ราชกิจจาประกาศใช้ พ.ร.บ. กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
คณะกก.บริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ประชุมครั้งแรก 19 มิ.ย.2561 ณ ทำเนียบรัฐบาล คาดจะสามารถเริ่มดำเนินงานได้ภายในปีงบประมาณ 2562
นายแพทย์สุภกร บัวสาย ผู้จัดการสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2561 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ์ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 ณ วันที่ 10 พฤษภาคม 2561 โดยมีเนื้อหารายละเอียดทั้งหมด 18 หน้า 55 มาตรา โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้รับสนองพระราชโองการ
นายแพทย์สุภกร กล่าวว่า ตามความในมาตรา 51 ของพระราชบัญญัติฉบับนี้ ในวาระเริ่มแรกคณะกรรมการส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน พ.ศ. 2553 จะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และผู้จัดการสสค.จะเป็นผู้จัดการกองทุนตามพระราชบัญญัตินี้ไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีจะดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ โดยรับฟังข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา
ทั้งนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาครั้งแรก ในวันอังคารที่ 19 มิถุนายน 2561 ณ ทำเนียบรัฐบาล โดยคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาจะต้องจัดทำแผนการใช้เงินเพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบเป็นรายปี โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินงานได้ภายในปีงบประมาณ 2562
"ในระยะแรกคณะกรรมการ สสค.จะทำหน้าที่เตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ให้แก่กองทุน เช่น การจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์ของกองทุน การจัดทำคำขอทุนประเดิม การจัดเตรียมความพร้อมขององค์กรเพื่อให้กองทุนสามารถเริ่มดำเนินงานได้ตามกรอบระยะเวลา"
สำหรับพ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาจัดตั้งขึ้นตามมาตรา 54 วรรค 6 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่บัญญัติให้จัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา และเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู โดยให้รัฐจัดสรรงบประมาณให้แก่กองทุนหรือใช้มาตรการหรือกลไกทางภาษี รวมทั้งการให้ผู้บริจาคทรัพย์สินเข้ากองทุนได้ประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีโดยให้กองทุนมีการบริหารจัดการที่เป็นอิสระ