การเขียนอย่างสร้างสรรค์เพื่อยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงในยุค 4.0
สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จัดอบรมการเขียนอย่างสร้างสรรค์กระตุ้นการรับรู้เรื่องความรุนแรงต่อผู้หญิง ครั้งที่ 3เพื่อสร้างความตระหนักให้เยาวชน โดยเฉพาะเด็กในมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่มีความสนใจเกี่ยวกับการเขียนอย่างสร้างสรรค์ผ่านสื่อต่างๆ ให้มีความเข้าใจทั้งในเรื่องความรุนแรงต่อผู้หญิง และวิธีการสื่อสารประเด็นยากๆ ให้กลายเป็นเรื่องง่าย
นายกิตติภูมิ เนียมหอม หัวหน้ากลุ่มโครงการส่งเสริมสิทธิผู้หญิงและเด็ก กล่าวว่า การอบรมในวันนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยกระตุ้นและสร้างความตระหนักรู้ให้กับเยาวชนในเรื่องความรุนแรงต่อผู้หญิง แต่ยังช่วยให้เขาเหล่านั้นรู้วิธีการใช้เครื่องมือในการสื่อสารช่องทางโซเชียลมีเดียที่พวกเขามีด้วยความเข้าใจมากขึ้น และการปลูกฝังเรื่องนี้ไม่สามารถทำได้แค่สถาบันใดสถาบันเดียว คือ ไม่เฉพาะการแก้กฎหมาย แต่ต้องเริ่มที่ความคิดและสำนึกในระดับเยาวชน
การอบรมในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ดร. ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ อุปนายกฝ่ายสื่อ สมาคมเพศวิถีศึกษา ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเพศในสื่อและสิทธิผู้หญิงแนวหน้าของประเทศไทย มาเปิดมุมมองใหม่เกี่ยวกับมิติต่างๆ ที่ทำให้ความรุนแรงต่อผู้หญิงยังคงอยู่ในสังคม
“ความรุนแรงมันอยู่ในเนื้อตัวเราตั้งแต่เกิดจนตาย และความรุนแรงคือรูปแบบหนึ่งของการใช้อำนาจเหนือ ทั้งในรูปแบบของคนหรือสถาบัน ซึ่งเป็นการใช้อำนาจเหนือที่ตัวเองมีอยู่ เช่น การใช้อำนาจผ่านร่างกาย สถานะหรือบทบาท เพศ ฐานะทางสังคม เชื้อชาติ ที่เหนือกว่าไปกระทำกับคนที่ด้อยกว่าและแน่นอนว่าการคุกคามทางเพศ การใช้กำลังบังคับข่มขืนก็เป็นความรุนแรงทางร่างกายที่ผู้หญิงมักเป็นผู้ถูกกระทำ”
ดร. ชเนตตี ได้ทำกิจกรรมหนึ่งใน Online Creative Content Workshop: Her Story Vol.3 ที่ชี้ชวนให้น้องๆ เยาวชน ได้ย้อนกลับมาคิดทบทวนว่า เมื่อประเด็นความรุนแรงต่อผู้หญิงเกิดขึ้นมา สังคมส่วนใหญ่มักตั้งคำถามและสื่อสารโดยเน้นไปที่ปัจเจกบุคคล เช่น ใครเป็นเหยื่อ ใครกระทำผิด เหตุใดจึงกระทำผิด ผู้กระทำผิดรู้สึกอย่างไรหลังกระทำความรุนแรงกับเหยื่อ แต่กลับไม่ตั้งคำถามที่ก้าวข้ามความเป็นปัจเจกฯ หรือคำถามที่รื้อถอนโครงสร้างบางอย่างที่ชักใยอยู่เบื้องหลัง เช่น คำถามที่เน้นการคุ้มครองผู้กระทำผิด คำถามในกรอบสิทธิมนุษยชน และกฎหมาย ฯลฯ
