรัฐบาล รวมถึงฝ่ายศิลปินไปบ้างแล้ว
แต่เชื่อได้ว่า ยังมีอีกหลายคนอาจยังไม่ทราบความคิดเห็นของผู้ประกอบการร้านค้าต่าง ๆ ภายในหอศิลปฯว่าเขาคิดเป็นประเด็นนี้กันอย่างไรบ้าง และการบริหารจัดการของมูลนิธิหอศิลปฯดำเนินการอย่างไร ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ลงพื้นที่สำรวจ-สอบถามความเห็นจากบรรดาผู้ประกอบการร้านค้าต่าง ๆ ทั้งร้านขายหนังสือ ร้านขายของหัตถกรรม-งานฝีมือ สรุปได้ดังนี้
“ไม่คัดค้าน แต่อยากให้ผู้บริหาร กทม. สร้างผลงานที่เป็นรูปธรรม เป็นที่ประจักษ์ก่อน ถึงค่อยมาบริหารหอศิลปฯ” เป็นคำตอบจากแม่ค้าขายของหัตถกรรมรายหนึ่ง เกี่ยวกับกรณีดราม่านี้
เธอเล่าให้ฟังว่า ทราบมาบ้างจากข่าวว่า กทม. ต้องการจะเข้ามาบริหารจัดการพื้นที่ภายในหอศิลปฯ เบื้องต้นผู้ประกอบการร้านค้าต่าง ๆ ภายในหอศิลปฯได้หารือกันถึงเรื่องนี้บ้างแล้ว และมีบทสรุปร่วมกันว่า ไม่คัดค้านหาก กทม. จะเข้ามาบริหาร แต่อยากเห็นผลงานของ กทม. ที่สำเร็จเป็นรูปธรรม จับต้องได้ก่อน
“ยกตัวอย่าง พิพิธภัณฑ์เด็ก ไม่ใช่จะบอกว่าเขาบริหารไม่ดีนะ แต่มันยังไม่ดีเท่าที่ควร ยังดูเงียบ ดูไม่มีอะไรอยู่เลย เชื่อว่ ทีมผู้บริหาร กทม. เขาเก่งอยู่แล้ว ทีมงานเขาเป็นคนมีความรู้ นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิเยอะแยะ แต่อยากเห็นผลงานการบริหารจัดการอะไรแบบนี้ก่อน ไม่ใช่มาถึงจะมาบริหารหอศิลปฯเลย”
สอดคล้องกับความเห็นของพ่อค้าขายงานศิลปะทำมือ ระบุว่า เชื่อมั่นในทีมผู้บริหารของ กทม. เช่นกัน แต่ควรต้องค่อยเป็นค่อยไป ต้องหารือพูดคุยกันให้ชัดเจนกว่านี้ก่อน
ทั้งนี้ผู้ประกอบการหลายราย ตั้งข้อสังเกตเป็นเสียงเดียวกันว่า มีเบื้องลึกเบื้องหลังอะไรเกี่ยวกับกรณีนี้หรือไม่ ?
“ตอนนี้เสียงที่กำลังดังขึ้นมาจากผู้ประกอบการคือ เรื่องนี้มีเบื้องหลังอะไรหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาไม่เคยเห็น กทม. จะอยากเข้ามาบริหารจัดการ แต่วันดีคืนดีก็อยากเข้ามา ตอนนี้พ่อค้าแม่ค้าต่าง ๆ ต้องการคำตอบเรื่องนี้กันมากกว่า”
“ที่ผ่านมาฝ่ายมูลนิธิหอศิลปฯ ก็ดูแลบริหารจัดการได้ดีอยู่แล้ว พ่อค้าแม่ค้าขายของกันอย่างสงบสุข ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า ทำไม กทม. ถึงอยากเข้ามาบริหารจัดการ”
นอกเหนือจากความเห็นเหล่านี้แล้ว สิ่งที่หลายคนอาจสงสัยแต่ไม่เคยถามคือ ตกลงแล้วค่าเช่าพื้นที่ภายในหอศิลปฯ และระบบบริหารจัดการเกี่ยวกับการขายของในหอศิลปฯ เป็นอย่างไร ต้องเสียค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ ?
