ก่อนดราม่า!ส่องงบ 2 ปีล่าสุด กทม. อุดหนุนหอศิลปฯ 85 ล.ใช้ทำอะไรบ้าง?
เปิดงบประมาณ 2 ปีล่าสุด กทม. อุดหนุน ‘หอศิลปฯ’ 85 ล้าน ปี’60 45 ล้าน ปี’61 40 ล้าน จัดนิทรรศการศิลปะเพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น ก่อนกรณีดราม่า ‘ผู้ว่าฯอัศวิน-ศิลปิน’ งัดข้อกันแย่งกันดูแล
กลายเป็นประเด็นดราม่าเรียบร้อยแล้ว!
กรณีหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (ปทุมวัน) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ‘หอศิลปฯ กทม.’ ที่ปัจจุบัน กทม. ต้องการ ‘ขอคืนพื้นที่’ เอาไปบริหารจัดการเอง ท่ามกลางกระแสคัดค้านจากบรรดาศิลปินเล็ก-ใหญ่ รวมถึงประชาชนบางส่วน โดยมีเสียงลือกันว่า สาเหตุที่ กทม. เรียกคืนพื้นที่นั้นเพื่อต้องการเอาไปสร้างห้างสรรพสินค้า ?
อย่างไรก็ดีล่าสุด พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุชัดเจนแล้วว่า การขอคืนหอศิลปฯให้กลับมาอยู่ในการดูแลของสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวของ กทม. นั้น ขึ้นอยู่กับความต้องการของประชาชน หากประชาชนไม่เห็นด้วยก็จะไม่ยุ่ง (อ่านประกอบ : 'พล.ต.อ.อัศวิน' เผย กทม.พร้อมถอย! ไม่ยุ่งเกี่ยวพัฒนาหอศิลป์ฯ หาก ปชช.ไม่เห็นด้วย)
ไม่ว่าเบื้องลึกเบื้องหลังของการขอคืนหอศิลปฯดังกล่าว จะเป็นเช่นไร ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า ในช่วง 2 ปีหลังสุด คือปี 2560-2561 สำนักวัฒนธรรมฯ กทม.อุดหนุนงบประมาณเพื่อพัฒนาหอศิลปฯ เป็นเม็ดเงินจำนวนกว่า 85 ล้านบาท ได้แก่ ปี 2560 จำนวน 45 ล้านบาท และปี 2561 จำนวน 40 ล้านบาท
เบื้องต้น การจัดสรรงบประมาณอุดหนุนของหอศิลปฯ (ไม่นับรวมค่าเช่าพื้นที่) รับผิดชอบโดยสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว แบ่งหน่วยงานย่อยลงมาคือ กองวัฒนธรรม มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการอนุรักษ์ ฟื้นฟู บำรุงรักษาศิลปวัฒนธรรมไทย จัดให้มีแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมอื่น ๆ เช่น พิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ รวมถึงหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครด้วย โดยระหว่างปี 2556-2561 (เท่าที่สืบค้นข้อมูลได้) มีการสำรวจความพึงพอใจ และข้อมูลการจัดแสดงนิทรรศการต่าง ๆ ภายในหอศิลปฯด้วย
อย่างไรก็ดีข้อมูลเรื่องงบประมาณบริหารจัดการหอศิลปฯเท่าที่สืบค้นย้อนหลังผ่านสำนักวัฒนธรรมฯ กทม. ได้มีเพียง 2 ปีหลังสุดเท่านั้นคือ ปี 2560-2561 โดยสำนักวัฒนธรรมฯ กทม. ขณะนั้น จัดสรรงบประมาณเพื่อวัตถุประสงค์ในการเปิดพื้นที่สาธารณะนำเสนอกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย และการบริหารจัดการต่าง ๆ
