เปิดรับสมัคร :: โรงเรียนอนาคต (School of Tomorrow) :: “ความท้าทายของสังคมไทยในโลกที่เปลี่ยนแปลง”
โรงเรียนอนาคต (School of Tomorrow) ประสบการณ์เรียนรู้แนวใหม่ เพื่อร่วมปลูกอนาคตสังคมไทย ขอเชิญชวนนักเรียน-นักศึกษา ทุกโรงเรียน ทุกคณะ ทุกมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ถึงระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 4 (อายุ 17-23 ปี) สมัครเข้าร่วม “โรงเรียนอนาคต” รุ่นแรก ภายใต้หัวข้อ “ความท้าทายของสังคมไทยในโลกที่เปลี่ยนแปลง” ระหว่างวันที่ 8-22 กรกฎาคม 2561 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
เรียนฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย
1. “โรงเรียนอนาคต” คืออะไร
“โรงเรียนอนาคต” มีเป้าหมายเพื่อเปิดพื้นที่การเรียนรู้ใหม่ สำหรับพัฒนาศักยภาพของผู้นำการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ ผ่านกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะ ที่จำเป็นสำหรับการรู้เท่าทันและรับมือกับความท้าทายในโลกยุคใหม่
“โรงเรียนอนาคต” จะผสมผสานนักเรียนและนักศึกษาที่มีความคิดและผลงานที่โดดเด่นในวงการต่างๆ เข้าด้วยกันอย่างหลากหลาย ทั้งด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ แพทยศาสตร์ ธุรกิจ การออกแบบสร้างสรรค์ สื่อสารมวลชน ศิลปะการแสดงและวัฒนธรรม คอมพิวเตอร์ ดนตรี ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการเคลื่อนไหวทางสังคม เป็นต้น โดยสร้างบรรยากาศแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้ผู้เข้าร่วมสามารถเรียนรู้ระหว่างกันและส่งพลังเติมเต็มศักยภาพซึ่งกันและกันได้เต็มที่
2. การเรียนรู้ใน “โรงเรียนอนาคต”
ธีมหลักของการเรียนรู้ใน “โรงเรียนอนาคต” ปีแรก คือ ความท้าทายของสังคมไทยในโลกที่เปลี่ยนแปลง (Thai Challenges in the Changing World) โดยมุ่งสำรวจสถานะและทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลกในมิติด้านเศรษฐกิจ การเมืองวัฒนธรรม อุดมการณ์ และเทคโนโลยี ผ่านปรากฏการณ์สำคัญของยุคสมัย และเชื่อมโยงให้เห็นถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสำคัญในโลกต่อสังคมไทย
รูปแบบการเรียนรู้ ประกอบด้วย
(1) วงแลกเปลี่ยนถกเถียง (Discussion)
เป็นการเรียนรู้องค์ความรู้ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของโลกในมิติต่างๆ ผ่านการแลกเปลี่ยนถกเถียงกับวิทยากรที่ทำงานความรู้ในเรื่องนั้นๆ อย่างต่อเนื่อง
ตัวอย่างหัวข้อ เช่น
• ระเบียบโลกใหม่ (ในโลกไร้ระเบียบ?) (New World (dis)Order)
• ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแนวใหม่ (New Social Movement)
• ความท้าทายใหม่ในโลกทุนนิยม (New Challenges to Capitalism)
• Cosmopolitanism
• ความยั่งยืนและระบบนิเวศ (Sustainability and Ecosystem)
• ความยุติธรรม (Justice)
• การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Transformation)
• เพศสภาพ (Gender)
(2) วงปฏิบัติการ (Workshop)
เป็นการเรียนรู้ทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 ผ่านการลงมือปฏิบัติจริงภายใต้การดูแลจากมืออาชีพผู้มีประสบการณ์ตรงอย่างโชกโชน
ตัวอย่างหัวข้อ เช่น
• การคิดวิพากษ์ (Critical Thinking)
• ความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบ (Creativity and Design)
• การเขียนอย่างสร้างสรรค์ (Creative Writing)
• ทักษะการสื่อสาร (Communication Skills)
• การถ่ายทำภาพยนตร์สารคดี (Documentary Making)
• ศิลปะการแสดง (Performing Art)
• การรณรงค์สื่อสารทางสังคม (Social Campaigning)
• การทดลองเชิงพฤติกรรม (Behavioral Experiment)
• การพูดในที่สาธารณะ (Public Speaking)
(3) วงเสวนา (Seminar)
เป็นการเรียนรู้เรื่องผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงในโลกต่อสังคมไทย การรับมือและการปรับตัวของสังคมไทย ในมิติต่างๆ ผ่านวงเสวนา ซึ่งประกอบด้วยวิทยากรหลากหลายวงการมาร่วมแลกเปลี่ยนถกเถียงกัน
ตัวอย่างหัวข้อ เช่น
• อนาคตการเมืองไทย (The Future of Thai Politics)
• อนาคตเศรษฐกิจไทย (The Future of Thai Economy)
• อนาคตการเมืองภาคประชาชนไทย (The Future of Thai Social Movement)
(4) วงสนทนา (Dinner Talk)
เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงของวิทยากรที่น่าสนใจในวงการต่างๆ เช่นสื่อมวลชน นักธุรกิจ เอ็นจีโอ ผู้กำหนดนโยบาย นักวิชาการ ผ่านการพูดคุยสนทนากันแบบกึ่งทางการในช่วงรับประทานอาหารเย็นของทุกวัน
(5) วงเดินทาง (Trip)
เป็นการเรียนรู้ผ่านการศึกษาดูงานในพื้นที่จริง ตัวอย่างหัวข้อ เช่น
• เทคโนโลยี นวัตกรรม และผู้ประกอบการยุคใหม่ (Technology, Innovation and New Entrepreneurship)
• เส้นทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม (Historical and Cultural Journey)
3. วิทยากร
กตัญญู สว่างศรี | เกรียงไกร วชิรธรรมพร | จันจิรา สมบัติพูนศิริ | ณฐพล บุญประกอบ | ธานี ชัยวัฒน์ | นำชัย ชีววิวรรธน์ | บรรยง พงษ์พานิช | ปกป้อง จันวิทย์ | ประจักษ์ ก้องกีรติ | พฤหัส พหลกุลบุตร | วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง | วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ | วีรพร นิติประภา |สมชาย ปรีชาศิลปกุล | สมบัติ บุญงามอนงค์ | สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ | สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ | สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ | สฤณี อาชวานันทกุล | Kevin Kühnert | Stine Klapper | B-floor | Eyedropper Fill | ฯลฯ |
4. การรับสมัคร
• คุณสมบัติผู้สมัคร
(1) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ถึงนักศึกษาระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 4 (อายุประมาณ 17-23 ปี) ทุกโรงเรียน ทุกคณะ ทุกมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ
นักศึกษาที่เพิ่งจบชั้นปีที่ 4 ในภาค 2/2560 สามารถสมัครได้
(2) ผู้สมัครต้องสามารถเข้าร่วมกิจกรรมของโรงเรียนได้ทุกวันตลอดหลักสูตร (สองสัปดาห์เต็ม) โดยพักอาศัยร่วมกันในที่พักที่โครงการจัดหาให้ (โรงแรมใกล้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์)
(3) มีความรับผิดชอบในการส่งผลงานเดี่ยวและผลงานกลุ่มตามที่โครงการกำหนด
• กระบวนการรับสมัคร
สำหรับช่องทางการเปิดรับสมัครทั่วประเทศ ให้ผู้สนใจสมัครเข้าร่วมโดย
(1) ส่งผลงานในรูปแบบใดก็ได้ (บทความ | หนังสั้น | สิ่งประดิษฐ์ | งานออกแบบ | ฯลฯ) ที่สะท้อนมุมมองเกี่ยวกับภาพอนาคตที่ควรจะเป็นของประเทศไทย
(2) ข้อเขียน (หรือสื่ออื่น) ที่เล่าเหตุผลที่อยากเข้าร่วมโรงเรียนอนาคต และการวางบทบาทของตัวผู้สมัครในการมีส่วนร่วมสร้างอนาคตที่ตัวเองอยากให้เป็นในสังคมไทย
(3) ประวัติส่วนตัวและผลงานในอดีต
(4) เบอร์โทรศัพท์และอีเมลสำหรับติดต่อกลับ (กรณีได้รับคัดเลือก)
• จำนวนผู้เข้าร่วม
ประมาณ 32-40 คน
• กำหนดการรับสมัครและประกาศผล
รับสมัครวันที่ 15-31 พฤษภาคม 2561 ทางอีเมล [email protected]
ประกาศผลภายในวันที่ 15 มิถุนายน 2561 (แจ้งผลทางอีเมล ทั้งผู้ได้รับคัดเลือกและผู้ที่อยู่ในบัญชีเพิ่มเติมกรณีมีผู้สละสิทธิ์)
5. ผลงานจากผู้เข้าร่วม “โรงเรียนอนาคต”
หลังสิ้นสุดการเรียน ผู้เข้าร่วม “โรงเรียนอนาคต” ต้องนำส่งผลงาน 2 ชิ้น
(1) ผลงานกลุ่ม กลุ่มละ 4-5 คน โดยจัดทำข้อเสนอการสร้างอนาคตประเทศไทยในหัวข้อเฉพาะที่เลือก และนำเสนอต่อผู้เข้าร่วมโครงการในตอนท้ายโครงการ
(2) ผลงานเดี่ยว โดยสร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบใดก็ได้ ในหัวข้อใดก็ได้ ภายใต้ธีมของโครงการ ภายในเวลา 2 เดือนหลังจากสิ้นสุดโครงการ (ภายในเดือนกันยายน 2561) ทั้งนี้ โครงการจะจัดให้มีการแสดงผลงานต่อสาธารณะต่อไป (ภายในสิ้นปี 2561)
6. ช่วงเวลาเปิดเรียน
วันที่ 8-22 กรกฎาคม 2561 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมโครงการต้องเข้าร่วมตลอดระยะเวลาดังกล่าว โดยพักอาศัยร่วมกันในที่พักที่โครงการจัดหาให้
7. เครือข่ายผู้สร้างสรรค์ “โรงเรียนแห่งอนาคต”
“โรงเรียนแห่งอนาคต” เป็นความร่วมมือระหว่างมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท, บริษัท ดิวันโอวัน เปอร์เซนต์ จำกัด, ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ที่ปรึกษา : พิภพ อุดร Stine Klapper
ผู้อำนวยการ “โรงเรียนอนาคต” : ปกป้อง จันวิทย์ ประจักษ์ ก้องกีรติ
หัวหน้าทีมอำนวยการเรียนรู้ : พฤหัส พหลกุลบุตร
วิทยากรกระบวนการ : พฤหัส พหลกุลบุตร ฐิตินบ โกมลนิมิ ธวัช มณีผ่อง ศิริพร ฉายเพ็ชร
ผู้ประสานงาน : ปิยะกัลย์ สินประเสริฐ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ [email protected]