ในโลกยุค 4.0 ช่องทางที่มีพลัง คือ สื่อโซเชียลมีเดีย เยาวชนและคนเกือบทุกคนต่างมีพื้นที่เป็นของตนเอง เช่น เฟสบุ๊ค เพจส่วนตัว หรือแม้แต่ทวิตเตอร์ ข้อมูลข่าวสารต่างๆ สื่อสารผ่านช่องทางเหล่านี้มากมาย
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของตนเอง ผู้คน และสังคมโดยรวม ประเด็นสำคัญคือ เราจะใช้การเขียนเพื่อสื่อสารให้คนภายนอกเข้าใจเรื่องความรุนแรงทางเพศ และเรามีส่วนสร้างความเท่าเทียมทางเพศจากการเขียนได้อย่างไร
นางสาวกันต์กนิษฐ์ มิตรภักดี บรรณาธิการสารคดีนิตยสาร a day และเจ้าของคอลัมน์ผู้หญิงกล้าใครอย่าแตะใน a day online วิทยากรรับเชิญอีกท่านได้ถ่ายทอดประสบการณ์ว่า “เราเป็นนักเขียนชอบทั้งการอ่านและการเขียน คุณกันต์กนิษฐ์ มองว่าประเด็นเรื่องความรุนแรงต่อผู้หญิงมีมานานแล้ว เราไม่เข้าใจว่าทำไมเรามักจะถูกมองว่าเพราะเป็นผู้หญิงไม่ควรทำแบบนั้นแบบนี้ สิ่งเหล่านี้ทำให้เราลุกขึ้นมาทำอะไรเพื่อผู้หญิงและสังคม
ด้วยการเขียน ซึ่งเทคนิคของเรา คือ ต้องชนกับเรื่องยาก เพราะเราไม่สามารถเขียนทุกอย่างได้โดยไม่มีอะไรอยู่ในหัว เราต้องค้นคว้า ต้องอ่านงานวิจัย ทำความเข้าใจเรื่องที่เราสนใจให้สุดๆ ก่อน ตอนเขียนก็แค่ดึงประเด็นที่คิดว่าคนจะสนใจขึ้นมานำ เหมือนการเคลือบน้ำตาล มาดึงดูดให้คนอ่านสนใจ จากนั้นก็ค่อยเข้าเรื่องที่เราอยากให้เขารับรู้”
นางสาววรัญญา เชาว์สุโข อดีตนักศึกษาภาควิชาศิลปะอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า “หลังการอบรมครั้งนี้ทำให้ได้เข้าใจประเด็นเรื่องความรุนแรงทางเพศมากขึ้น นอกจากจะได้กลับมาทบทวนตัวเองว่าเคยกระทำความรุนแรงในเชิงอำนาจกับใคร ก็รู้แล้วว่าต่อจากนี้จะสื่อสารประเด็นนี้ผ่านช่องทางที่มีให้คนอื่นได้รับรู้อย่างไร”
เช่นเดียวกันกับที่นายจิระภัทร วิสิทธิ์วงษ์ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “สิ่งที่ได้จากอบรมในครั้งนี้ อย่างแรกคือผมจะไม่ไปละเมิดสิทธิใคร สองคือ ผมก็จะพยายามร่วมแคมเปญอื่น ๆ มากขึ้น และ สุดท้ายผมก็อาจจะแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้ออกมาให้มากขึ้น”
เสียงเล็กๆ ของเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เข้าใจและพร้อมที่จะลุกขึ้นมาพูด และ ทำเพื่อสังคม กล้าที่จะ SpeakUpSpeakOut เสียงที่แสดงพลังของพวกเขาออกมาเพื่อยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง แม้สิ่งที่ทำอาจจะไม่ได้ยิ่งใหญ่แต่การช่วยให้สังคมดีขึ้นก็ต้องเริ่มจากตัวเราก่อนมิใช่หรือ คนรุ่นใหม่พร้อมแล้ว...แล้วคุณล่ะพร้อมหรือยัง