แบ่งเป็น ปี 2560 อุดหนุนงบประมาณ 45 ล้านบาท โดยในปีดังกล่าวหอศิลปฯต้องดำเนินการจัดกิจกรรมส่งเสริมศาสนาและขนบธรรมเนียมประเพณี โดยใช้จำนวนพื้นที่เพื่อการแสดงตัวของกลุ่มคนด้านศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นตัวชี้วัดกิจกรรมดังกล่าว (ดูเอกสารประกอบ)
ปี 2561 รายงานของสำนักวัฒนธรรมฯ กทม. ระบุว่า จัดสรรงบประมาณจำนวน 40 ล้านบาท เพื่อจัดแสดงนิทรรศการศิลปะต่าง ๆ (ดูเอกสารประกอบ)
อย่างไรก็ดี งบประมาณของหอศิลปฯทั้งหมดไม่ได้มาจากงบอุดหนุนของ กทม. ในรายงานประจำปีหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2559 (เผยแพร่ล่าสุด) ระบุว่า ภายในปี 2559 หอศิลปฯ ได้รับงบสนับสนุนทุนจาก กทม. ในการดูแลและการจัดกิจกรรมต่าง ๆ คิดเป็นสัดส่วน 55.9% ส่วนที่เหลือทางมูลนิธิหอศิลปฯ เป็นผู้จัดหา จากการบริหารพื้นที่จัดงาน ตั้งแต่ชั้น L จนถึงชั้น 5 มีทั้งการให้เช่าพื้นที่ร้านค้า artHUB ค่าบริการจอดรถ การจำหน่ายสินค้าที่ระลึก การบริจาคสมทบเพื่อการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่ดำเนินการโดยแต่ละฝ่ายของหอศิลปฯ และการระดมทุนจากผู้สนับสนุนทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ฯ, สำนักงานส่งเสริมการจัดนิทรรศการและการประชุมนานาชาติ, การท่องเที่ยแห่งประเทศไทย, มูลนิธิบัวหลวง, บริษัท ซีเอ็มโอ จำกัด (มหาชน) เป็นต้น
โดยกลุ่มผู้สนับสนุนต่อเนื่องคือ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และผู้สนับสนุนโครงการคือ ธนาคารไทยพาณิชย์ และคุณเพชร โอสถานุเคราะห์ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังระบุถึงงบประมาณ และการจัดหารายได้ว่า ได้รับงบประมาณอุดหนุนจาก กทม. ซึ่งพิจารณาโดยสภากรุงเทพมหานคร เพื่อใช้จัดนิทรรศการต่าง ๆ และกิจกรรม การหารายได้จากอสังหาริมทรัพย์ของหอศิลปฯ ในพื้นที่ส่วนโครงการร้านค้า artHUB การหารายได้จากการให้บริการพื้นที่อื่น ๆ การหารายได้จากการจำหน่ายสินค้าที่ระลึก การหารายได้จากการขอสนับสนุนจากหน่วยงานเอกชน ด้วย
(อ่านประกอบ : รายงานประจำปีหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ปี 2559)
แต่มูลนิธิหอศิลปฯจะบริหารจัดการได้คุ้มค่างบอุดหนุนดังกล่าวหรือไม่ ประชาชนคงเห็นกันไปแล้ว ?
อย่างไรก็ดีขณะนี้มีเสียงลือที่ดังกระฉ่อนมาว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ กทม. ต้องออกแอคชั่นดังกล่าว นอกจากเรื่องเก้าอี้ไม่เพียงพอต่อเด็กที่มานั่งอ่านหนังสือแล้ว ยังมีเรื่องการบริหารจัดการที่ ‘ขาดทุน’ กว่า 80 ล้านบาทด้วย ?
ข้อเท็จจริงจะเป็นเช่นไร หอศิลปฯจะขาดทุนจริงหรือไม่ และ กทม. จะเลิกอุดหนุนงบประมาณหรือเปล่า
ต้องติดตามการประชุมสภากรุงเทพมหานครในวันที่ 15 พ.ค. 2561 เพื่อดูบทสรุปเรื่องนี้กันอีกครั้ง !
อ่านประกอบ :
‘พล.ต.อ.อัศวิน’ ยอมรับกรุงเทพฯ เตรียมดึงหอศิลป์ไปดูแล -ขู่ไม่ให้ สภา กทม. อาจระงับงบฯ อุดหนุน
เครือข่ายศิลปินตั้งคำถาม ถึงผู้ว่าฯ กทม. จริงหรือไม่ ยึดหอศิลป์ฯ ไปบริหารเอง