ผู้ประกอบการรายหนึ่ง อธิบายว่า ค่าเช่าพื้นที่ขายของแบ่งออกเป็น 2 แบบ แบบแรกคือเช่าพื้นที่ริมบันไดเลื่อน เสียค่าเช่าหลักพันบาท ส่วนที่เป็นห้องกระจกเสียหลักหมื่นบาท (ผู้ประกอบการรายนี้ ไม่ขอระบุตัวเลขรายละเอียด)
สำหรับหลักเกณฑ์การคัดเลือกของหอศิลปฯ ที่จะให้ร้านค้าเข้ามาเช่าพื้นที่นั้น ไม่มีหลักเกณฑ์ตายตัว แต่ทีมงานของหอศิลป์ฯ จะพิจารณาเป็นราย ๆ ไป แต่ส่วนมากจะเน้นสินค้าประเภททำมือ หรือรับมาจากชาวบ้านในต่างจังหวัด ไม่เน้นของที่เป็นแบรนด์เนม หรือว่าสินค้ากระแสหลักอื่น ๆ
และที่ผ่านมาไม่เคยมีใครถูกไล่ที่แม้แต่ครั้งเดียว ส่วนมากที่ออกไป เนื่องจากขายไม่ดี เพราะสินค้าไม่ถูกจริตคนกรุงเทพเสียมากกว่า
“จริง ๆ เป้าหมายของหอศิลปฯ ก็ไม่ได้อยากให้เป็นห้างสรรพสินค้า แต่เป็นพื้นที่ดูงานศิลปะมากกว่า ต้องยอมรับกันว่า คนไทยเสพงานศิลปะน้อย และนิสัยคนไทยชอบจุบจิบ ต้องมีนู่นมีนี่ตลอด เราก็เลยขายสินค้าได้บ้าง”
ส่วนการบริหารจัดการของมูลนิธิหอศิลปฯนั้น ผู้ประกอบการรายนี้ยืนยันว่า บริหารจัดการดี มีการดูแลพ่อค้าแม่ค้าอย่างทั่วถึง มีการแนะนำสินค้าว่า หากขายสินค้าแบบนี้ จะตรงใจกับผู้บริโภคมากกว่า อะไรทำนองนี้ และที่ผ่านมาไม่เคยทำให้ลำบากใจ
ท้ายสุดผู้ประกอบการหลายรายต่างยืนยันตรงกันว่า หาก กทม. ต้องการจะเข้ามาบริหารจัดการหอศิลปฯจริง จะต้องบริหารจัดการพื้นที่อื่นที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กทม. เช่น สวนสาธารณะ หรือพิพิธภัณฑ์เด็ก ให้ดูจริงจัง หรือมีอะไรมากกว่านี้เสียก่อน
นับเป็นอีกหนึ่งโจทย์ใหญ่ของทีมผู้บริหาร กทม. ว่าจะแก้ไขปัญหาข้อเปรียบเทียบเหล่านี้อย่างไร
เริ่มต้นนับหนึ่งแก้ไขปรับปรุงให้ดูดีขึ้นตั้งแต่วันนี้ ดีกว่ารอให้หมด MOU ในปี 2564 ที่อาจสายไปเสียแล้วก็เป็นได้ ?
อ่านประกอบ :
ก่อนดราม่า!ส่องงบ 2 ปีล่าสุด กทม. อุดหนุนหอศิลปฯ 85 ล.ใช้ทำอะไรบ้าง?
'พล.ต.อ.อัศวิน' เผย กทม.พร้อมถอย! ไม่ยุ่งเกี่ยวพัฒนาหอศิลป์ฯ หาก ปชช.ไม่เห็นด้วย
‘พล.ต.อ.อัศวิน’ ยอมรับกรุงเทพฯ เตรียมดึงหอศิลป์ไปดูแล -ขู่ไม่ให้ สภา กทม. อาจระงับงบฯ อุดหนุน
เครือข่ายศิลปินตั้งคำถาม ถึงผู้ว่าฯ กทม. จริงหรือไม่ ยึดหอศิลป์ฯ ไปบริหารเอง